خصائص ومحاسن الدين الإسلامي ـ 3

مقالات البطاقة التعريفية
العنوان: خصائص ومحاسن الدين الإسلامي ـ 3
اللغة: تايلندي
مراجعة: صافي عثمان
نبذة مختصرة: مقالة مقتبسة من كتاب رسالة الإسلام للأستاذ عبدالرحمن عبدالكريم الشيحة، فيها :
ـ أن الإسلام دين يساوي بين الناس جميعاً في أصل الخلق والمنشأ
ـ أن الإسلام دين ليست فيه سلطات روحية مستقلة كتلك السلطات التي تعطى لرجال الدين في الديانات الأخرى
تأريخ الإضافة: 2010-09-23
الرابط المختصر: http://IslamHouse.com/321595
:: هذا العنوان مصنف موضوعياً ضمن التصانيف الآتية ::
- هذه البطاقة مترجمة باللغات التالية: تايلندي - إنجليزي - تلغو - سواحيلي
المرفقات ( 2 )
1.
คุณลักษณะเฉพาะของศาสนาอิสลาม_(3)
476.5 KB
فتح: คุณลักษณะเฉพาะของศาสนาอิสลาม_(3).doc
2.
คุณลักษณะเฉพาะของศาสนาอิสลาม_(3)
211.2 KB
فتح: คุณลักษณะเฉพาะของศาสนาอิสลาม_(3).pdf
نبذة موسعة

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ

 

คุณลักษณะเฉพาะของศาสนาอิสลาม (3)

 

ศาสนาแห่งความเท่าเทียม

            ศาสนาอิสลามให้ความเท่าเทียมกันกับทุกคนในแง่ของการบังเกิดและความเป็นมาแต่เดิม ไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิง ขาวหรือดํา อาหรับหรือไม่ใช่อาหรับก็ตาม เพราะมนุษย์คนเเรกที่ถูกสร้างขึ้นมาคือ ท่านศาสนทูตอาดัม ซึ่งถือว่าเป็นบิดาแห่งมนุษย์ทั้งปวง จากตัวของอาดัมอัลลอฮฺได้สร้างภรรยาเขาที่ชื่อ เฮาวาอ์ มารดาแห่งมวลมนุษย์  ซึ่งมนุษย์ทุกคนในโลกนี้ล้วนมาจากเชื้อสายของท่านทั้งสอง  ดังนั้นแสดงว่ามนุษย์ทุกคนมีที่มาอันเดียวกัน  อัลลอฮฺตรัสในคัมภีร์อัลกุรอานว่า

﴿يَا أَيُّهَا النَّاسُ اتَّقُواْ رَبَّكُمُ الَّذِي خَلَقَكُم مِّن نَّفْسٍ وَاحِدَةٍ وَخَلَقَ مِنْهَا زَوْجَهَا وَبَثَّ مِنْهُمَا رِجَالاً كَثِيراً وَنِسَاء وَاتَّقُواْ اللهَ الَّذِي تَسَاءلُونَ بِهِ وَالأَرْحَامَ إِنَّ اللهَ كَانَ عَلَيْكُمْ رَقِيباً﴾ (النساء : 1 )

ความว่า : “มนุษยชาติทั้งหลาย ! จงยำเกรงพระเจ้าของพวกเจ้าที่ได้บังเกิดพวกเจ้ามาจากชีวิตหนึ่ง และได้ทรงบังเกิดจากชีวิตนั้นซึ่งคู่ครองของเขา และได้ทรงให้แพร่สะพัดไปจากทั้งสองนั้น ซึ่งบรรดาชายและบรรดาหญิงอันมากมาย และจงยำเกรงอัลลอฮฺที่พวกเจ้าต่างขอกันด้วยพระองค์ และพึงรักษาความสัมพันธ์ระหว่างเครือญาติ” (อัน-นิสาอ์ 1)

           

            ท่านศาสนทูตมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวซึ่งมีความว่า :

