من أركان الإيمان : الإيمان بالكتب
การศรัทธาต่อบรรดาคัมภีร์ คือการเชื่ออย่างแน่วแน่และสัตย์จริงว่าอัลลอฮฺ ได้ทรงประทานบรรดาคัมภีร์ลงมา แก่บรรดานบี และรอซูลของพระองค ์เพื่อเป็นทางนำแก่ปวงบ่าวทั้งหลายและเชื่อว่าคัมภีร์เหล่านี้เป็นดำรัสของพระองค์จริง และเนื้อหาในคัมภีร์เหล่านี้เป็นความจริง ในบรรดาคัมภีร์บางเล่มอัลลอฮฺได้กล่าวชื่อในอัลกุรอานและในบรรดาคัมภีร์เหล่านี้ก็มีที่ไม่รู้จักชื่อ และไม่รู้จำนวนนอกจากพระองค์อัลลอฮฺผู้เดียวเท่านั้น
บรรดาคัมภีร์ที่มีกล่าวในอัลกุรอาน
อัลลอฮฺได้ทรงชี้แจงในอัลกุรอานว่าพระองค์ทรงได้ประทานบรรดาคัมภีร์ต่างๆ ซึ่งมีดังต่อไปนี้
1. ศุหุฟ อิบรอฮีม อะลัยฮิสสลาม
2. อัต-เตารอฮฺ คัมภีร์ที่พระองค์อัลลอฮฺได้ทรงประทานลงมาแก่นบีมูซา อะลัยฮิสสลาม
3. อัซ-ซาบูร คัมภีร์ที่พระองค์อัลลอฮฺได้ทรงประทานลงมาแก่นบีดาวูด อะลัยฮิสสลาม
4. อัล-อินญีล คัมภีร์ที่พระองค์อัลลอฮฺได้ทรงประทานลงมาแก่นบีอีซา อะลัยฮิสสลาม
5. อัลกุรอาน คัมภีร์ที่พระองค์อัลลอฮฺได้ประทานลงมาแก่นบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม
การศรัทธาและปฏิบัติตามคัมภีร์ต่างๆ ก่อนหน้าอัลกุรอาน
- เราศรัทธาว่าอัลลอฮฺเป็นผู้ประทานคัมภีร์เหล่านี้ และเราเชื่ออย่างสัตย์จริงในความถูกต้องของรายละเอียดและเนื้อหาที่มีอยู่ในคัมภีร์เหล่านี้เหมือนกับความถูกต้อง ของรายละเอียดและเนื้อหาที่มีอยู่ในอัลกุรอาน และเราเชื่อในเนื้อหาที่มีอยู่ในคัมภีร์เหล่านี้ เฉพาะที่ไม่ได้รับการแก้ไขและเปลี่ยนแปลง และเราพร้อมนำบทบัญญัติต่างๆ ที่ยังไม่ได้ยกเลิกไปปฏิบัติด้วยความน้อมรับและเต็มใจ และบรรดาคัมภีร์ที่มาจากฟากฟ้าที่เราไม่รู้ชื่อเราจะศรัทธาโดยภาพรวม
- บรรดาคัมภีร์ต่างๆก่อนหน้านี้ เช่น อัต-เตารอฮฺ อัล-อินญีล อัซ-ซาบูร และคัมภีร์อื่นๆ ถูกยกเลิกไปแล้วด้วยคัมภีร์อัลกุรอานมหาบริสุทธิ์ยิ่งแด่อัลลอฮฺผู้ที่ได้ตรัสว่า
وَأَنْزَلْنَا إِلَيْكَ الْكِتَابَ بِالْحَقِّ مُصَدِّقًا لِمَا بَيْنَ يَدَيْهِ مِنَ الْكِتَابِ وَمُهَيْمِنًا عَلَيْهِ فَاحْكُمْ بَيْنَهُمْ بِمَا أَنْزَلَ اللَّهُ وَلا تَتَّبِعْ أَهْوَاءَهُمْ عَمَّا جَاءَكَ مِنَ الْحَقِّ
ความว่า “และเราได้ให้คัมภีร์ลงมาแก่เจ้าด้วยความจริงในฐานะเป็นที่ยืนยันคัมภีร์ที่อยู่ก่อนหน้ามันและเป็นที่ควบคุมคัมภีร์ (ก่อนหน้า)นั้น ดังนั้น เจ้าจงตัดสินระหว่างพวกเขาด้วยสิ่งที่อัลลอฮฺทรงประทานลงมาเถิด และจงอย่าปฏิบัติตามความใคร่ต่ำของพวกเขาโดยเขาออกจากความจริงที่ได้มายังเจ้า” (อัล-มาอิดะฮฺ : 48)
