Duanın Anlamı ve Çeşitleri

Makaleler Materyal hakkında bilgi
Adres: Duanın Anlamı ve Çeşitleri
Dil: Taylandça
Yazan: Sâfî Osman
Kısa Tanım: Duanın anlamı ve çeşitleri konusunda kısa ve öz açıklamadır.
Eklenme tarihi: 2008-07-08
Kısa link: http://IslamHouse.com/161059
Bu başlık, aşağıdaki konulara göre sınıflandırılmıştır:
Bu kart aşağıdaki dillere çevrilmiştir: Taylandça - Arapça - Bengalce - Malayalam - Boşnakça - Özbekçe - İngilizce
Ayrıntılı bilgi

ความหมายของดุอาอ์

ในทางรากศัพท์ ดุอาอ์ دعاء หมายถึง การขอ การวิงวอน การเรียก (ดูอ้างอิง 1-3)

ส่วนความหมายของมันในทางศาสนบัญญัตินั้นหมายถึง การวิงวอนของจากอัลลอฮฺ รวมถึงการสรรเสริญและสดุดีพระองค์ (อ้างอิง 3)

นอกจากนี้ยังมีผู้ให้ความหมายอื่นอีก แต่ทั้งนี้ลักษณะการให้ความหมายมีความคล้ายกัน เช่น

1.การแสดงความปรารถนาต่ออัลลอฮฺ

2.การขอความช่วยเหลือจากอัลลอฮฺ

3.การแสดงตนว่าต้องพึ่งอัลลอฮฺ ไม่แสดงทิฐิ สำนึกในความเป็นมนุษย์ที่ต่ำต้อย และยอมรับในความประเสริฐอันมหาศาลของอัลลอฮฺ ด้วยการสรรเสริญพระองค์

4.การขอสิ่งที่เป็นประโยชน์ และให้พ้นจากสิ่งที่เป็นพิษภัย

5.การนอบน้อมวิงวอนต่ออัลลอฮฺ และมอบตนต่อหน้าพระองค์ เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ปรารถนาและให้ปลอดภัยจากสิ่งที่ไม่ประสงค์ (อ้างอิง 2)

ประเภทของดุอาอ์

บรรดาอุละมาอฺได้แบ่งดุอาอ์ไว้สองประเภทด้วยกัน (อ้างอิง 1-3)

1.ดุอาอ์ อิบาดะฮฺ นั่นคือ การขอด้วยการภักดี

2.ดุอาอ์มัสอะละฮฺ นั่นคือ การขอด้วยการกล่าววิงวอน

ประเภทที่ 1 ดุอาอ์ อิบาดะฮฺ นั่นคือการเรียกร้องผลบุญจากอัลลอฮฺ ด้วยการปฏิบัติความดีต่างๆ ทั้งที่เป็นภารกิจบังคับหรือภารกิจที่ให้เลือกทำโดยเสรี เช่น การกล่าวปฏิญาณ(ชะฮาดะฮฺ) และทำตามเงื่อนไขต่างๆ ของมัน การละหมาด การถือศีลอด การจ่ายซะกาต การทำฮัจญ์ การเชือดสัตว์พลี การบนบานต่ออัลลอฮฺ ฯลฯ เพราะแก่นแท้ของการปฏิบัติความดีเหล่านี้ก็คือการหวังให้อัลลอฮฺทรงตอบแทน นั่นก็คือการขอจากพระองค์นั่นเอง ถึงแม้จะไม่ได้เปล่งด้วยวาจา แต่ภาษาของการกระทำได้แสดงการขอและวิงวอนจากอัลลอฮฺแล้ว เช่นนี้จึงถือว่าการงานทุกอย่างที่เราปฏิบัติด้วยความหวังในผลตอบแทนจากผู้ทรงตอบแทนได้ดีที่สุด หรือทำเพราะยำเกรงต่ออำนาจและการลงโทษขององค์ผู้อภิบาล ย่อมเรียกได้ว่าเป็น ดุอาอ์ นั่นคือ ดุอาอ์ อิบาดะฮฺ (อ้างอิง 3)

