تدبر لا تفسير

مقالات البطاقة التعريفية
العنوان: تدبر لا تفسير
اللغة: تايلندي
نبذة مختصرة: تدبر لا تفسير، مقالة تحث على تدبر القرآن الكريم، وأنه يختلف عن التفسير، وأن فهم القرآن على نوعين: فهم ذهني معرفي، وفهم قلبي إيماني، والثاني هو الغاية وأما الأول فهو وسيلة، وعلى الإنسان ألا يفوته عظيم النفع والأجر من التدبر، فهو مفتاح حياة القلب.
تأريخ الإضافة: 2012-07-12
الرابط المختصر: http://IslamHouse.com/396690
:: هذا العنوان مصنف موضوعياً ضمن التصانيف الآتية ::
- هذه البطاقة مترجمة باللغات التالية: تايلندي
المرفقات ( 2 )
1.
ตะดับบุรฺ ไม่ใช่การตัฟซีรฺ
217.4 KB
فتح: ตะดับบุรฺ ไม่ใช่การตัฟซีรฺ.pdf
2.
ตะดับบุรฺ ไม่ใช่การตัฟซีรฺ
2 MB
فتح: ตะดับบุรฺ ไม่ใช่การตัฟซีรฺ.doc
نبذة موسعة

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ

 

ตะดับบุรฺ ไม่ใช่การตัฟซีรฺ

ปัจจุบันนี้มีการพูดถึงอย่างมากมายเกี่ยวกับการตะดับบุรฺ หรือการใคร่ครวญอัลกุรอาน ซึ่งไม่มีผู้ใดเห็นแย้งกันในประเด็นความสำคัญ ความประเสริฐ และผลอันยิ่งใหญ่ของมันต่อหัวใจของเรา แต่คนส่วนใหญ่จะหยุดพูดถึงการตะดับบุรฺเพียงแค่นี้ คือแค่รับรู้ว่ามันสำคัญและดีอย่างไร เพราะตัวเองรู้สึกว่ามีช่องว่างและระยะห่างที่ไกลมากระหว่างตัวเขากับ การตะดับบุรฺในเชิงปฏิบัติ หรือการได้สัมผัสกับผลของการ ตะดับบุรฺจริงๆ เนื่องจากคิดไปว่าจำเป็นต้องมีความรู้ในวิชาตัฟซีรฺ ก่อนที่จะลงมือตะดับบุรฺอายะฮฺใดอายะฮฺหนึ่งที่เขาสนใจ บางทีอาจจะถึงขั้นจินตนาการไปว่าไม่อนุญาตให้ยุ่งเกี่ยวกับการตะดับบุรฺได้ จนกว่าจะต้องอยู่ในระดับนักตัฟซีรฺผู้เชี่ยวชาญที่มีคนยอมรับเสียก่อน

ขอสาบานด้วยอัลลอฮฺ คนตั้งมากเท่าใดแล้วที่อดสัมผัสอรรถรสแห่งการตะดับบุรฺและความหวานชื่นในการใคร่ครวญคัมภีร์อันยิ่งใหญ่ เพียงเพราะการคาคคิดไปเองเช่นนี้ และมีคนตั้งมากเท่าใดแล้ว ที่ต้องพลาดสิ่งที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตไปเพราะเหตุดังกล่าว

ไม่เป็นที่สงสัยว่า ข้ออ้างที่เป็นเหตุให้พวกเขาไม่กล้าเข้าใกล้การตะดับบุรฺนั้นเป็นสิ่งที่ดี นั่นคือเพราะเกรงว่าจะไปกล่าวอ้างถึงอัลลอฮฺโดยที่ตัวเองรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แต่สิ่งที่เป็นคำถามก็คือ การคิดเช่นนี้ในบริบทนี้และการใช้มันในแง่ดังกล่าวเป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ ? คำตอบก็คือ ข้อเท็จจริงไม่ได้เป็นอย่างที่พวกเขาคาดคิด เพราะการตะดับบุรฺมีขอบเขตที่กว้างกว่ากรอบของการตัฟซีรฺ ทั้งนี้เพราะการเข้าใจอัลกุรอานนั้นมีสองประเภท คือ

1.      การเข้าใจเชิงปัญญาและวิชาการ (ซิฮฺนีย์ มะอฺริฟีย์)

2.      การเข้าใจเชิงจิตวิญญาณและความศรัทธา (ก็อลบีย์ อีมานีย์)

ประเภทที่หนึ่ง คือ การอธิบายคำศัพท์ยากๆ การสรุปข้อบัญญัติต่างๆ ที่ได้รับ รวมถึงแง่มุมการประมวลหลักฐานในด้านต่างๆ ซึ่งเป็นหน้าที่ของบรรดาผู้รู้ในระดับต่างๆ ที่มีความสามารถและมีความรู้เกี่ยวกับการตัฟซีรฺเท่าที่อัลลอฮฺได้ประทานให้พวกเขาเหล่านั้นรู้และเข้าใจ

