النهي عن الصيام في النصف الثاني من شعبان

فتاوى البطاقة التعريفية
العنوان: النهي عن الصيام في النصف الثاني من شعبان
اللغة: تايلندي
نبذة مختصرة: هل يجوز الصيام بعد نصف شعبان ؟ لأنني سمعت أن النبي صلى الله عليه وسلم نهى عن الصيام بعد نصف شعبان ؟. سؤال أجيب عليه في موقع الإسلام سؤال وجواب
تأريخ الإضافة: 2010-07-29
الرابط المختصر: http://IslamHouse.com/318436
:: هذا العنوان مصنف موضوعياً ضمن التصانيف الآتية ::
- هذه البطاقة مترجمة باللغات التالية: تايلندي
المرفقات ( 2 )
1.
การห้ามไม่ให้ถือศีลอดครึ่งหลังของเดือนชะอฺบาน
479 KB
فتح: การห้ามไม่ให้ถือศีลอดครึ่งหลังของเดือนชะอฺบาน.doc
2.
การห้ามไม่ให้ถือศีลอดครึ่งหลังของเดือนชะอฺบาน
193.4 KB
فتح: การห้ามไม่ให้ถือศีลอดครึ่งหลังของเดือนชะอฺบาน.pdf
نبذة موسعة

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ

 

 

การห้ามไม่ให้ถือศีลอดครึ่งหลังของเดือนชะอฺบาน

 

ถาม อนุญาตให้ถือศีลอดสิบห้าวันสุดท้ายของเดือนชะอฺบานหรือไม่ ? เพราะแท้จริงฉันได้ฟังว่าท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ห้ามไม่ให้ถือศีลอดในช่วงครึ่งหลังของเดือนชะอฺบาน ?

 

ตอบ อัลหัมดุลิลลาฮฺ

ได้มีบันทึกโดยอบู ดาวูด (หมายเลข 3237) อัต-ติรมิซีย์ (หมายเลข 738) อิบนุ มาญะฮฺ (หมายเลข 1651) จากอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่าท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

«إِذَا انْتَصَفَ شَعْبَانُ فَلا تَصُومُوا»

ความว่า “เมื่อชะอฺบานได้ถึงครึ่งเดือน พวกเจ้าก็จงอย่าถือศีลอด” (อัล-อัลบานีย์ วินิจฉัยว่าเศาะฮีหฺ ใน เศาะฮีหฺ อัต-ติรมิซีย์ 590)

 

หะดีษนี้ได้ชี้ถึงการห้ามไม่ให้ถือศีลอดในช่วงครึ่งหลังของเดือนชะอฺบาน คือห้ามตั้งแต่วันที่สิบหกชะอฺบานเป็นต้นไป

 

แต่ว่า ยังมีรายงานที่ชี้ว่าอนุญาตให้ถือศีลอดในช่วงนั้นได้ด้วยเช่นกัน ในจำนวนรายงานเหล่านั้นก็คือ

รายงานที่บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ (หมายเลข 1914) และมุสลิม (หมายเลข 1082) จากอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

«لا تَقَدَّمُوا رَمَضَانَ بِصَوْمِ يَوْمٍ وَلا يَوْمَيْنِ إِلاّ رَجُلٌ كَانَ يَصُومُ صَوْمًا فَلْيَصُمْهُ»

ความว่า “อย่าได้ถือศีลอดก่อนเดือนเราะมะฎอนหนึ่งหรือสองวัน ยกเว้นคนที่เคยถือศีลอดมาก่อนหน้านั้น ก็ให้เขาถือศีลอดได้”

 

หะดีษนี้ชี้ให้เห็นว่า การถือศีลอดในครึ่งหลังของเดือนชะอฺบานเป็นที่อนุญาตสำหรับคนที่เคยถือศีลอดมาเป็นปกติก่อนหน้านั้น เช่นคนที่เคยถือศีลอดวันจันทร์และวันพฤหัสบดีเป็นประจำ หรือคนที่ถือศีลอดวันเว้นวัน เป็นต้น

