Sünnet Nedir?
ในซูเราะฮฺ อัลอันอาม อายะฮฺที่ 153 อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ว่า
(وَأَنَّ هَذَا صِرَاطِي مُسْتَقِيماً فَاتَّبِعُوهُ وَلا تَتَّبِعُوا السُّبُلَ فَتَفَرَّقَ بِكُمْ عَنْ سَبِيلِهِ ذَلِكُمْ وَصَّاكُمْ بِهِ لَعَلَّكُمْ تَتَّقُونَ) (سورة الأنعام: 153)
ความว่า “และแท้จริงนี่คือทางของข้าอันเที่ยงตรง พวกเจ้าจงปฏิบัติตามมันเถิด และอย่าปฏิบัติตามหลายๆ ทาง เพราะมันจะทำให้พวกเจ้าแยกออกไปจากทางของพระองค์ นั่นแหละที่พระองค์ได้สั่งเสียมันไว้แก่พวกเจ้า เพื่อพวกเจ้าจะได้ยำเกรง”
ด้วยคำสั่งของอัลลอฮฺ ที่ระบุข้างต้น มนุษย์ทุกคนมีหน้าที่ต้องแสวงหาแนวทางอันเที่ยงตรง ( الصِّراطُ المُستَقِيم - อัศศิรอฏุ้ลมุสตะกีม) ที่อัลลอฮฺทรงใช้ให้มนุษย์ยืนหยัดไว้ เพราะเป็นความสำเร็จทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
แต่เมื่อมนุษย์ทุกคนค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับแนวทางอันเที่ยงตรงของอัลลอฮฺแล้ว ต้องมีคำถามที่จะเกิดขึ้น คือ จะรู้ได้อย่างไรว่าแนวทางนั้นคือแนวทางอันเที่ยงตรงของอัลลอฮฺ ? คำตอบก็อยู่ในอัลกุรอานเช่นกัน ในซูเราะฮฺ อัลฟาติหะฮฺ อายะฮฺที่ 6-7 อัลลอฮฺมีพระดำรัสว่า
(اهْدِنَا الصِّرَاطَ الْمُسْتَقِيمَ، صِرَاطَ الَّذِينَ أَنْعَمْتَ عَلَيْهِمْ غَيْرِ الْمَغْضُوبِ عَلَيْهِمْ وَلا الضَّالِّينَ) (سورة الفاتحة: 7)
ความว่า “ขอพระองค์ทรงแนะนำพวกข้าพระองค์ซึ่งทางอันเที่ยงตรงคือทางของบรรดาผู้ที่พระองค์ได้ทรงโปรดปรานแก่พวกเขา”
นั่นคือลักษณะแห่งแนวทางอันเที่ยงตรงของอัลลอฮฺ คือทางที่ได้รับความโปรดปรานจากพระองค์ แต่ลักษณะเพียงเท่านี้อาจไม่ชัดเจนพอสำหรับผู้ที่แสวงหา อัศศิรอฏอัลมุสตะกีม จึงต้องค้นหาในอัลกุรอานซึ่งลักษณะที่ชัดแจ้งสำหรับแนวทางอันเที่ยงตรงของอัลลอฮฺ คืออายะฮฺที่พระองค์ตรัสไว้ใน ซูเราะฮฺ อันนิซาอ์ อายะฮฺที่ 69
(وَمَنْ يُطِعِ اللَّهَ وَالرَّسُولَ فَأُولَئِكَ مَعَ الَّذِينَ أَنْعَمَ اللَّهُ عَلَيْهِمْ مِنَ النَّبِيِّينَ وَالصِّدِّيقِينَ وَالشُّهَدَاءِ وَالصَّالِحِينَ وَحَسُنَ أُولَئِكَ رَفِيقاً) (سورة النساء: 69)
ความว่า “และผู้ใดที่เชื่อฟังอัลลอฮฺและร่อซูลแล้ว ชนเหล่านี้จะอยู่ร่วมกับบรรดาผู้ที่อัลลอฮฺทรงโปรดปรานแก่พวกเขา อันได้แก่ บรรดานบี บรรดาผู้ที่เชื่อโดยดุษฎี บรรดาผู้ที่เสียชีวิตในหนทางของอัลลอฮฺ และบรรดาผู้ที่ประพฤติดี และชนเหล่านี้แหละเป็นเพื่อนที่ดี”
