ക്ഷമ- സ്വര്‍ഗ്ഗത്തിലേക്കുള്ള പാത

ലേഖനങ്ങള്‍ ഇനം-വിവരണം
അഡ്രസ്സ്: ക്ഷമ- സ്വര്‍ഗ്ഗത്തിലേക്കുള്ള പാത
ഭാഷ: തായ്‌
എഴുതിയ വ്യക്തി: സ്വാഫി ഉസ്മാന്‍
പരിശോധകര്‍: സ്വാഫി ഉസ്മാന്‍
പ്രസാധകര്‍: ഇസ്’ലാമിക് കാള്‍ ആന്‍റ് ഗൈഡന്‍സ് സെന്‍റര്‍ - റബ്’വ
സംക്ഷിപ്തം: ക്ഷമയുടെ പ്രാധാന്യവും ശ്രേഷ്ഠതയും അതു കൊണ്ടുള്ള ഗുണങ്ങളും വിവരിക്കുന്നു.
ചേര്‍ത്ത തിയ്യതി: 2007-12-31
ബ്രീഫ് ലിങ്ക്: http://IslamHouse.com/70654
താഴെ വരുന്ന ഇനങ്ങള് വിഷയാടസ്ഥാനത്തില് ക്രമീകരിക്കപ്പെട്ടവ
താഴെ പറയുന്ന ഭാഷയിലേക്ക് ഈ കാര്ഢ് ഭാഷാന്തരം ചെയ്തിരിക്കുന്നു: തായ്‌ - അറബി - ബെങ്കാളി - ബോസ്നിയന്‍ - ഉസ്ബക്‌
കൂടെയുള്ള അറ്റാച്മെന്റ് ( 2 )
1.
สวรรค์ เส้นทางแห่งความอดทน
181.5 KB
: สวรรค์ เส้นทางแห่งความอดทน.pdf
2.
สวรรค์ เส้นทางแห่งความอดทน
318.5 KB
: สวรรค์ เส้นทางแห่งความอดทน.doc
സംക്ഷിപ്തങ്ങളുടെ വിവരണം

มีใครไม่เคยนึกจินตนาการถึงสวรรค์บ้าง?

สถานที่ที่เต็มไปด้วยความสุข วิมานเมฆ นางฟ้า เทวดา ดาวดึงส์ สวรรค์ชั้นเจ็ด พาราไดส์ สวนเอเดน โลกแห่งยูโทเปีย ... ฯลฯ และอีกหลายคำที่วนเวียนอยู่ในภาพความนึกฝันของมวลมนุษย์ทุกเชื้อชาติ ไม่ว่าจะต่างเผ่าต่างพันธุ์หรือต่างศาสนาต่างความเชื่อ ทุกคนล้วนอยากลิ้มลองรสชาติความสุขในสวรรค์

ไม่มีใครที่รู้จักสวรรค์ดีกว่าพระองค์ผู้สร้างสวรรค์ และไม่มีใครที่อาจมอบสวรรค์ให้แก่ผู้ใดได้นอกจากพระองค์ ... อัลลอฮฺ พระผู้เป็นเจ้าแห่งสากลจักรวาล

(إِنَّ اللَّهَ يُدْخِلُ الَّذِينَ آمَنُوا وَعَمِلُوا الصَّالِحَاتِ جَنَّاتٍ تَجْرِي مِنْ تَحْتِهَا الْأَنْهَارُ يُحَلَّوْنَ فِيهَا مِنْ أَسَاوِرَ مِنْ ذَهَبٍ وَلُؤْلُؤاً وَلِبَاسُهُمْ فِيهَا حَرِيرٌ) (سورة الحج: 23)

ความว่า แท้จริงอัลลอฮฺจะทรงนำบรรดาผู้ศรัทธาและปฏิบัติความดีทั้งหลาย เข้าสู่สรวงสวรรค์ ซึ่งมีสายน้ำไหลผ่านเบื้องล่างมัน พวกเขาจะถูกประดับประดาด้วยกำไลที่ทำจากทองคำและไข่มุก เสื้อผ้าของพวกเขาเหล่านั้นล้วนทำมาจากไหมแพร

 

ในคัมภีร์ของพระองค์ อัลลอฮฺได้บอกอย่างชัดแจ้งว่า พระองค์เตรียมสวรรค์ไว้สำหรับผู้ศรัทธาและปฏิบัติความดี สองเงื่อนไขหลักที่มิอาจแยกจากกันได้เลย

(وَبَشِّرِ الَّذِينَ آمَنُوا وَعَمِلُوا الصَّالِحَاتِ أَنَّ لَهُمْ جَنَّاتٍ تَجْرِي مِنْ تَحْتِهَا الْأَنْهَارُ كُلَّمَا رُزِقُوا مِنْهَا مِنْ ثَمَرَةٍ رِزْقاً قَالُوا هَذَا الَّذِي رُزِقْنَا مِنْ قَبْلُ وَأُتُوا بِهِ مُتَشَابِهاً وَلَهُمْ فِيهَا أَزْوَاجٌ مُطَهَّرَةٌ وَهُمْ فِيهَا خَالِدُونَ) (سورة البقرة: 25)