 

 

และได้มีรายงานที่บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ (หมายเลข 1975) และมุสลิม (หมายเลข 1156) จากอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา เล่าว่า

“ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ถือศีลอดชะอฺบานทั้งเดือน ท่านถือศีลอดชะอฺบานทั้งเดือนนอกจากเล็กน้อยเท่านั้น(หมายถึงมีไม่กี่วันเท่านั้นที่ท่านไม่ได้ถือศีลอดในเดือนชะอฺบาน)” (สำนวนนี้เป็นรายงานของมุสลิม)

 

อัน-นะวะวีย์ ได้อธิบายว่า คำพูดของอาอิชะฮฺที่ว่า “ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ถือศีลอดชะอฺบานทั้งเดือน ท่านถือศีลอดชะอฺบานทั้งเดือนนอกจากเล็กน้อยเท่านั้น” วรรคที่สองนั้นได้มาอธิบายวรรคแรก และอธิบายคำพูดของนางที่ว่า “ทั้งเดือน” ซึ่งหมายถึง ส่วนมากหรือส่วนใหญ่ของเดือนนั่นเอง

หะดีษนี้ชี้ให้เห็นว่าอนุญาตให้ถือศีลอดครึ่งหลังของเดือนชะอฺบานได้ แต่อนุญาตให้เฉพาะคนที่ถือศีลอดต่อเนื่องจากครึ่งแรกของเดือนชะอฺบานเท่านั้น

 

อุละมาอ์ในมัซฮับชาฟิอีย์ได้ยึดปฏิบัติกับหะดีษทั้งหมดที่กล่าวมา พวกเขาได้ให้ทัศนะว่า ไม่อนุญาตให้ถือศีลอดในครึ่งหลังของเดือนชะอฺบานยกเว้นสำหรับคนที่เคยถือศีลอดเป็นปกติ หรือถือศีลอดต่อเนื่องมาจากครึ่งแรก ทัศนะนี้ถือว่าถูกต้องที่สุดในความเห็นส่วนใหญ่ของพวกเขา ซึ่งเห็นว่าการห้ามในหะดีษนั้นเป็นการห้ามเชิงตะหฺรีม(มีหุก่มเป็นหะรอม คือไม่อนุญาตให้ทำ)

แต่บางส่วนของพวกเขา เช่น อัร-รูยานีย์ ก็เห็นว่า การห้ามดังกล่าวเป็นการห้ามเชิงกะรอฮะฮฺ(มีหุก่มเป็นมักรูฮฺ คือไม่สนับสนุนให้ทำ) ไม่ได้เป็นการห้ามถึงขึ้นหะรอมแต่ประการใด (ดู อัล-มัจญ์มูอฺ 6/399-400, ฟัตหุลบารีย์ 4/129)

อัน-นะวะวีย ได้กล่าวไว้ใน ริยาฎุศศอลิฮีน (หน้า 412) ว่า “บรรพว่าด้วยการห้ามถือศีลอดก่อนเดือนเราะมะฎอนในครึ่งหลังของเดือนชะอฺบาน ยกเว้นผู้ที่ถือศีลอดต่อเนื่องมาจากครึ่งแรก หรือตรงกับที่เคยปฏิบัติมาโดยปกติ เช่นการถือศีลอดวันจันทร์และวันพฤหัสบดี” (จบการอ้าง)

 

อุละมาอ์ส่วนมากมีทัศนะว่าหะดีษที่ห้ามไม่ให้ถือศีลอดครึ่งหลังของเดือนชะอฺบานเป็นหะดีษเฎาะอีฟ จากเหตุผลดังกล่าวพวกเขาจึงเห็นว่า ไม่เป็นการมักรูฮฺที่จะถือศีลอดในช่วงครึ่งหลังของเดือนชะอฺบาน