- คัมภีร์ที่อยู่ในความครอบครองของอะฮฺลุลกิตาบ (ชาวคัมภีร์ ซึ่งหมายถึงชาวยิวและชาวคริสต์) ที่ชื่อว่าอัต-เตารอฮฺ(โทราห์)และอัล-อินญีล(ไบเบิล)ในปัจจุบันเป็นการไม่ถูกต้องที่จะอ้างว่าเป็นคัมภีร์ที่ถูกประทาน แก่บรรดานบีและรอซูลของอัลลอฮฺ เพราะคัมภีร์ดังกล่าวนี้ได้มีการเปลี่ยนแปลงและแก้ไขมาแล้ว ตัวอย่างเช่นการยกสถานะของนบีว่าเป็นลูกของพระเจ้าหรือการยกฐานะของนบีอีซาบุตรของมัรยัมว่าเป็นพระเจ้า การให้คุณสมบัติของอัลลอฮฺผู้ทรงสร้างที่ไม่เหมาะสมตามสถานะความเป็นจริงของพระเจ้า การให้ร้ายแก่บรรดานบีของอัลลอฮฺ เป็นต้นทั้งหมดที่กล่าวมานี้ควรแก่การโต้แย้งและไม่ควรเชื่อและศรัทธา เว้นเสียแต่สิ่งที่มีอยู่ในอัลกุรอานและหะดีษเท่านั้น
- ถ้าหากอะฮฺลุลกิตาบ (บรรดาชาวคัมภีร์) ได้รายงานแก่พวกเรา พวกเราจะไม่เชื่อพวกเขาและจะไม่กล่าวโกหก แต่เรากล่าวว่า “เราศรัทธามั่นในอัลลอฮฺ ศรัทธาต่อคัมภีร์ต่างๆ และบรรดารอซูลของพระองค์” ถ้าคำพูดที่พวกเขาได้กล่าวมาเป็นสัตย์จริงเราก็จะได้ไม่กล่าวหาว่าพวกเขาโกหกและถ้าคำพูดที่พวกเขาได้กล่าวมานั้น เป็นคำโกหก คำพูดของเราดังกล่าวก็จะได้ไม่เป็นการยืนยันว่ามันเป็นสิ่งที่ถูกต้อง
การศรัทธาและปฏิบัติตามอัลกุรอาน
อัลกุรอานเป็นพระมหาคัมภีร์ที่อัลลอฮฺทรงประทานแก่นบีคนสุดท้ายและนบีที่ประเสริฐที่สุด นั่นคือท่านนบี มุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม เป็นคัมภีร์ที่มาจากฟากฟ้าเล่มสุดท้าย เป็นคัมภีร์ที่ประเสริฐและยิ่งใหญ่ที่สุด สมบูรณ์ที่สุดซึ่งเป็นคัมภีร์ที่อัลลอฮฺทรงประทานลงมาเพื่อชี้แจงรายละเอียดทุกอย่าง และเป็นคัมภีร์ที่เป็นทางนำและเป็นความโปรดปรานแก่สรรพสิ่งในจักรวาลทั้งมวล
อัลกุรอานเป็นคัมภีร์ที่ดีที่สุด ที่นำลงมาโดยมลาอิกะฮฺที่ประเสริฐที่สุด นั่นคือ มลาอิกะฮฺญีบรีลได้ถูกประทานลงมายังนบีมุหัมมัดผู้ที่ประเสริฐที่สุดในบรรดาสิ่งถูกสร้างทั้งหลาย และได้ลงมายังประชาชาติที่ดีที่สุด ด้วยภาษาที่ดีที่สุดนั่นคือภาษาอาหรับทุกคนวาญิบที่จะต้องศรัทธาในอัลกุรอานและปฏิบัติตามบัญญัติต่างๆ ที่มีอยู่ในอัลกุรอานและประพฤติตนตามคำสอนของอัลกุรอานอัลลอฮฺจะไม่ทรงรับการกระทำใดๆ ที่ไม่ได้เป็นคำสอนที่มาจากอัลกุรอาน หลังจากที่อัลกุรอานได้ถูกประทานลงมาอัลลอฮฺจะปกปักษ์รักษาอัลกุรอานด้วยพระองค์เอง