เมื่อเป็นที่ประจักษ์แจ้งสำหรับลักษณะแห่งแนวทางอันเที่ยงตรงของอัลลอฮฺแล้ว จึงต้องมีแนวทางเดียว ซึ่งเป็นแนวทางที่อัลลอฮฺทรงมอบให้เราศึกษาค้นหา ปฏิบัติตาม และยืนหยัด นั่นคือแนวทางของท่านนบี มุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ดังนั้นในภาษาอาหรับจะเรียกแนวทางของท่านนบีว่า “السنة - อัซซุนนะฮฺ” เพราะเป็นคำที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม มักจะใช้บ่อยครั้งในคำสั่งสอนของท่าน เช่น ในฮะดีษศ่อฮี้ฮฺที่บันทึกโดยอิมามอะหมัด, อัตติรมีซีย์, อบู ดาวูด และอิบนุ มาญะฮฺ ซึ่งท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า “พวกท่านทั้งหลายจงยึดมั่นในแนวทางของฉัน ( سُنَّتِي ) และแนวทางของผู้นำที่อยู่ในแนวทางอันเที่ยงธรรมของฉัน(อัลคุละฟาอุ้ลรอชิดูน)ที่จะมาหลังฉัน จงเคร่งครัดในการยึดมั่นบนแนวทางนั้น จงกัดมันด้วยฟันกราม(คืออย่าละทิ้งเป็นอันขาด) และจงหลีกให้พ้นจากอุตริกรรมในกิจการของศาสนา เพราะทุกอุตริกรรมในกิจการศาสนานั้นเป็นการหลงผิด”
หลักฐานต่างๆข้างต้น เป็นพระกำหนดจากอัลลอฮฺและร่อซูล เกี่ยวกับแนวทางที่เราต้องยึดมั่น หากคนหนึ่งคนใดมีความสงสัยหรือคลางแคลงใจว่า ทำไมต้องยึดมั่นในแนวทางของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เท่านั้น ? และ ทางที่เที่ยงตรงจะไม่ปรากฏเว้นแต่ด้วยท่านนบีกระนั้นหรือ ? คำตอบคือ การที่เราใช้การพินิจพิจารณาด้วยสติปัญญาอันบริสุทธิ์ปราศจากโรคแห่งการบิดพลิ้ว (النِّفَاق) เราจึงต้องเข้าใจว่า การเป็นบ่าวของอัลลอฮฺนั้นจะต้องมีคุณสมบัติประการสำคัญที่สุดคือ การเชื่อฟังต่อพระบัญชาของอัลลอฮฺ ในเมื่ออัลลอฮฺทรงมอบศาสนทูตจากพระองค์ เพื่อทำหน้าที่เผยแผ่พระบัญชาของพระองค์นั้น เป็นความจำเป็นที่ต้องเข้าใจว่า การเชื่อฟังศาสนทูตของพระองค์ก็คือการเชื่อฟังในพระบัญชาของอัลลอฮฺนั่นเอง ดังดำรัสของพระองค์ในซูเราะฮฺ อันนิซาอ์ อายะฮฺ 80
(مَنْ يُطِعِ الرَّسُولَ فَقَدْ أَطَاعَ اللَّهَ ) (سورة النساء: من الآية 80)
ความว่า “ผู้ใดเชื่อฟังร่อซูล แน่นอนเขาก็เชื่อฟังอัลลอฮฺแล้ว”
และในหลายอายะฮฺได้สั่งใช้ให้เราเชื่อฟังอัลลอฮฺ พร้อมทั้งร่อซูลของพระองค์ เช่น อายะฮฺที่ 59 ในซูเราะฮฺ อันนิซาอ์
(يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا أَطِيعُوا اللَّهَ وَأَطِيعُوا الرَّسُولَ وَأُولِي الْأَمْرِ مِنْكُمْ ) (سورة النساء: من الآية 59)
ความว่า “โอ้ศรัทธาชนทั้งหลาย พวกท่านจงเชื่อฟังอัลลอฮฺ เชื่อฟังร่อซูล และผู้นำในหมู่พวกท่านเถิด”
และในอายะฮฺที่ 1 ของซูเราะฮฺ อัลหุญุร้อต อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ว่า
(يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا لا تُقَدِّمُوا بَيْنَ يَدَيِ اللَّهِ وَرَسُولِهِ ) (سورة الحجرات: من الآية 1)
มีความหมายว่า “โอ้ศรัทธาชนทั้งหลาย พวกเจ้าอย่าได้ล้ำหน้า(ในการกระทำใดๆ) เมื่ออยู่ต่อหน้าอัลลอฮฺและร่อซูลของพระองค์”
ฉะนั้นแล้ว การที่มุอ์มินผู้ศรัทธาเชื่อมั่นในแนวทางของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม นั่นก็หมายถึง เขาเชื่อมั่นในแนวทางของอัลลอฮฺนั่นเอง จึงจะแยกแนวทางของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จากแนวทางของอัลลอฮฺมิได้เป็นอันขาด จากเหตุผลนี้เรายืนยันได้ว่า คำว่า “อัซซุนนะฮฺ” ก็หมายถึงศาสนาอิสลามนั่นเอง มิใช่นิกาย หรือกลุ่มชน หรือแนวทางอันประหลาด หรือทฤษฎีส่วนตัว หรือทรรศนะของนักปราชญ์ใดๆ ทั้งสิ้น
ดังนั้น อัซซุนนะฮฺจึงเป็นสัญลักษณ์ของผู้ที่อนุรักษ์หลักการของอิสลามให้คงอยู่เหมือนดั้งเดิม โดยไม่ยอมให้อุตริกรรม ประเพณี วัฒนธรรม แนวคิด หรือการปฏิรูปในรูปแบบใดก็ตาม มาทำลายความสมบูรณ์ของคำสั่งสอนที่มีอยู่ในศาสนาอิสลาม
เพราะฉะนั้นจะสังเกตได้ว่าผู้ที่เคร่งครัดในแนวทางอัซซุนนะฮฺ จะไม่ยอมกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ถือว่าเป็นศาสนกิจ เว้นแต่ต้องมีบทบัญญัติระบุไว้ในอัลกุรอาน หรือบทฮะดีษศ่อฮี้ฮฺ(ถูกต้อง)จากท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม
แนวทางอัซซุนนะฮฺนี้มิใช่โลโก้ของกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดหรือนิกายหนึ่งนิกายใดในประชาชาติอิสลาม นอกจากคือแนวทางของผู้ที่เชื่อมั่นในมาตรฐานที่ระบุไว้ข้างต้น โดยไม่มีความตระหนักในหลักการอันศักดิ์สิทธิ์ใดๆ นอกจากหลักการที่ได้รับการวินิจฉัยในอัลกุรอานและซุนนะฮฺของนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เท่านั้น และไม่มีใครที่สามารถสงวนลิขสิทธิ์ “อัซซุนนะฮฺ” เป็นเครื่องหมายส่วนตัว ชื่อสถาบัน หรือผลงานของบุคคลหรือองค์กรใดๆก็ตาม หากถือว่าทางอันเที่ยงธรรมนี้เป็นทางสาธารณะสำหรับประชาชาติอิสลามทั้งปวงให้แสวงหาและยืนหยัดโดยไม่มีผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ผู้รับรองรับประกัน หรือผู้ประทับตรา นอกจากจะต้องมีคุณสมบัติของบรรดาผู้เลียนแบบและปฏิบัติตามรอยเท้าของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เท่านั้น
ในสังคมปัจจุบัน คำว่า “อัซซุนนะฮฺ” ถูกบิดเบือนและถูกทำลาย จนทำให้บรรดามุสลิมีนและมุสลิมาตมีความเข้าใจต่อความหมายของอัซซุนนะฮฺไม่ถูกต้องจากคำเผยแผ่ สั่งสอน และเรียกร้องของบางคนที่อ้างตนว่าอยู่ในแนวทางอัซซุนนะฮฺ
