حديث رقم 27 - فضل العبادة والقيام في ليلة القدر
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ
หะดีษบทที่ 27
คุณค่าของการทำอิบาดะฮฺในคืนลัยละตุลก็อดรฺ
عَنْ أَبِي هُرَيْرَةَ رَضِيَ اللهُ عَنْهُ عَنِ النَّبِيِّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ قَالَ : «مَنْ قَامَ لَيْلَةَ الْقَدْرِ إِيمَانًا وَاحْتِسَابًا غُفِرَ لَهُ مَا تَقَدَّمَ مِنْ ذَنْبِهِ». (البخاري رقم 1768، مسلم رقم 1268)
ความว่า จากท่าน อบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุ เล่าจากท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ท่านได้กล่าวว่า “ผู้ใดที่ลุกขึ้น(ละหมาดกลางคืนและประกอบอิบาดะฮฺอื่นๆ)ในคืนลัยละตุลก็อดรฺ ด้วยเปี่ยมศรัทธาและความหวังในความโปรดปรานของอัลลอฮฺ เขาจะได้รับการอภัยโทษจากความผิดบาปที่ผ่านมาของเขา” (รายงานโดย อัล-บุคอรีย์ หมายเลข 1768 และมุสลิม หมายเลข 1268)
คำอธิบาย
อุละมาอ์บางท่านกล่าวว่า เหตุที่ตั้งชื่อว่าเป็นคืน อัล-ก็อดรฺ เพราะว่าในคืนนั้นบรรดามะลาอิกะฮฺจะเขียนเกาะดัรฺ(สิ่งที่อัลลอฮฺกำหนด)ต่างๆ ไม่ว่าสิ่งที่เกี่ยวกับริสกี(ปัจจัยและโชคลาภ) รวมถึงอะญัล(อายุขัย)ของมวลมนุษย์ในปีนั้นๆ
บางท่านกล่าวว่า เนื่องจากสถานภาพและความทรงเกียรติของค่ำคืนลัยละตุลก็อดรฺ
และบรรดาอุละมาอ์มีมติเป็นเอกฉันท์ว่าค่ำคืนลัยละตุลก็อดรฺจะปรากฏตลอดไปจนถึงวันกิยามะฮฺ
ท่าน อัล-กอฎีย์ อิยาฎ กล่าวว่า บรรดาอุละมาอ์มีทัศนะที่ไม่สอดคล้องกันเกี่ยวกับค่ำคืน ลัยละตุลก็อดรฺ บางท่านมีทัศนะว่า ค่ำคืนดังกล่าวจะมีการเปลี่ยนแปลงในเดือนเราะมะฎอน จากปีหนึ่งไปยังอีกปีหนึ่ง (หมายถึงมีการเลื่อนและไม่ตรงกันทุกปี)
บทเรียนจากหะดีษ
1. กล่าวถึงความประเสริฐของผู้ที่ประกอบอะมัลอิบาดะฮฺในค่ำคืนลัยละตุลก็อดรฺ
2. ส่งเสริมให้มีการกิยาม (การละหมาดกลางคืนและการประกอบอิบาดะฮฺต่างๆ) ในค่ำคืนลัยละตุลก็อดรฺ
3. การปฏิบัติกิยามในค่ำคืนลัยละตุลก็อดรฺต้องกระทำเพื่อสนองตามคำสั่งของอัลลอฮฺเท่านั้น และมีความเชื่อมั่นในสัญญาผลตอบแทนที่จะได้รับ และต้องปราศจากการโอ้อวดอื่นๆ
4. ผลตอบแทนสำหรับผู้ที่ประกอบอิบาดะฮฺตรงกับคืนลัยละตุลก็อดรฺ ก็คือ จะได้รับการอภัยโทษในบาปทั้งหลายที่ผ่านมา และผลบุญอื่นๆ