“แท้จริงแล้วอัลลอฮฺได้ขจัดความหยิ่งยะโสและความโอ้อวดในเรื่องวงศ์ตระกูลอันเป็นวัฒนธรรมเดิมของยุคญาฮิลียะฮฺ (ยุคแห่งความงมงายของอาหรับก่อนอิสลาม) ทั้งมุอ์มิน(ผู้ศรัทธา)ผู้ยําเกรง และคนเลวผู้โชคร้าย ซึ่งมนุษย์ทั้งปวงล้วนแล้วมาจากอาดัม และอาดัมนั้นมาจากดิน” (ดู มุสนัด อิมาม อะหฺมัด 2/361 เลขที่ 8721)

           

            ดังนั้น มนุษย์ทุกคนที่มีอยู่และกำลังจะมีต่อไปในเเผ่นดินนี้ เป็นส่วนหนึ่งที่มาจากเชื้อสายอาดัม ซึ่งแต่เดิมนั้นอยู่ในศาสนาอันเดียวกัน ภาษาเดียวกัน แต่ด้วยเหตุที่พวกเขามีจำนวนมากและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็เลยเเยกย้ายกันกระจัดกระจายอาศัยอยู่บนเเผ่นดิน แพร่พันธุ์ไปทั่วโลก ส่งผลให้เกิดความเเตกต่างทางด้านภาษา สีผิว และพฤติกรรมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะสถานการณ์ความเป็นอยู่ของแต่ละที่ถือว่าเป็นปัจจัยส่งผลให้เกิดความเเตกต่าง และแน่นอนความเเตกต่างในลักษณะนี้จะส่งผลให้เกิดความเเตกต่างด้านความคิด ความเป็นอยู่ สุดท้ายส่งผลให้เกิดความแตกต่างด้านความเชื่อ อัลลอฮฺตรัสในคัมภีร์อัลกุรอานว่า

﴿وَمَا كَانَ النَّاسُ إِلاَّ أُمَّةً وَاحِدَةً فَاخْتَلَفُواْ وَلَوْلاَ كَلِمَةٌ سَبَقَتْ مِن رَّبِّكَ لَقُضِيَ بَيْنَهُمْ فِيمَا فِيهِ يَخْتَلِفُونَ﴾ (يونس : 19 )

ความว่า : “และมนุษย์นั้นไม่ใช่อื่นใดนอกจากเป็นประชาชาติเดียวกัน แล้วพวกเขาก็แตกแยกกัน และหากมิใช่ลิขิตได้บันทึกไว้ที่พระเจ้าของพวกเจ้าแล้วไซร้ แน่นอนก็คงถูกตัดสินระหว่างพวกเขาเรียบร้อยแล้ว ในเรื่องที่พวกเขาขัดแย้งกัน” (ยูนุส 19)

 

คำสอนอิสลามให้ความเสมอภาคแก่ทุกคนต่อหน้าองค์อภิบาลอัลลอฮฺ โดยไม่แบ่งเเยกกันเพราะปัจจัยด้านเชื้อชาติ  สีผิว ภาษาและประเทศ ทุกคนเท่าเทียมกันในหน้าที่การปฏิบัติตามบทบัญัติแห่งอิสลาม  อัลลอฮฺตรัสในคัมภีร์อัลกุรอานว่า  

﴿يَا أَيُّهَا النَّاسُ إِنَّا خَلَقْنَاكُم مِّن ذَكَرٍ وَأُنثَى وَجَعَلْنَاكُمْ شُعُوباً وَقَبَائِلَ لِتَعَارَفُوا إِنَّ أَكْرَمَكُمْ عِندَ اللهِ أَتْقَاكُمْ إِنَّ اللهَ عَلِيمٌ خَبِيرٌ﴾ (الحجرات : 13 )

ความว่า : “โอ้มนุษยชาติทั้งหลาย แท้จริงเราได้สร้างพวกเจ้าจากเพศชายและเพศหญิง และเราได้ให้พวกเจ้าแยกเป็นเผ่าและตระกูลเพื่อให้พวกเจ้าได้ทำความรู้จักกัน แท้จริง ผู้ที่มีเกียรติยิ่งในหมู่พวกเจ้า ณ ที่อัลลอฮฺนั้น คือผู้ที่มีความยำเกรงยิ่งในหมู่พวกเจ้า แท้จริง อัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงรู้ยิ่งและทรงรู้อย่างละเอียดถี่ถ้วน” (อัล-หุญุรอต 13)

