فضل شهر المحرم

مقالات البطاقة التعريفية
العنوان: فضل شهر المحرم
اللغة: تايلندي
مراجعة: صافي عثمان
نبذة مختصرة: مقالة عن فضل شهر الله المحرم، وفضل الصيام فيه وصيام يوم عاشوراء، مع ذكر الأدلة من الكتاب والسنة، كما ذكر الكاتب بعض الأعمال البدعية التي ارتكبها بعض الناس في هذا الشهر وحذر منها.
تأريخ الإضافة: 2008-01-07
الرابط المختصر: http://IslamHouse.com/72027
:: هذا العنوان مصنف موضوعياً ضمن التصانيف الآتية ::
- هذه البطاقة مترجمة باللغات التالية: تايلندي - مليالم - بنغالي
المرفقات ( 2 )
1.
ความประเสริฐของเดือนมุหัรร็อม
152.8 KB
فتح: ความประเสริฐของเดือนมุหัรร็อม.pdf
2.
ความประเสริฐของเดือนมุหัรร็อม
539.5 KB
فتح: ความประเสริฐของเดือนมุหัรร็อม.doc
نبذة موسعة
 
 
 
 

เดือนมุหัรร็อมเป็นเดือนหนึ่งในบรรดาสี่เดือนที่ต้องห้าม(อัลอัชฮุรุลหุรุม) ดังพระกำหนดที่ถูกระบุในซูเราะฮฺ อัต-เตาบะฮฺ อายะฮฺที่ 36 ซึ่งมีใจความว่า

 

 

 

«إِنَّ عِدَّةَ الشُّهُوْرِ عِنْدَ اللهِ اثْنَا عَشَرَ شَهْرَا فِيْ كِتَابِ اللهِ يَوْمَ خَلَقَ السَّمَوَاتِ وَالأَرْضَ مِنْهَا أَرْبَعَةٌ حُرُمٌ»

 

 ความว่า “แท้จริงจำนวนเดือน ณ อัลลอฮฺนั้นมีสิบสองเดือนในคัมภีร์ของอัลลอฮฺ ตั้งแต่วันที่พระองค์ทรงสร้างบรรดาชั้นฟ้าและแผ่นดิน จากเดือนเหล่านั้นมีสี่เดือนซึ่งเป็นเดือนที่ต้องห้าม...”

 

 

 

ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม  ได้อธิบายว่า สี่เดือนที่ต้องห้ามนั้นคือ เดือนซุลเกาะอฺดะฮฺ ซุลฮิจญะฮฺ มุหัรร็อม และเราะญับมุฎ็อร โดยสามเดือนแรกเป็นสามเดือนต่อเนื่องกัน แต่เดือนเราะญับที่ถูกแยกมาเป็นเดือนที่ต้องห้ามระหว่างเดือนญุมาดาอัลอาคิเราะฮฺกับเดือนชะอฺบาน เพราะในประวัติศาสตร์ของอาหรับก่อนยุคอิสลาม ชาวเผ่ารอบีอะฮฺ อิบนุ นิซารได้เรียกเดือนเราะมะฎอนว่าเดือนเราะญับ และถือเป็นเดือนต้องห้ามแทนเดือนเราะญับของเผ่ามุฎ็อร ซึ่งเดือนเราะญับของมุฎ็อรเป็นการกำหนดที่ถูกต้องตามศาสนบัญญัติ จึงทำให้ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม  เน้นในการกำหนดเดือนต้องห้ามว่าเป็นเดือนเราะญับของมุฎ็อร ส่วนเดือนมุหัรร็อมนั้นนอกจากเป็นเดือนต้องห้ามแล้ว ยังมีความประเสริฐอีกหลายประการดังต่อไปนี้

 

 

 

1. การถือศีลอดในเดือนมุหัรร็อม

 

เป็นการถือศีลอดที่มีความประเสริฐยิ่ง ซึ่งมีตำแหน่งรองจากเดือนเราะมะฎอน ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม  ได้กล่าวว่า

 

أَفْضَلُ الصِّيَامِ بَعْدَ رَمَضَانَ شَهْرُ اللهِ المُحَرَّمُ

 

ซึ่งมีใจความว่า “การถือศีลอดที่ประเสริฐยิ่งหลังจากเดือนเราะมะฎอน คือการถือศีลอดเดือนของอัลลอฮฺที่ต้องห้าม(อัลมุหัรร็อม)” (บันทึกโดยอิมามมุสลิม, อบูดาวูด และติรมีซีย์)

 

ดังนั้น ผู้ใดมีความสามารถที่จะถือศีลอดในเดือนมุหัรร็อมทุกวัน เกือบทุกวัน หรือบางวัน ก็เป็นการดีในการให้เกียรติเดือนที่ต้องห้ามนี้ หากไม่สามารถถือศีลอดหลายวัน ก็ให้ปฏิบัติความประเสริฐประการต่อไป

 

 

 

2. การถือศีลอดวันที่ 10 มุหัรร็อม

 

