Ҳавойи нафсни енгиш

Мақолалар Маълумотлар
Унвон: Ҳавойи нафсни енгиш
тил: Тайланд тили
Таҳрир: Софий Умон
Киритилган вақт: 2008-04-11
Линк: http://IslamHouse.com/106948
Ушбу тема қуйидаги қисмлар орасида мавзуга кўра қўйилган
Бу малумот ушбу тилларда таржима қилинган: Тайланд тили - Араб тили - Бангал тили - Малаялам тили - Босния тили - Инглиз тили - Турк тили
Тафсилий намуна

มนุษย์มีความแตกต่างกันทั้งทางด้านรูปพรรณและสติปัญญา รวมทั้งอารมณ์และความรู้สึกนึกคิดทางจิตใจ อารมณ์และจิตใจของมนุษย์นั้นเป็นแหล่งกำเนิดพฤติกรรมต่างๆ ของเขา คำพูดและการกระทำของมนุษย์มักจะเกี่ยวข้องกับความรู้สึกทางอารมณ์อย่างปฏิเสธไม่ได้

โดยทั่วไปแล้ว อารมณ์ของมนุษย์แบ่งออกเป็นสามระดับหรือสามประเภท ตามที่มีระบุในอัลกุรอาน ระดับล่างสุดเรียกว่า อัน-นัฟซุล อัมม่าเราะฮฺ อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ว่า

إِنَّ النَّفْسَ لأَمَّارَةٌ بِالسُّوءِ (سورة يوسف:53)

แท้จริงแล้วอารมณ์ชั้นต่ำ (อัน-นัฟซุล อัมม่าเราะฮฺ) นั้น คอยบงการแต่ความชั่ว (อัลกุรอาน สูเราะฮฺ ยูสุฟ: 53)

อารมณ์ระดับนี้เป็นความรู้สึกที่คอยกระซิบกระซาบให้มนุษย์กระทำผิด ด้วยการประพฤติตามใจตัวเอง ฝ่าฝืนคำสั่งอัลลอฮฺ และไม่สนใจปฏิบัติความดีงามที่พระองค์ทรงใช้ให้ทำ

อารมณ์ระดับกลางคือ อัน-นัฟซุล เลาว่ามะฮฺ เป็นอารมณ์ที่อยู่กึ่งกลางระหว่างความดีและความชั่ว คือโดยปกติแล้วก็จะควบคุมให้มนุษย์ปฏิบัติตามคำสั่งของอัลลอฮฺ แสดงความภักดีต่อพระองค์ รักษาตนจากการทำผิดบาป แต่ในบางครั้งก็พลั้งเผลอไม่สามารถควบคุมจิตใจให้ดีตลอดเวลา จึงพลาดทำผิดลงไป แต่หลังจากนั้นก็จะพยายามทำดีอีกครั้งเพื่อลบล้างความผิดนั้น และคอยกล่าวโทษตัวเองที่ไม่รู้จักป้องกันความพลั้งเผลอจนพลาดกระทำผิดบาป อัลลอฮฺได้ตรัสถึงอารมณ์ประเภทนี้ไว้ว่า

وَلاَ أُقْسِمُ بِالنَّفْسِ اللَّوَّامَةِ (سورة القيامة:2)

และขอสาบานด้วยอารมณ์ที่คอยกล่าวโทษ (อัน-นัฟซุล เลาว่ามะฮฺ) (อัลกุรอาน สูเราะฮฺ อัล-กิยามะฮฺ: 2)

อารมณ์ระดับสูงที่สุดคือ อัน-นัฟซุล มุ๊ฏมะอินนะฮฺ เป็นอารมณ์สงบเสงี่ยมที่สามารถควบคุมตัวเองให้ดำรงตนอยู่ในครรลองได้ตลอดเวลา ไม่ฝ่าฝืนคำสั่งของอัลลอฮฺ และไม่ตกเป็นทาสของอามรณ์ใฝ่ต่ำ มนุษย์ผู้เป็นเจ้าของอารมณ์ประเภทนี้จะได้เกียรติและผลตอบแทนที่ยิ่งใหญ่จากอัลลอฮฺ พระองค์ได้ตรัสไว้ว่า

يَا أَيَّتُهَا النَّفْسُ الْمُطْمَئِنَّةُ، ارْجِعِي إِلَى رَبِّكِ رَاضِيَةً مَّرْضِيَّةً، فَادْخُلِي فِي عِبَادِي، وَادْخُلِي جَنَّتِي (سورة الفجر:27-30) 