           

เนื่องด้วยความเท่าเทียมดังกล่าวนี้เอง อิสลามจึงมีความเห็นว่ามนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกันในด้านความเป็นอิสระ แต่เป็นความอิสระที่มีขอบเขตตามกฎเกณฑ์ ซึ่งกฎเกณฑ์เเรกที่มากำหนดขอบเขตดังกล่าวก็คือกฎเกณฑ์ทางศาสนา ไม่ใช่ความอิสระที่ไร้ขอบเขตเหมือนสัตว์เดรัจฉาน ที่นึกคิดจะทำอะไรตามใจก็ได้ ความอิสระที่ว่านี้ ส่งผลให้มนุษย์ได้รับสิทธิดังต่อไปนี้ :

            1. อิสระด้านความคิดและการแสดงเหตุผล ซึ่งอิสลามสนับสนุนให้ทุกคนที่นับถืออิสลามพูดในสิ่งที่ถูกต้อง กล้าเสนอความคิดและแนวคิดต่างๆ ของพวกเขาที่สร้างสรรค์และมีจุดประสงค์ชัดเจน และให้พวกเขายืนหยัดกับสัจธรรมอย่างมั่นคง โดยไม่ต้องหวาดหวั่นกับคำตําหนิของผู้คนที่มุ่งร้าย ท่านศาสนทูตมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวความว่า :

“การญิฮาด(การต่อสู้ในหนทางอัลลอฮฺ)ที่ดีเลิศที่สุด คือการที่เจ้ากล้าพูดความจริงต่อหน้าผู้มีอํานาจหรือหัวหน้าผู้อธรรม” (ดู สุนัน อบี ดาวูด 4/124 เลขที่ 4344)

 

บรรดาสาวกของท่านศาสนทูตมุหัมมัดต่างเเข่งขันเพื่อปฏิบติตามหลักการอันนี้ ชายคนหนึ่งได้กล่าวแก่ท่านอุมัรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ผู้ปกครองอิสลามสมัยนั้นว่า “โอ้ อามีรุลมุอ์มินีน(ผู้ปกครองของมวลมุสลิม) เจ้าจงยําเกรงอัลลอฮฺเถิด” แล้วมีชายอีกคนที่ฟังอยู่ลุกขึ้นห้ามและกล่าวต่อว่าชายคนแรกทันทีว่า “นี่เจ้ากล้าพูดกับผู้นำของเจ้าว่าจงยําเกรงด้วยกระนั้นหรือ?” ท่านอุมัรฺตอบว่า “ปล่อยเขาเถอะ ให้เขาพูดออกมา เพราะความดีจะไม่บังเกิดขึ้น ถ้าพวกท่านไม่ว่าอะไรเรา และความดีจะไม่บังเกิดขึ้นเหมือนกันถ้าพวกเราไม่ยอมรับความเห็นจากพวกท่าน”

มีเรื่องคล้ายๆ กันนี้ ที่ครั้งหนึ่งท่านอะลี เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้ทำการตัดสินในบางเรื่องโดยใช้ความคิดส่วนตัวของท่าน  เมื่อท่านอุมัรฺถูกถามถึงเรื่องดังกล่าว ท่านตอบว่า “ถ้าให้ฉันตัดสิน ฉันคงตัดสินในลักษณะอื่น” มีคนถามว่า แล้วเหตุอันใดที่ท่านไม่โต้ตอบอะลี ทั้งๆ ที่ท่านเป็นถึงผู้ปกครองของมวลผู้ศรัทธา ? ท่านตอบว่า “ถ้าเรื่องนั้นมีในอัลกุรอานและแบบอย่างของท่านศาสนทูตฉันก็จะโต้ตอบแน่ แต่นี่มันเป็นแค่ความคิดเห็นของมนุษย์ด้วยกัน และแน่นอน ความคิดเห็นย่อมเท่าเทียมกัน ไม่มีใครรู้หรอกว่าความคิดไหนที่ถูกต้องกว่าในทัศนะของพระองค์อัลลอฮฺ”  

