صوم يوم الشك
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ
การถือศีลอดในวันที่ไม่แน่ใจว่าเป็นเดือนเราะมะฎอน
ถาม ในคืนที่สามสิบเดือนชะอฺบาน เราได้ออกไปดูจันทร์เสี้ยว แต่บรรยากาศอึมครึมมีเมฆบดบังเป็นผลให้เราไม่เห็นจันทร์ เราสามารถที่จะถือศีลอดในวันที่สามสิบนั้นได้หรือไม่ เพราะมันเป็นวันที่เราไม่แน่ใจ(ว่าเข้าเดือนเราะมะฎอนแล้วหรือไม่)?
ตอบ อัลหัมดุลิลลาฮฺ
นี่คือสิ่งที่เราเรียกว่า “เยามุชชักก์” คือ วันที่ไม่แน่ใจ เพราะเป็นวันที่เราไม่แน่ใจว่าเป็นวันสุดท้ายของเดือนชะอฺบานหรือเป็นวันแรกของเดือนเราะมะฎอนกันแน่ การถือศีลอดในวันนี้เป็นสิ่งที่ไม่อนุญาตให้ทำ เพราะท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า
«صوموا لرؤيته وأفطروا لرؤيته فإن غُبِّيَ ( أي خفي ) عليكم فأكملوا عدة شعبان ثلاثين» رواه البخاري (1909)
ความว่า “จงถือศีลอดด้วยการเห็นจันทร์เสี้ยว และจงออกจากการถือศีลอดด้วยการเห็นจันทร์เสี้ยว แต่ถ้าหากมันไม่ปรากฏให้เห็นแก่พวกท่าน ก็จงนับจำนวนเดือนชะอฺบานให้ครบสามสิบวัน” (บันทึกโดยอัลบุคอรีย์ 1909)
อัมมารฺ บิน ยาสิรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา ได้กล่าวว่า ใครที่ถือศีลอดในวันที่ไม่แน่ใจ แท้จริงแสดงว่าเขาไม่ได้เชื่อฟังต่อท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม (บันทึกโดยอัต-ติรมิซีย์ และ อัล-อัลบานีย์ ได้วินิจฉัยว่าเศาะฮีหฺ ใน เศาะฮีหฺ อัต-ติรมิซีย์ 553)
อิบนุ หะญัรฺ ได้กล่าวว่า รายงานดังกล่าวนี้ใช้เป็นหลักฐานว่าห้ามไม่ให้ถือศีลอดในวันที่ไม่แน่ใจ เพราะเศาะหาบะฮฺจะไม่พูดออกมาด้วยความเห็นส่วนตัว ดังนั้นรายงานนี้จึงอยู่ในฐานะที่ถูกอ้างถึงท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม
นักวิชาการของหน่วยงานถาวรเพื่อการฟัตวาแห่งราชอาณาจักรซาอุดีฯ ได้กล่าวว่า “หลักฐานจากซุนนะฮฺชี้ให้เห็นว่า ห้ามไม่ให้ถือศีลอดในวันที่ไม่แน่ใจ (เยามุชชักก์)” (ดู ฟัตวาของหน่วยงานฯ 10/117)
ท่านเชค มุหัมมัด ศอลิห์ อัล-อุษัยมีน ได้กล่าวหลังจากพูดถึงความเห็นขัดแย้งในเรื่องการถือศีลอดในวันที่ไม่แน่ใจว่า “ความเห็นที่ถูกต้องที่สุด คือ ห้ามไม่ให้ถือศีลอดในวันที่ไม่แน่ใจ แต่ว่า ถ้าหากมีการยืนยันจากผู้นำและมีประกาศให้ผู้คนถือศีลอดในวันดังกล่าว ก็ต้องไม่ทำลายคำสั่งนั้น การไม่ทำลายคำสั่งดังกล่าวคือการไม่แสดงออกอย่างประเจิดประเจ้อว่าตนไม่ถือศีลอด แต่ให้ปกปิดการไม่ถือศีลอดนั้นอย่างลับๆ (คือไม่ต้องถือศีลอด แต่ให้กินและดื่มในที่ลับโดยไม่ประเจิดประเจ้อต่อหน้าคนอื่น)” (ดู อัช-ชัรหุล มุมติอฺ 6/318)
จากเว็บ อิสลามถามตอบ
islamqa.info ฟัตวาหมายเลข 13711