ที่เราเรียกกันว่า อาชูรออ์ ซึ่งเป็นวันที่มีเกียรติในศาสนาอื่นด้วย เช่น ศาสนายิว เพราะเป็นวันที่ท่านนบีมูซา อะลัยฮิสสลาม ได้รับความปลอดภัยจากฟิรเอานฺ จึงเป็นวันแห่งการขอบคุณของบนีอิสรออีล และเป็นที่รู้กันดีว่าท่านนบีมูซาได้ถือศีลอดในวันนี้ เมื่อท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม  อพยพไปยังเมืองมะดีนะฮฺ และท่านได้ทราบว่าชาวยิวที่อาศัยอยู่ในเมืองมะดีนะฮฺกำลังถือศีลในวันนั้น ท่านนบีจึงประกาศให้เป็นวันถือศีลอดของชาวมุสลิมด้วย โดยกล่าวว่า

 

 أَنَا أَحَقُّ بِمُوْسٰى مِنْكُمْ فَصَامَهُ وَأَمَرَ بِصِيَامِهِ

 

 “ฉันมีข้อเกี่ยวพันกับมูซามากกว่าพวกท่าน(โอ้ชาวยิว)” ท่านนบีจึงถือศีลอดวันนั้นและใช้ให้บรรดามุสลิมีนถือศีลอดด้วย” (บันทึกโดยบุคอรียฺและมุสลิม)

 

 

 

บรรดานักปราชญ์อิสลามชี้แจงว่า ในช่วงแรกการถือศีลอดวันอาชูรออ์(สิบมุหัรร็อม)เป็นวาญิบ(จำเป็นต้องปฏิบัติ) เพราะก่อนหน้านี้ยังไม่มีการใช้ให้ถือศีลอดเดือนเราะมะฎอน จึงถือเป็นการถือศีลอดฟัรฎูของมุสลิม แต่หลังจากที่มีบทบัญญัติใช้ให้บรรดามุสลิมีนถือศีลอดเดือนเราะมะฎอนเป็นฟัรฎูแล้ว ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม  ก็ไม่ได้บังคับให้ถือศีลอดในวันนี้ แต่ยืนยันในความประเสริฐด้วยถ้อยคำอันชัดเจน เช่น

 

سُئِلَ عَنْ صَوْمِ يَوْمِ عَاشُوْرَاءَ فَقَالَ يُكَفِّرُ السَّنَةَ المَاضِيَةَ

 

ท่านนบีถูกถามถึงการถือศีลอดในวันอาชูรออ์ ท่านตอบว่า “ลบล้างความผิดตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา” (บันทึกโดยมุสลิม)

 

 

 

ดังนั้น บรรดาอุละมาอ์จึงมีความเห็นตรงกันถึงความประเสริฐของการถือศีลอดในวันอาชูรออ์ แต่อุละมาอ์ส่วนมากมีความเห็นชอบให้ถือศีลอดวันตาซูอาอ์รวมไปด้วย คือวันที่ 9 ของเดือนมุหัรร็อม ซึ่งท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม  ได้กล่าวว่า

 

 لَئِنْ بَقِيْتُ إِلَى قَابِلٍ َلأَصُوْمَنَّ التَّاسِعَ وَالعَاشِرَ

 

“หากฉันมีชีวิตถึงปีหน้า แน่นอน ฉันจะถือศีลอดวันที่เก้าและวันที่สิบ” (บันทึกโดยอิมามอะหมัด)

 

อุละมาอ์บางท่านมีความเห็นชอบให้ถือศีลอดวันที่ 11 รวมไปด้วย เพราะมีหะดีษบทหนึ่งบ่งชี้ถึงการถือศีลอดวันก่อนอาชูรออ์และวันหลังอาชูรออ์ แต่เนื่องจากหะดีษนี้มีสายสืบอ่อนมาก(ฎออีฟญิดดัน) จึงไม่ควรนำมาใช้ในการปฏิบัติศาสนกิจ

 

 

 

3. การทำอิบาดะฮฺ ทำความดี และละเว้นความชั่วทุกชนิด

 

เดือนมุหัรร็อมถือเป็นวาระสำคัญอย่างยิ่ง เพราะอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ได้ทรงกำชับบรรดาผู้ศรัทธาไม่ให้อธรรมตัวเองในเดือนที่ต้องห้าม หมายถึง ไม่ให้ละเมิดกรอบสิ่งที่ต้องห้าม และไม่ให้ละเว้นสิ่งที่ต้องปฏิบัติ

 

        สำหรับเดือนมุหัรร็อมมีความประเสริฐบางประการที่บางกลุ่มบางลัทธิเชื่อถือกัน แต่หาได้มีหลักฐานรับรองในความประเสริฐนั้นไม่ เช่นตัวอย่างดังต่อไปนี้

 

- ความเชื่อว่าวันที่ 10 มุหัรร็อมเป็นวันที่ท่านนบีนูหฺได้รับความปลอดภัยจากน้ำท่วมด้วยเรือลำใหญ่ที่อัลลอฮฺทรงสอนให้ท่านนบีนูหฺสร้างเพื่อความปลอดภัยของท่านและผู้ศรัทธา ซึ่งหะดีษที่กล่าวถึงเรื่องนี้อยู่ในระดับที่เชื่อถือมิได้ ดังนั้น ทางความศรัทธาไม่อนุญาตให้เชื่อในสิ่งที่ไม่มีหลักฐานชัดเจนรองรับ