 

2. ทุกคนมีอิสระเท่าเทียมกันในการแสวงหาและครองปัจจัยยังชีพที่หะลาล อัลลอฮฺตรัสในคัมภีร์อัลกุรอาน

﴿وَلا تَتَمَنَّوْاْ مَا فَضَّلَ اللهُ بِهِ بَعْضَكُمْ عَلَى بَعْضٍ لِّلرِّجَالِ نَصِيبٌ مِّمَّا اكْتَسَبُواْ وَلِلنِّسَاء نَصِيبٌ مِّمَّا اكْتَسَبْنَ﴾ (النساء : 32 )َ

ความว่า : “และจงอย่าปรารถนาในสิ่งที่อัลลอฮฺได้ทรงประทานให้แก่บางคนในหมู่พวกเจ้าเหนือกว่าอีกบางคน สำหรับผู้ชายนั้นมีส่วนได้รับจากสิ่งที่พวกเขาได้ขวนขวายไว้ และสำหรับหญิงนั้นก็มีส่วนได้รับจากสิ่งที่พวกนางได้ขวนขวายไว้เช่นกัน” (อัน-นิสาอ์ 32)

 

            3. ทุกคนมีโอกาสในการเรียนรู้และการศึกษา และอิสลามถือว่าการศึกษานั้นเป็นสิ่งที่บังคับให้ทำด้วย ท่านศาสนทูตมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวความว่า :

“การแสวงหาวิชาความรู้เป็นหน้าที่วาญิบ(บังคับให้ทำ)เหนือมุสลิมทุกคน” (ดู สุนัน อิบนุ มาญะฮฺ 1/81 เลขที่ 228)

 

4. ทุกคนมีสิทธิได้รับประโยชน์จากสรรพสิ่งต่างๆ ในโลกนี้อย่างเท่าเทียมกัน ภายใต้กฎเกณฑ์ของบทบัญญัติแห่งอัลลอฮฺ พระองค์ตรัสในคัมภีร์อัลกุรอานว่า

﴿هُوَ الَّذِي جَعَلَ لَكُمُ الْأَرْضَ ذَلُولاً فَامْشُوا فِي مَنَاكِبِهَا وَكُلُوا مِن رِّزْقِهِ وَإِلَيْهِ النُّشُورُ﴾ (الملك : 15 )

ความว่า : “พระองค์คือผู้ทรงทำแผ่นดินนี้ให้ราบเรียบสำหรับพวกเจ้า ดังนั้นจงสัญจรไปตามขอบเขตของมัน และจงบริโภคจากปัจจัยยังชีพของพระองค์ และยังพระองค์เท่านั้นคือการฟื้นคืนชีพ” (อัล-มุลกฺ 15)

 

5. ทุกคนมีสิทธิในการรับตําเเหน่งและการบริหารอย่างเท่าเทียมกัน แต่ด้วยเงื่อนไขว่า ต้องมีคุณสมบัติ มีความสามารถและมีความพร้อมเพียงพอ ท่านศาสนทูตมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวความว่า :

“ใครได้รับมอบหมายให้เป็นผู้นำชาวมุสลิม แล้วแต่งตั้งบุคคลใดสักคนเนื่องจากความรู้สึกเสน่หาโดยส่วนตัวเพื่อให้ดูเเลเรื่องราวของมุสลิม เขาก็ต้องได้รับคำสาปเเช่งจากอัลลอฮฺ และพระองค์ไม่ทรงตอบรับการกระทำที่เป็นวาญิบ(ศาสนกิจบังคับ)และสุนัต(ศาสนกิจที่ทำด้วยความสมัครใจ)จากเขาอีก จนในที่สุดพระองค์ก็จะไล่เขาให้เข้านรกญะฮันนัม และใครได้มอบของสงวนของอัลลอฮฺให้กับบุคคลอื่น แน่นอนเขาได้ละเมิดของสงวนที่อัลลอฮฺห้ามโดยไม่ชอบธรรม สำหรับเขาคือการสาปเเช่งของอัลลอฮฺ  -หรือ ท่านศาสนทูตได้กล่าวว่า – การปกป้องคุ้มครองของอัลลอฮฺได้พ้นไปจากตัวเขาแล้ว” (มุสนัด อิมาม อะหฺมัด 1/6 หมายเลข 21)