จึงมีความจำเป็นที่จะต้องขจัดความเข้าใจผิดเหล่านั้น โดยนำบรรทัดฐานจากอัลกุรอานและซุนนะฮฺมาฟื้นฟูความหมายอันบริสุทธิ์ของคำว่า “อัซซุนนะฮฺ” ซึ่งเป็นภารกิจอันยิ่งใหญ่ที่ต้องการการสนับสนุนจากพี่น้องผู้มีความห่วงใยหลักการ คือกิตาบุลลอฮฺและซุนนะฮฺของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม
ความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องต่อคำว่า “อัซซุนนะฮฺ“ นั้นถูกสะสมมานานพอสมควร โดยการผูกพันระหว่างพฤติกรรมของโต๊ะครูหรือผู้รู้ที่ยึดมั่นในแนวทางอัซซุนนะฮฺกับบรรทัดฐานของแนวทางอัซซุนนะฮฺที่แท้จริงเข้าไว้ด้วยกัน จึงทำให้เกิดความสับสนในมาตรฐานของอัซซุนนะฮฺ อาทิเช่น การเข้าใจว่าอัซซุนนะฮฺคือการไม่ศ่อละวาตเสียงดังพร้อมเพรียงกันหลังละหมาดฟัรฎู หรือการไม่ทำบุญคนตาย หรือไม่มีกิจกรรมที่เป็นบิดอะฮฺ หรือไม่เกี่ยวข้องกับกลุ่มที่มีแนวกระทำบิดอะฮฺต่างๆ เท่านั้น
นอกจากนี้ยังมีบางคนที่คิดเอาเองว่า แนวทางอัซซุนนะฮฺนี้อาจเป็นแนวทางที่ยึดโดยกำเนิด โดยไม่จำเป็นต้องมีคุณสมบัติดังที่ระบุข้างต้น หรือบางคนอาจจะเชื่อว่าการฟังการบรรยายโต๊ะครูซุนนะฮฺคนหนึ่งคนใดก็ถือว่าเป็นการรับรองว่าตนเองอยู่ในแนวซุนนะฮฺแล้ว หรืออาจจะเข้าใจว่าการละหมาด ณ มัสยิดซุนนะฮฺ ก็ถือเป็นการประทับตราว่าตนเองอยู่ในกรอบซุนนะฮฺแล้ว แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ !
เพราะแนวทางอัซซุนนะฮฺนั้นคือ ชีวิตของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติศาสนกิจ จริยธรรม ศีลธรรม คุณธรรม แม้กระทั่งกิริยามารยาทของท่าน ผู้ใดปฏิบัติแค่ไหนจากชีวิตของท่าน ก็ถือว่าเป็นซุนนะฮฺแค่นั้น
นอกจากนั้นความหมายของ “อัซซุนนะฮฺ” ยังจำเป็นต้องนำมาจากคำแนะนำของบรรดากัลยาณชนยุคแรก (อัสสะละฟุศศอและฮฺ) ซึ่งมีบรรดาศ่อฮาบะฮฺและบรรดาตาบิอีนเป็นยุคบรรพชนที่มีความรู้อย่างหนักแน่นและมั่นคงในซุนนะฮฺของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จึงเป็นที่ยอมรับสำหรับนักปราชญ์อิสลาม (อุละมาอ์) ทั้งปวงว่า มติเอกฉันท์ของบรรดากัลยาณชนยุคแรกนี้ ถือว่าเป็นหลักฐานที่ใช้ในการวินิจฉัยปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวกับศาสนาได้
ดังนั้น เราจะมีคลังแห่งธรรมะ ศีลธรรม จริยธรรม ศาสนกิจ และความรู้ที่สามารถนำมาใช้เป็นบรรทัดฐานในการทำความเข้าใจ “อัซซุนนะฮฺของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม” ซึ่งคลังนั้นก็คือ مَنهَجُ السَّلَفُ الصَّالِح หมายถึงหลักสูตรของสะละฟุศศอและฮฺ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญและประพฤติตนเคร่งครัดในหลักการของศาสนา ดังที่เราได้ศึกษาและเป็นที่รู้กันอย่างดีประวัติศาสตร์อิสลาม