โอ้ จิตที่สงบนิ่ง (อัน-นัฟซุล มุ๊ฏมะอินนะฮฺ) เอ๋ย จงกลับไปยังพระผู้อภิบาลของเจ้าด้วยความพอใจและเป็นที่พอพระทัยเถิด แล้วจงเข้าไปเป็นหนึ่งในหมู่บ่าวของข้า และจงเข้าไปพำนักอยู่ในสวรรค์ของข้าเถิด (อัลกุรอาน   สูเราะฮฺ อัล-ฟัจรฺ: 27-30)

ผลตอบแทนของผู้ที่สามารถเอาชนะอารมณ์ใฝ่ต่ำได้ก็คือสวรรค์ เช่นที่อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ว่า

وَأَمَّا مَنْ خَافَ مَقَامَ رَبِّهِ وَنَهَى النَّفْسَ عَنِ الْهَوَى، فَإِنَّ الْجَنَّةَ هِيَ الْمَأْوَى (سورة النازعات:40-41)

และแม้นผู้ใดที่เกรงกลัวต่อสถานะของพระผู้เป็นเจ้า และได้หักห้ามตนจากอารมณ์ใฝ่ต่ำ แน่แท้ว่าสวรรค์นั้นคือที่พำนักของเขา (อัลกุรอาน สูเราะฮฺ อัน-นาซิอาต : 40-41)

เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะการทำตามอารมณ์ใฝ่ต่ำนั้นคือเส้นทางสู่นรก ในขณะที่เส้นทางสู่สวรรค์คือการต่อสู้กับความไม่พอใจของอารมณ์ เช่นที่ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวไว้ความว่า นรกถูกห้อมล้อมด้วยความอยากของตัณหา (คือบาปทั้งหลายที่เป็นการตามอารมณ์) ส่วนสวรรค์นั้นถูกห้อมล้อมด้วยสิ่งที่พวกเจ้าไม่ชอบ (นั่นคือการปฏิบัติตามคำสั่งของอัลลอฮฺ) (รายงานโดย อิบนุ หิบบาน)

ดังนั้นมุสลิมทุกคนจึงต้องศึกษาวิธีการเอาชนะอารมณ์ใฝ่ต่ำของตัวเอง ด้วยการสร้างความผูกพันกับอัลลอฮฺอยู่เสมอ เพื่อเป็นเกราะป้องกันไม่ให้ชัยฏอนเข้ามาอาศัยจุดอ่อนอารมณ์ของมนุษย์ในการล่อลวงเขา

- ข้อคิดที่ได้รับจากบทเรียน

1. อารมณ์และจิตใจของมนุษย์เป็นแหล่งกำเนิดของพฤติกรรมต่างๆ ทั้งในด้านดีและชั่ว

2.อารมณ์ใฝ่ต่ำ คืออารมณ์ที่คอยกระซิบกระซาบให้มนุษย์ทำแต่ความผิด

3.มุสลิมที่ทำพลาดพลั้งทำผิดในบางครั้ง ถือว่ามีอารมณ์ระดับกลาง นั่นคือ อัน-นัฟซุล เล๊าว่ามะฮฺ

4.อารมณ์ระดับสูงสุดคือจิตที่สงบหรือ อัน-นัฟซุล มุ๊ฏมะอินนะฮฺ เป็นระดับอารมณ์ที่อัลลอฮฺชื่นชมและเตรียมผลตอบแทนอันใหญ่หลวงไว้ให้

5.มุสลิมต้องพยายามเอาชนะอารมณ์ใฝ่ต่ำของตน เพราะการเอาชนะอารมณ์ให้ได้คือการต่อสู้เพื่อเส้นทางสู่ผลตอบแทนอันใหญ่หลวงในสวรรค์

- คำถามหลังบทเรียน

1.กรุณายกตัวอย่างพฤติกรรมที่เกิดจากอารมณ์ระดับล่าง(อัน-นัฟซุล อัมม่าเราะฮฺ) และอารมณ์ระดับกลาง(อัน-นัฟซุล เลาว่ามะฮฺ)?

2.ท่านคิดว่ามีวิธีใดบ้างเพื่อเอาชนะอารมณ์ใฝ่ต่ำของตัวเอง? กรุณาแสดงความคิดเห็น

3.ท่านเห็นด้วยหรือไม่ว่าการทำผิดบาปส่วนใหญ่มักสอดคล้องกับความอยากและตัณหา? เพราะเหตุใด?

Go to the Top