           

อิสลามได้บอกแก่เราว่า การมอบอำนาจให้คนที่ไม่เหมาะสมคือการทำลายอะมานะฮฺ (หน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย หรือความซื่อสัตย์) ซึ่งเป็นการเตือนว่าโลกนี้ใกล้สูญสิ้นทุกทีแล้ว  และวันกิยามะฮฺ(วันสิ้นโลก)จะเกิดขึ้นอีกไม่นาน ท่านศาสนทูตมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวความว่า :

“เมื่ออะมานะฮฺ(หน้าที่มอบหมายหรือความซื่อสัตย์)ถูกทำลายและละเลยก็จงรอวันกิยามะฮฺ(วันสิ้นโลก) มีคนถามว่า โอ้ ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ อะมานะฮฺที่ว่านั้นถูกละเลยไปได้อย่างไร?  ท่านตอบว่า เมื่อให้หน้าที่ความรับผิดชอบเเก่คนที่ไม่เหมาะสมก็จงรอวันกิยามะฮฺเถิด” (เศาะฮีหฺ อัล-บุคอรีย์ 5/2382 เลขที่ 6131)

 

 

 

ศาสนาที่ไม่มีตัวกลางระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า

ในศาสนาอิสลามไม่มีคำว่าอํานาจทางจิตวิญญาณที่เป็นเอกเทศ เหมือนอํานาจที่ให้เฉพาะแก่ผู้นำศาสนาอย่างที่เราพบเห็นในศาสนาอื่น เหตุผลคือ อิสลามมาเพื่อกำจัดทุกสื่อที่เป็นตัวกลางระหว่างพระองค์อัลลอฮฺกับบ่าวพระองค์ อัลลอฮฺได้ตําหนิพวกมุชริกีน(คนที่ทำภาคีต่ออัลลอฮฺ) ที่นำสื่อมาเป็นตัวกลางระหว่างอัลลอฮฺกับบ่าว โดยที่พระองค์ได้ตรัสในคัมภีร์อัลกุรอานว่า

﴿أَلَا لِلهِ الدِّينُ الْخَالِصُ وَالَّذِينَ اتَّخَذُوا مِن دُونِهِ أَوْلِيَاء مَا نَعْبُدُهُمْ إِلَّا لِيُقَرِّبُونَا إِلَى اللهِ زُلْفَى﴾ (الزمر : 3 )

ความว่า : “พึงทราบเถิด ศาสนาอันบริสุทธิ์นั้นเป็นสิทธิสำหรับอัลลอฮฺพระองค์เดียว ส่วนบรรดาผู้ที่ยึดถือเอาบรรดาผู้คุ้มครองอื่นจากอัลลอฮฺ(พวกเขากล่าวอ้างอย่างผิดๆ ว่า)เรามิได้เคารพภักดีสิ่งเหล่านั้น เว้นแต่เพื่อเป็นตัวกลางทำให้เราเข้าใกล้ชิดต่ออัลลอฮฺมากขึ้นเท่านั้น !” (อัซ-ซุมัรฺ 3)

 

อัลลอฮฺได้อธิบายให้เราว่า บรรดาสื่อกลางทั้งหมดไม่สามารถก่อให้เกิดผลดีหรือผลร้ายแก่พวกเขาได้ เพราะมันเป็นสิ่งที่อัลลอฮฺสร้างขึ้นมาเหมือนพวกเขาไม่มีผิด พระองค์ตรัสในคัมภีร์อัลกุรอานว่า

﴿إِنَّ الَّذِينَ تَدْعُونَ مِن دُونِ اللهِ عِبَادٌ أَمْثَالُكُمْ فَادْعُوهُمْ فَلْيَسْتَجِيبُواْ لَكُمْ إِن كُنتُمْ صَادِقِينَ﴾ (الأعراف : 194 )