ถึงแม้ว่าแนวทางอัซซุนนะฮฺของท่าน นบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จะตำหนิติเตียน ตักเตือน ชี้แนะ หรือแก้ไข ความเข้าใจและทรรศนะที่ขัดกับหลักการศาสนาอันเที่ยงตรงนั้น แต่แนวทางอัซซุนนะฮฺของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จะมีความตระหนักมากในความเป็นประชาชาติเดียวกัน อันเป็นคำสั่งเสียที่อัลลอฮฺทรงใช้ให้เราอนุรักษ์ไว้อย่างเหนียวแน่น ดังดำรัสของพระองค์ในซูเราะฮฺ อัลอัมบิยาอ์ อายะฮฺที่ 92 ที่ว่า
(إِنَّ هَذِهِ أُمَّتُكُمْ أُمَّةً وَاحِدَةً وَأَنَا رَبُّكُمْ فَاعْبُدُونِ) (سورة الأنبياء: 92)
ความว่า “แท้จริง นี่คือประชาชาติของพวกเจ้า ซึ่งเป็นประชาชาติเดียวกัน และข้าเป็นพระเจ้าของพวกเจ้า ดังนั้นพวกเจ้าจงเคารพภักดีข้าเถิด”
พระดำรัสนี้เป็นมาตรการที่มีความสำคัญมากในสังคมมุสลิม จึงต้องยึดเป็นมาตรการในการเผยแผ่ศาสนาและซุนนะฮฺของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เพราะมุสลิมนั้นจะไม่ยึดพี่น้องมุสลิมของเขาเป็นศัตรูอย่างเด็ดขาด ถึงแม้ว่าจะมีความขัดแย้งหรือการโต้เถียงกัน ก็ยังยึดถือในความเป็นพี่น้องกัน
นี่คือหลักสำคัญในการรักษาสภาพ “ความเป็นประชาชาติเดียวกัน” อันเป็นวิถีทางที่อัลกุรอานได้แนะนำไว้ในอายะฮฺที่ 10 ของซูเราะฮฺ อัลหุญุร้อต ซึ่งอัลลอฮฺตรัสไว้ว่า
(إِنَّمَا الْمُؤْمِنُونَ إِخْوَةٌ فَأَصْلِحُوا بَيْنَ أَخَوَيْكُمْ وَاتَّقُوا اللَّهَ لَعَلَّكُمْ تُرْحَمُونَ) (سورة الحجرات: 10)
ความว่า “แท้จริงบรรดาผู้ศรัทธานั้นเป็นพี่น้องกัน ดังนั้นพวกเจ้าจงไกล่เกลี่ยประนีประนอมกันระหว่างพี่น้องทั้งสองฝ่ายของพวกเจ้า และจงยำเกรงอัลลอฮฺเถิด เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้รับความเมตตา”
แม้กระทั่งกรณีที่เกิดความขัดแย้งกัน ก็มีมาตรการที่อัลกุรอานแนะนำให้ปฏิบัติเป็นทางออก และเป็นแนวทางในการแก้ไขความขัดแย้ง ซึ่งระบุไว้ในซูเราะฮฺ อันนิซาอ์ อายะฮฺที่ 59 ซึ่ง อัลลอฮฺตรัสไว้ว่า
( فَإِنْ تَنَازَعْتُمْ فِي شَيْءٍ فَرُدُّوهُ إِلَى اللَّهِ وَالرَّسُولِ إِنْ كُنْتُمْ تُؤْمِنُونَ بِاللَّهِ وَالْيَوْمِ الْآخِرِ ذَلِكَ خَيْرٌ وَأَحْسَنُ تَأْوِيلاً) (سورة النساء: من الآية 59)
ความว่า “ถ้าพวกเจ้าขัดแย้งกันในเรื่องใด ก็จงนำเรื่องนั้นกลับไปยังอัลลอฮฺและร่อซูล หากพวกเจ้าศรัทธาต่ออัลลอฮฺและวันปรโลก นั่นแหละเป็นสิ่งที่ดียิ่ง และเป็นการกลับที่สวยงามยิ่ง”