อัล-หาฟิซ อิบนุ หะญัรฺ ได้กล่าวว่า “บรรดาญุมฮูรฺ อุละมาอ์ (อุละมาอ์ส่วนมาก) กล่าวว่า อนุญาตให้ถือศีลอดสุนัตในครึ่งหลังของเดือนชะอฺบานได้ พวกเขาวินิจฉัยหะดีษที่มีการห้ามดังกล่าวว่าเป็นหะดีษเฎาะอีฟ อิมามอะห์มัดและอิบนุ มะอีน กล่าวว่าแท้จริงมันเป็นหะดีษมุงกัรฺ” จบการอ้างจากฟัตหุลบารีย์

ในบรรดาผู้ที่เห็นว่าหะดีษนี้เฎาะอีฟ ก็มี อัล-บัยฮะกีย์ และ อัฏ-เฏาะหาวีย์ รวมอยู่ด้วย

อิบนุ กุดามะฮฺ ได้ระบุไว้ในอัล-มุฆนีย์ว่า อิมามอะห์มัด ได้กล่าวถึงหะดีษนี้ว่า “ไม่เป็นรายงานที่ถูกจดจำ และเราได้ถามอับดุรเราะห์มาน บิน มะฮฺดีย์ เกี่ยวกับมัน แต่ท่านก็ไม่เห็นว่ามันเศาะฮีหฺ ท่านไม่ได้รายงานหะดีษนี้แก่ฉันด้วย ซึ่งท่านได้ระแวดระวังจากมัน” อะห์มัด ยังกล่าวต่อไปว่า “อัล-อะลาอ์นั้นเป็นผู้ที่เชื่อถือได้ ไม่มีหะดีษใดของเขาที่ถูกปฏิเสธยกเว้นอันนี้” จบการอ้าง

  อัล-อะลาอ์ที่ว่า คือ อัล-อะลาอ์ บิน อับดุรเราะห์มาน ท่านรายงานหะดีษจากบิดาของท่าน จากอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ

 

ทว่า อิบนุล ก็อยยิม ได้ชี้แจงกลับต่อผู้ที่มีทัศนะว่าหะดีษนี้เฎาะอีฟ โดยระบุใน “ตะฮฺซีบ อัส-สุนัน” สรุปใจความได้ว่า แท้จริงแล้ว หะดีษนี้เป็นหะดีษเศาะฮีหฺตามเงื่อนไขของอิมามมุสลิม และแท้จริง การที่อัล-อะลาอ์ได้รายงานหะดีษเพียงผู้เดียวไม่ได้เป็นเหตุผลทำให้มันมีข้อตำหนิแต่อย่างใด เพราะอัล-อะลาอ์นั้นเป็นผู้ที่เชื่อถือได้ และอิมามมุสลิมเองก็ได้บันทึกหะดีษที่เขารายงานจากบิดา จากอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ไว้หลายหะดีษ และยังมีหะดีษอีกมากมายที่รายงานโดยผู้ที่เชือถือเพียงคนเดียวจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม โดยที่ประชาชาติมุสลิมต่างยอมรับและถือปฏิบัติใช้กันมา ...

จากนั้นท่านก็กล่าวว่า ส่วนการคาดเดาว่าหะดีษนี้ไปค้านกับหะดีษต่างๆ ที่บ่งชี้ถึงการอนุญาตให้ถือศีลอดในเดือนชะอฺบานนั้น อันที่จริงไม่มีการค้านกันระหว่างหะดีษเหล่านี้ เพราะหะดีษต่างๆ ที่ระบุการอนุญาตนั้น หมายถึงอนุญาตให้ถือศีลอดในช่วงครึ่งหลังพร้อมกับครึ่งแรกของเดือน และการถือศีลอดในช่วงครึ่งหลังในแบบที่เคยปฏิบัติมาเป็นปกติ ส่วนหะดีษของอัล-อะลาอ์นั้นชี้ถึงการห้ามเจตนาถือศีลอดเฉพาะครึ่งหลังเพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้เป็นการถือศีลอดปกติตามที่เคยปฏิบัติมา และไม่ใช่การถือศีลอดต่อเนื่องมาจากครึ่งแรกก่อนหน้านั้น (จบการอ้าง)