ซึ่งนี่ไม่ใช่สิ่งที่เราหมายถึง ณ ที่นี้ สิ่งที่เราต้องการก็คือประเภทที่สอง นั่นคือการเข้าใจในเชิงจิตวิญญาณและการศรัทธา ที่เกิดมาจากการเพ่งพินิจใคร่ครวญอัลกุรอาน ทุกครั้งที่ผู้อ่านอัลกุรอานผ่านอายะฮฺใดอายะฮฺหนึ่ง เข้าใจความหมายของมัน เข้าใจสิ่งที่มันหมายถึง โดยไม่ต้องกลับไปดูตำราตัฟซีรฺ โดยที่เขาสามารถหยุดพิจารณาอายะฮฺนั้น แล้วทำให้หัวใจของเขาสั่นไหว เอาตัวเองและอะมัลของตัวเองไปเทียบดู ถ้าผลออกมาว่าเขาเป็นดังที่อายะฮฺนั้นหมายถึงเขาก็จะขอบคุณ
อัลลอฮฺ แต่ถ้าไม่เป็นเช่นนั้นเขาก็จะสำรวจตนและตำหนิตัวเอง

การเข้าใจประเภทที่สองนี่แหละ คือเป้าหมายสูงสุด ส่วนการเข้าใจประเภทที่หนึ่งนั้นเป็นเพียงสื่อหรือเครื่องมือที่จะพาไปสู่เป้าหมายเท่านั้นเอง

อัล-หะสัน อัล-บัศรีย์ กล่าวว่า ความรู้มีสองประการ คือ ความรู้ในหัวใจซึ่งเป็นความรู้ที่ให้ประโยชน์ และความรู้ที่ลิ้น อันหลังนี้คือความรู้ซึ่งเป็นหลักฐานหรือข้ออ้างของอัลลอฮฺเหนือบ่าวทั้งปวง

ขอยกตัวอย่างดังนี้ ลองพิจารณาอายะฮฺสุดท้ายใน สูเราะฮฺ อัน-นะบะอ์ ที่อัลลอฮฺตรัสว่า

(إِنَّا أَنذَرْنَاكُمْ عَذَاباً قَرِيباً يَوْمَ يَنظُرُ الْمَرْءُ مَا قَدَّمَتْ يَدَاهُ وَيَقُولُ الْكَافِرُ يَا لَيْتَنِي كُنتُ تُرَاباً) (النبأ : 40 )

ความว่า “แท้จริง เราได้แจ้งเตือนพวกเจ้าถึงการลงโทษที่ใหญ่หลวง วันที่คนผู้หนึ่งมองไปยังสิ่งที่มือของเขาได้กระทำไว้ และคนกาฟิรฺก็จะกล่าวว่า โอ้ ถ้าตัวฉันเป็นแค่ฝุ่นดินเสียก็ดี(จะได้ไม่ต้องรับโทษ)” (อัน-นะบะอ์ 40)

ในการที่จะทำความเข้าใจและใคร่ครวญอายะฮฺดังกล่าวนี้ ถามว่าเรามีจำเป็นแค่ไหนที่ต้องกลับไปดูตัฟซีรฺ ?

ไม่เลย สิ่งที่จำเป็นก็คือ แค่เราหยุดชั่วครู่ เพื่ออยู่กับภาพที่น่าสะพรึงกลัวนี้ แล้วทบทวนบัญชีของตัวเองกับวัน
อาคิเราะฮฺที่ใกล้เข้ามาทุกทีว่า ฉันเตรียมอะไรบ้างแล้ว ? ถ้าหากว่าจะมีการตรวจสอบบัญชีการงานความดีความชั่ว ณ ตอนนี้ ฉันหวังอยากจะเป็นอะไร ? แล้วเหตุใดที่คนกาฟิรฺถึงได้หวังอยากจะเป็นดินฝุ่นเล่า ?

ข้าพเจ้าคิดว่าคำตอบสำหรับคำถามเช่นที่กล่าวมานี้ คงพอที่จะให้เราบรรลุถึงจุดประสงค์ของการตะดับบุรฺได้แล้ว และนี่คือสิ่งที่หมายถึงจากประเภทของการเข้าใจที่เราบอกว่า เข้าใจในเชิงจิตวิญญาณและการศรัทธา

ใครก็ตามที่พินิจใคร่ครวญอัลกุรอาน เขาก็จะพบว่า ประเด็นหลักๆ ในอัลกุรอานนั้นชัดเจนมาก ซึ่งคนทั่วไปที่เข้าใจภาษาอาหรับสามารถจะเข้าใจมันได้เลย เช่น ประเด็นเรื่องเตาฮีด วันอาคิเราะฮฺ ผลตอบแทนที่ดีและชั่ว ความน่าสะพรึงกลัวของมัน หลักพื้นฐานของมารยาทอันดีงามและมารยาทที่ชั่วช้า