 

 - ความเชื่อว่าวันที่ 10 มุหัรร็อมนั้นให้ทำขนมหรือแจกขนมชนิดหนึ่งชนิดใด โดยเชื่อว่าการทำขนมเฉพาะให้วันที่สิบมุหัรร็อมนั้นมีความประเสริฐเป็นพิเศษ ซึ่งความเชื่อเช่นนี้มีความคลาดเคลื่อนและผิดหลักการใน 2 ประเด็น

 

ประเด็นแรก คือ เป็นการกระทำที่ไม่มีหลักฐานรองรับ และการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดถ้าเราเชื่อว่ามีผลบุญ (เช่นเชื่อว่าทำขนมในวันอาชูรออ์มีผลบุญเป็นพิเศษ) ถ้าไม่มีหลักฐานในการกระทำนั้นๆ ก็จะถือว่าเป็นบิดอะฮฺที่ต้องละทิ้ง

 

ประเด็นที่สอง คือ เป็นพิธีกรรมที่ถูกริเริ่มด้วยกลุ่มอันนะวาศิบ คือกลุ่มที่เกลียดชังท่านอะลี อิบนุอบีฏอลิบ และอะหฺลุลบัยตฺ(ครอบครัวและลูกหลานของท่านนบี) กลุ่มนี้ได้แสดงความดีใจในการเข่นฆ่าท่านอัลหุซัยนฺ อิบนุอะลี ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุมา ในวันที่ 10 มุหัรร็อม จึงทำขนมและแจกเพื่อแสดงความยินดีในเหตุการณ์นั้น และกลุ่มนะวาศิบนี้ก็จะเป็นกลุ่มตรงข้ามกับกลุ่มชีอะฮฺรอฟิเฎาะฮฺ กล่าวคือ กลุ่มชีอะฮฺรอฟิเฎาะฮฺจะรักอะหฺลุลบัยตฺอย่างเลยเถิด แต่กลุ่มนะวาศิบจะเกลียดอะหฺลุลบัยตฺโดยไม่มีเหตุผล และระหว่างสองกลุ่มก็จะมีอะฮฺลุซซุนนะฮฺวัลญะมาอะฮฺที่รักใคร่อะหฺลุลบัยตฺตามขอบเขตของอิสลามและด้วยเหตุผลที่ถูกต้อง

 

- ความเชื่อของกลุ่มชีอะฮฺรอฟิเฎาะฮฺว่าต้องไว้ทุกข์ในวันที่ 10 มุหัรร็อม เพื่อแสดงความเสียใจในการเสียชีวิตของอัลหุซัยนฺ อิบนุอะลี ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุมา ซึ่งตลอดประวัติศาสตร์ชาวชีอะฮฺได้พัฒนาพิธีกรรมนี้จนกระทั่งเป็นเทศกาลและเอกลักษณ์ของชีอะฮฺโดยเฉพาะ โดยมีการจัดกิจกรรมต่างๆ ในวันไว้ทุกข์นี้ แต่สิ่งที่น่าอัปยศอย่างยิ่งและเป็นการทำลายหลักการอัลอิสลาม คือการทำร้ายร่างกายตัวเองในวันที่ 10 มุหัรร็อม ตามถนนและสถานที่สาธารณะ ซึ่งชาวชีอะฮฺจะถือว่าเป็นการแสดงพลังของพวกเขา และจะออกมาชุมนุมตามสถานที่สาธารณะต่างๆ และจะมีการตบหน้าตบอก หรือใช้อาวุธต่างๆในการทำร้ายตัวเองจนเลือดไหล เพื่อบรรลุจุดประสงค์ของพวกเขา คือรู้สึกถึงความเจ็บปวดที่ท่านอัลหุซัยนฺ อิบนุอะลี ได้ประสบ พิธีกรรมดังกล่าวชาวชีอะฮฺจะปฏิบัติกันทั่วโลก ถึงแม้ว่ามีนักปราชญ์ของพวกเขาได้ประกาศว่าการกระทำดังกล่าวเป็นอุตริกรรมที่ไม่อนุญาตให้กระทำโดยเด็ดขาด แต่ชาวชีอะฮฺโดยทั่วไปยังยืนหยัดในการแสดงพิธีกรรมเหล่านี้ โดยไม่คำนึงถึงชื่อเสียงของชาวมุสลิม ดังนั้นอะฮฺลุซซุนนะฮฺวัลญะมาอะฮฺต้องประกาศความไม่เห็นด้วยกับลัทธิชีอะฮฺ และปฏิเสธพิธีกรรมดังกล่าว เพื่อให้สังคมรับรู้ว่าพิธีกรรมเหล่านั้นไม่ได้เป็นพิธีกรรมตามศาสนาอิสลามที่แท้จริง.

 

 

Go to the Top