 

มีผู้ถามเชคบินบาซ เราะหิมะฮุลลอฮฺ เกี่ยวกับหะดีษห้ามถือศีลอดครึ่งหลังเดือนชะอฺบาน ท่านตอบว่า มันเป็นหะดีษเศาะฮีหฺ เช่นที่สหายของเราท่านเชคนาศิรุดดีน อัล-อัลบานีย์ได้กล่าวไว้ ความหมายของมันก็คือ ห้ามเริ่มถือศีลอดในครึ่งหลัง ส่วนใครที่ถือศีลอดในเดือนชะอฺบานเป็นส่วนใหญ่หรือถือทั้งเดือนนั้น ถือว่าเขาได้ปฏิบัติตรงกับสุนนะฮฺ (จบการอ้าง จากรวมฟัตวาเชคบินบาซ 15/385)

 

ท่านเชค อิบนุ อุษัยมีน เราะหิมะฮุลลอฮฺ ได้กล่าวใน ชัรหฺ ริยาฎุศศอลิฮีน (3/394) ว่า และแม้กระทั่งหากแม้นว่าหะดีษนั้นเป็นหะดีษเศาะฮีหฺ กระนั้น การห้ามดังกล่าวไม่ได้เป็นการห้ามแบบตะหฺรีม(ไม่อนุญาต) แต่มันเป็นการห้ามแบบกะรอฮะฮฺ(ไม่สนับสนุนให้ทำ) เช่นที่ผู้รู้บางท่านได้ยึดใช้ ยกเว้นคนที่ถือศีลอดเป็นปกติ ดังนั้นเขาก็จงถือศีลอดต่อไปได้แม้ว่าจะอยู่ในครึ่งหลังของชะอฺบานก็ตาม (จบการอ้าง)

 

ข้อสรุปของคำตอบก็คือ

มีการห้ามไม่ให้ถือศีลอดครึ่งหลังของเดือนชะอฺบาน ไม่ว่าจะเป็นการห้ามแบบกะรอฮะฮฺ(ไม่สนับสนุน) หรือแบบตะหฺรีม(ไม่อนุญาต) ยกเว้นเฉพาะคนที่เคยถือศีลอดเป็นปกติ หรือถือศีลอดต่อเนื่องมาจากครึ่งแรก วัลลอฮุอะอฺลัม

เหตุผลจากการห้ามดังกล่าวก็คือ เพราะว่าการถือศีลอดต่อเนื่องกันอาจจะทำให้เกิดความอ่อนแอในการที่จะถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอนต่อไป

และถ้าหากมีการแย้งว่า ถ้าเช่นนั้นการถือศีลอดตั้งแต่ต้นเดือนชะอฺบานก็ย่อมทำให้อ่อนแอได้มากกว่า  !

เราก็ขอตอบว่า แท้จริงคนที่ถือศีลอดมาตั้งแต่ต้นเดือนชะอฺบาน เขาย่อมต้องชินกับการถือศีลอดนั้นเสียแล้ว ความลำบากต่างๆ ในการถือศีลอดก็ไม่ใช่เรื่องที่หนักหนาอีกต่อไปสำหรับเขา

อัล-กอรีย์ ได้กล่าวว่า การห้ามดังกล่าวเป็นการห้ามเชิงตันซีฮฺ(คือห้ามเชิงไม่สนับสนุนให้ทำเท่านั้น) เพื่อเป็นความเมตตาแก่ประชาชาติ กลัวว่าพวกเขาจะอ่อนแอในการทำหน้าที่ถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอนด้วยความกระปรี้กระเปร่า ส่วนผู้ที่ถือศีลอดชะอฺบานทั้งเดือนนั้น เขาก็ย่อมเคยชินกับการถือศีลอดเสียแล้ว ดังนั้นความรู้สึกลำบากย่อมหมดไปจากเขา (จบการอ้าง)

วัลลอฮุอะอฺลัม

 

อิสลามถามตอบ

islamqa.info ฟัตวาหมายเลข 13726

 

Go to the Top