ดุอาอ์ประเภทนี้ไม่ค่อยเป็นที่เข้าใจกันในคนส่วนใหญ่ เพราะทุกครั้งที่เราพูดถึงดุอาอ์ เรามักจะคิดถึงเฉพาะ ดุอาอ์ ที่เป็นการของด้วยการกล่าววิงวอน และไม่เคยคิดว่าทุกๆ อิบาดะฮฺของเราก็เป็นดุอาอ์ (อ้างอิง 2)

การแยกให้มีดุอาอ์อิบาดะฮฺ เป็นการยกอ้างมาจากดำรัสของอัลลอฮฺใน สูเราะฮฺ อัล-ฟุรกอน อายะฮฺสุดท้ายว่า

قل ما يعبأ بكم ربي لولا دعاؤكم فقد كذبتم فسوف يكون لزاما

ความว่า  จงกล่าวเถิด(มุหัมมัด) พระผู้เป็นเจ้าของฉันจะไม่ใยดีต่อพวกท่าน หากไม่มีการวิงวอนภักดีของพวกท่าน เพราะพวกท่านได้ปฏิเสธไม่รับฟัง ดังนั้นการลงโทษจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

คำว่าดุอาอ์ ที่ทรงกล่าวถึงในอายะฮฺข้างต้น ได้มีผู้อธิบายด้วยว่า ความหมายของมันก็คือ การอิบาดะฮฺ นั่นเอง (มุคตะศ็อรฺ ตัฟสีรฺ อัล-บะฆอวีย์ 2/667)

ดังนั้นจึงมีผู้กล่าวว่า ความหมายของอายะฮฺดังกล่าวได้รวมเอาทั้งดุอาอ์อิบดะฮฺและดุอาอ์มัสอะละฮฺ ทั้งสองประเภทไว้ด้วยกันแล้ว (อ้างอิง 1)

ประเภทที่ 2 ดุอาอ์มัสอะละฮฺ นั่นคือการดุอาอ์ในรูปแบบของการขอ วิงวอนในสิ่งที่เป็นคุณแก่ผู้ขอ หรือขจัดภัยจากเขา รวมทั้งการขอในสิ่งตนต้องการ (อ้างอิง 3)

สรุปแล้ว ดุอาอ์มัสอะละฮฺ คือการดุอาอ์ทั่วๆ ไปตามที่เราถือปฏิบัติและตามที่คนส่วนใหญ่เข้าใจกันนั่นเอง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ดุอาอ์ทั้งสองประเภทอาจจะใช้การอธิบายรวมๆ กันได้ เพราะตามที่เราทราบมาแล้วว่า ทุกๆ อิบาะฮฺของเราคือการดุอาอ์ ส่วนตัวดุอาอ์เอง ก็ถือเป็นอิบาดะฮฺ ดังที่มีในหะดีษของท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ว่า

الدعاء هو العبادة

ความว่า  ดุอาอ์ นั้นคือ อิบาดะฮฺ

เมื่อความจริงเป็นเช่นนี้ จึงมิควรที่เราจะเพิกเฉยหรือรู้สึกเหนื่อยหน่ายต่อการปฏิบัติตนในกรอบของอิบาดะฮฺ เพราะนั่นย่อมหมายถึงทุกเวลาเราอยู่ในสภาพผู้ที่กำลังวิงวอนต่ออัลลอฮฺ และใกล้ชิดพระองค์ แม้ในอิริยาบทปกติและกิจกรรมประจำวันทั่วไป ทั้งนี้งานที่เราทำนั้นจะต้องอยู่ในกรอบความหมายรวมของอิบาดะฮฺ อันหมายถึงการทำในสิ่งที่อัลลอฮฺทรงพอใจและงดเว้นสิ่งที่พระองค์ทรงห้าม

วัลลอฮฺ อะอฺลัม

อ้างอิง

1. อบูซัยด์, บักรฺ อับดุลลอฮฺ. ตัศฮีหฺ อัด-ดุอาอ์

2. อัล-หัมด์, มุหัมมัด บิน อิบรอฮีม. อัด-ดุอาอ์ มัฟฮูมุฮุ อะหฺกามุฮุ อัคฏออ์ ตะเกาะอุ ฟีฮิ

3. อัล-เกาะห์ฏอนีย์, สะอีด อะลี วะฮฺฟ์. ชุรูฏ อัด-ดุอาอ์ วะ มะวานิอฺ อัล-อิญาบะฮฺ

Go to the Top