อัลกุรอานจะปลอดจากการเปลี่ยนแปลงและการแก้ไขใดๆและปลอดจากการเพิ่มเติมและความบกพร่องทุกประการ
1. อัลลอฮฺได้ตรัสในอัลกุรอานว่า
إِنَّا نَحْنُ نَزَّلْنَا الذِّكْرَ وَإِنَّا لَهُ لَحَافِظُونَ ( سورة الحجر: آية 9 )
ความว่า “แท้จริงเราได้ให้ข้อตักเตือน(อัลกุรอาน)ลงมาและแท้จริงเราเป็นผู้รักษามันอย่างแน่นอน” (อัล-หิจญ์รุ : 9)
2. และอัลลอฮฺได้ตรัสในอัลกุรอานอีกว่า
وَإِنَّهُ لَتَنْزِيلُ رَبِّ الْعَالَمِينَ، نَزَلَ بِهِ الرُّوحُ الأمِينُ، عَلَى قَلْبِكَ لِتَكُونَ مِنَ الْمُنْذِرِينَ، بِلِسَانٍ عَرَبِيٍّ مُبِينٍ (الشعراء : 192-195)
ความว่า และแท้จริงมัน เป็นการประทานลงมาของพระเจ้าแห่งสากลโลก อัร-รูหฺ(มลาอิกะฮฺ)ผู้ซื่อสัตย์ได้นำมามันลงมายังหัวใจของเจ้า เพื่อเจ้าจักได้เป็นผู้ตักเตือนคนหนึ่ง เป็นภาษาอาหรับอันชัดแจ้งยิ่ง (อัช-ชุอะรออ์ : 192-195)
นัยยะความหมายของโองการต่างๆ ในอัลกุรอาน
โองการต่างๆ ของอัลกุรอานได้อธิบายเกี่ยวกับทุกสิ่งทุกอย่าง ซึ่งแบ่งเป็นการอธิบายด้วยวิธีการบอกเล่า(อัล-เคาะบัรالخبر ) หรืออธิบายด้วยการขอและการเรียกร้อง (อัฏ-เฏาะลับ الطلب)
การอธิบายด้วยการกล่าวหรือการบอกเล่า (อัล-เคาะบัร)แบ่งออกเป็น 2 ประเภท
1. การกล่าวหรือบอกเล่าถึงผู้สร้าง ชื่อ คุณลักษณะ การงาน คำพูด นั่นคือ การกล่าวหรือการบอกถึงอัลลอฮฺพระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่
2. การกล่าวหรือการบอกถึงสิ่งถูกสร้าง อาทิเช่น การกล่าวถึงฟากฟ้าและแผ่นดิน บัลลังก์ มนุษย์และสิงสาราสัตย์ สิ่งไร้ชีวิตและบรรดาพืชไม้ต่างๆ สวนสวรรค์และไฟนรก การบอกเล่าถึงบรรดานบีและรอซูลของอัลลอฮฺ บรรดาสาวกของนบีและรอซูล และการกล่าวศัตรูของพวกเขาและผลตอบแทนของสองฝ่ายดังกล่าว เป็นต้น
การอธิบายด้วยการขอ(อัฏ-เฏาะลับ) แบ่งออกเป็น 2 ประเภท
1. การขอด้วยการออกคำสั่งให้อิบาดะฮฺต่ออัลลอฮฺเพียงผู้เดียว การภักดีต่ออัลลอฮฺและรอซูลของพระองค์ และการปฏิบัติในกิจการงานต่างๆ เช่น การละหมาด การถือศีลอด และอื่นๆ ที่เป็นคำสั่งของอัลลอฮฺ
2. การขอด้วยการสั่งห้ามการตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺ และห้ามในสิ่งที่อัลลอฮฺได้กำหนดให้เป็นสิ่งที่หะรอมต่างๆดังเช่น ดอกเบี้ย สิ่งชั่วร้าย และเลวทรามต่างๆ และอื่นๆ ที่พระองค์ทรงห้ามไว้