จากที่ประสบมากับคนทั่วๆ ไปบางคนที่ข้าพเจ้าเห็น ข้าพเจ้ากล้ายืนยันว่า ถ้าใครคนหนึ่งใช้ความคิดของเขาสักนิด ไม่ว่าเขาจะมีระดับความรู้แค่ไหนก็ตาม แค่คิดในเรื่องเหล่านี้เพียงนิดเดียวเขาก็จะได้รับผลลัพธ์อันดีงามที่ยิ่งใหญ่มากมายทีเดียว

ครั้งหนึ่ง มีชาวบ้านธรรมดาๆ แถวบ้านของเราคนหนึ่ง ฟังอิมามอ่านอายะฮฺในสูเราะฮฺ อัล-อะห์ซาบ ที่ว่า

(وَإِذْ أَخَذْنَا مِنَ النَّبِيِّينَ مِيثَاقَهُمْ وَمِنكَ وَمِن نُّوحٍ وَإِبْرَاهِيمَ وَمُوسَى وَعِيسَى ابْنِ مَرْيَمَ وَأَخَذْنَا مِنْهُم مِّيثَاقاً غَلِيظاً  لِيَسْأَلَ الصَّادِقِينَ عَن صِدْقِهِمْ وَأَعَدَّ لِلْكَافِرِينَ عَذَاباً أَلِيماً) (الأحزاب : 7-8)

ความว่า “และจงรำลึกถึง ขณะที่เราได้เอาคำมั่นสัญญาจากบรรดานบี และจากเจ้า(มุหัมมัด) และจากนูหฺ อิบรอฮีม มูซา และอีซาบุตรของมัรยัม และเราได้เอาคำมั่นสัญญาอย่างหนักแน่นจากพวกเขา เพื่อพระองค์จะทรงสอบถามบรรดาผู้สัจจริง เกี่ยวกับความสัจจริงของพวกเขา และพระองค์ทรงเตรียมการลงโทษอันเจ็บปวดไว้แก่บรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธา” (อัล-อะห์ซาบ 7-8)

แค่ได้ยินดังกล่าว พอละหมาดเสร็จเขาก็ลุกขึ้นอย่างลุกลี้ลุกลนเพื่อพูดกับบรรดาคนที่มาละหมาดว่า “โอ้ พรรคพวกทั้งหลาย จงเกรงกลัวอัลลอฮฺเถิด บรรดาศาสนทูตของอัลลอฮฺที่มีสถานะประเสริฐยิ่งเหล่านี้ยังต้องถูกถามถึงความสัจจริงของพวกเขา แล้วนับประสาอะไรกับพวกเราเล่า?” จากนั้นเขาก็ร้องไห้และเป็นเหตุให้คนอื่นร้องไห้ตามไปด้วย ขออัลลอฮฺทรงเมตตาเขาด้วยเถิด

ใครก็ตามที่อัลลอฮฺประทานให้เขาได้ตะดับบุรฺ ได้ใช้ชีวิตอยู่กับอัลกุรอาน แน่นอน แสดงว่าเขาได้ยึดกับกุญแจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับการมีชีวิตชีวาของหัวใจ เหมือนที่
อิบนุลก็อยยิมได้กล่าวว่า “การตะดับบุรฺ คือ กุญแจแห่งการมีชีวิตของหัวใจ” และเขาก็จะพบว่าการมีชีวิตสาละวนอยู่กับอัลกุรอานย่อมไม่มีสิ่งใดที่จะเทียบเท่าได้อีก อัลลอฮฺไม่ได้ตรัสแก่ท่านนบีของพระองค์ดอกหรือว่า

﴿ مَآ أَنزَلۡنَا عَلَيۡكَ ٱلۡقُرۡءَانَ لِتَشۡقَىٰٓ﴾ (طه: 2) 

ความว่า “เราหาได้ประทานอัลกุรอานลงมาแก่เจ้าเพื่อให้เจ้าต้องทุกข์แต่อย่างใดไม่” (ฏอฮา 2)

ไม่เลย ขอสาบานด้วยอัลลอฮฺ พระองค์ไม่ได้ทำให้อัลกุรอานเป็นสิ่งที่ก่อทุกข์ แต่ทรงทำให้มันเป็นความเมตตา เป็นแสงสว่าง เป็นหลักฐานชี้ทางสู่สวรรค์ เช่นที่เกาะตาดะฮฺได้กล่าวว่า “ฉันขอวิงวอนต่ออัลลอฮฺ ให้ทรงเปิดหัวใจของฉัน และหัวใจของท่าน เพื่อให้ได้เข้าใจอัลกุรอานของพระองค์ ได้ใคร่ครวญมันอย่างถูกต้องตามที่ทรงโปรดปรานแก่เรา”

وصلى الله وسلم على سيدنا ونبينا محمد وعلى آله وصحبه أجمعين.

 

ที่มา : //islamtoday.net/bohooth/artshow-86-6335.htm

Go to the Top