ความว่า : “แท้จริง บรรดาผู้ที่พวกเจ้าวิงวอนขออื่นจากอัลลอฮฺนั้น คือ ผู้ที่เป็นบ่าวเยี่ยงพวกเจ้านั่นเอง ดังนั้น จงวิงวอนขอต่อพวกเขาสิแล้วจงให้พวกเขาตอบรับพวกเจ้าด้วยหากพวกเจ้าเป็นผู้พูดจริง” (อัล-อะอฺรอฟ 194)

 

อิสลามสนับสนุนให้เราผูกพันกับอัลลอฮฺโดยตรงโดยไม่มีสื่อกลางช่วย เป็นการผูกพันที่ยืนบนรากฐานเเห่งอีมาน(การศรัทธา)และการมอบตัวอย่างบริสุทธิ์ใจในทุกเรื่อง อาทิเช่น การขอความช่วยเหลือ การขอไถ่โทษ ใครที่มีบาปเขาก็จงยกมือวิงวอนขอต่ออัลลอฮฺ เรียกร้องต่อพระองค์อย่างจริงจัง ขอความกรุณาให้พระองค์ปลดบาปให้ไม่ว่าบ่าวจะอยู่ที่ไหนหรือในสถานการณ์ใดก็ตาม อัลลอฮฺตรัสในคัมภีร์อัลกุรอานว่า

﴿وَمَن يَعْمَلْ سُوءاً أَوْ يَظْلِمْ نَفْسَهُ ثُمَّ يَسْتَغْفِرِ الله يَجِدِ اللهَ غَفُوراً رَّحِيماً﴾ (النساء : 110 )َ

ความว่า : “และผู้ใดที่กระทำความชั่วหรืออธรรมแก่ตัวเอง แล้วเขาขออภัยโทษต่ออัลลอฮฺ เขาก็จะพบว่าอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงอภัยโทษเป็นผู้ทรงเมตตายิ่ง” (อัน-นิสาอ์ 110)

 

ดังนั้น ในอิสลามจึงไม่มีคนที่เรียกว่า (ริญาลุดดีน) หรือเจ้าแห่งศาสนาที่คอยให้การอนุมัติหรือห้าม หรือปลดบาป โดยตั้งตัวเองว่าเป็นทูตแทนพระเจ้า คอยแต่งบทบัญญัติให้ผู้คน หรือคิดค้นหลักศรัทธาขึ้นมา หรือคอยปลดบาปให้พวกเขา หรือให้สิทธิแก่คนเข้าสวรรค์ตามใจชอบ หรือออกคำสั่งห้ามใครก็ได้ที่พวกเขาต้องการ เพราะอิสลามถือว่าผู้มีสิทธิในการออกบัญญัติคือพระองค์อัลลอฮฺเพียงผู้เดียวเท่านั้น

ท่านศาสนทูตมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวในขณะที่ท่านอธิบายโองการอัลลอฮฺที่ว่า

﴿اتَّخَذُواْ أَحْبَارَهُمْ وَرُهْبَانَهُم أَرْبَاباً مِّن دُونِ اللهِ﴾ (التوبة : 31 )ْ

ความว่า : “พวกเขาได้ยึดเอาบรรดานักปราชญ์ของพวกเขาและบรรดาบาดหลวงของพวกเขาเป็นพระเจ้าอื่นจากอัลลอฮฺ” (อัต-เตาบะฮฺ 31)

           

ท่านศาสนทูตกล่าวว่า

“พึงรู้เถิดว่า แท้จริง พวกเขาไม่ได้เคารพบูชาบุคคลเหล่านั้นหรอก แต่เมื่อใดที่บุคคลเหล่านั้นอนุมัติสิ่งหนึ่งสิ่งใดพวกเขาก็จะตาม และเมื่อใดที่บุคคลเหล่านั้นห้ามสิ่งหนึ่งสิ่งใดพวกเขาก็ทำตามเช่นกัน” (ดู สุนัน อัต-ติรมีซีย์ 5/278 เลขที่ 3095)

 

موضوعات متعلقة ( 1 )
Go to the Top