ความว่า และจงบอกข่าวดีแก่บรรดาผู้ศรัทธาและปฏิบัติความดีทั้งหลาย ว่าสำหรับพวกเขานั้นมีสวนสวรรค์เตรียมไว้ให้ ซึ่ง ณ เบื้องล่างของมันมีแม่น้ำไหลผ่าน ทุกครั้งที่พวกเขาได้รับริซกีเป็นผลไม้(ในสวรรค์) พวกเขาจะกล่าวว่า นี่เป็นสิ่งที่เราเคยได้รับริซกีมาแล้ว(บนโลก) พวกเขาจะได้รับสิ่งที่คล้ายกัน และสำหรับพวกเขายังมีคู่ครองที่บริสุทธิ์เตรียมไว้ และจะได้พำนักอยู่ในนั้นอย่างนิรันดร

 

การศรัทธาต่ออัลลอฮฺอย่างบริสุทธิ์ใจ ปราศจากการตั้งภาคีใดๆ และการน้อมรับคำสั่งของพระองค์ด้วยการแปรออกมาในรูปของการปฏิบัติความดีทั้งหลาย คือภาพรวมทั่วไปของผู้มีสิทธิจะได้เข้าสวรรค์

กระนั้น ในความเป็นจริง ยังมีคุณสมบัติอื่นบางประการที่เป็นเหมือน “เงาตามตัว” บรรดาผู้ศรัทธาและผู้ทำดีทุกคน ซึ่งหากปราศจากมันแล้ว บางทีพวกเขาอาจจะไปไม่ถึงจุดหมายและมิอาจบรรลุถึงความปรารถนาได้

ความอดทน หรือ “อัศ-ศ็อบรฺ” คือคุณสมบัติที่เรากำลังจะพูดถึง

ถ้าอีมานและอามัลศอลิหฺ คือเงื่อนไขของการเข้าสวรรค์ .. อัศ-ศ็อบรฺ ก็คือปัจจัยรองลงมาที่ไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ เพราะเหตุใด?

เป็นวิสัยดั้งเดิมที่อัลลอฮฺกำหนดมาแล้วว่าผู้ศรัทธาต่อพระองค์จะต้องถูกทดสอบ !!!

(أَحَسِبَ النَّاسُ أَنْ يُتْرَكُوا أَنْ يَقُولُوا آمَنَّا وَهُمْ لا يُفْتَنُونَ، وَلَقَدْ فَتَنَّا الَّذِينَ مِنْ قَبْلِهِمْ فَلَيَعْلَمَنَّ اللَّهُ الَّذِينَ صَدَقُوا وَلَيَعْلَمَنَّ الْكَاذِبِينَ) (سورة العنكبوت: 2-3)

ความว่า หรือมนุษย์คาดคิดว่าพวกเขาจะถูกปล่อยให้กล่าวว่า “เราได้ศรัทธาแล้ว” โดยปราศจากการทดสอบใดๆ ? แท้จริง เราได้ทดสอบบรรดาผู้คนก่อนหน้าพวกเขา ดังนั้น เพื่ออัลลอฮฺจะได้รู้บรรดาผู้ที่สัจจริงและจะได้รู้บรรดาผู้ที่โกหก

 

อีมานไม่ใช่ของราคาถูก แน่นอนที่สุด เพราะผลตอบแทนของมันคือสวรรค์ จึงต้องมีการคัดสรรผู้ที่เหมาะสมจะได้รับรางวัลอันยิ่งใหญ่นี้จริงๆ นี่คือความหมายที่อัลลอฮฺบอกว่าเพื่อพระองค์จะได้รู้ว่าใครที่สัจจริงในการศรัทธาต่อพระองค์และใครที่ไม่สัจจริง นั่นคือเพื่อเป็นการจำแนกมนุษย์ตามระดับความศรัทธาของพวกเขา

เพื่อให้ผ่านบรรลุการถูกทดสอบ ผู้เข้าสอบทุกคนย่อมต้องอาศัยความอดทนเป็นธรรมดา

มนุษย์ทุกคนล้วนต้องประสบกับบททดสอบในชีวิตด้วยกันทั้งสิ้น แต่บททดสอบของผู้ศรัทธานั้นใหญ่หลวงกว่าและหนักหนาสาหัสกว่าผู้อื่นหลายเท่า ทั้งนี้ เพราะผลตอบแทนของพวกเขาเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดและมิอาจจะเปรียบเทียบกับสิ่งใดได้อีก

ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม พูดถึงการทดสอบของมนุษย์ว่า “ดุนยาคือคุกของมุอ์มิน และเป็นสวรรค์ของกาฟิรฺ” (มุสลิม 2956)

สุบหานัลลอฮฺ ! มีสำนวนใดที่จะเปรียบเปรยได้ชัดเจนมากกว่านี้ ?

อุละมาอ์ท่านหนึ่งถูกถามว่า “แล้วมุอ์มินที่มีชีวิตสุขสบาย มีทรัพย์สมบัติมากมายในโลกนี้เล่า มันจะเป็นคุกสำหรับเขาได้อย่างไร? ในขณะที่กาฟิรฺบางคนแทบจะไม่มีเสื้อผ้าใส่ อย่างนี้จะเรียกว่าสวรรค์สำหรับเขาเช่นนั้นหรือ?”

ท่านตอบว่า “ใช่ ทรัพย์สมบัติในโลกนี้ไหนเลยจะมากกว่าความสุขในสวรรค์ ถ้าจะเทียบกับความสถาพรในโลกหน้าอันนิรันดร์แล้ว ชีวิตมุอ์มินผู้นั้นในดุนยานี้ยังเหมือนอยู่ในคุกอยู่วันยังค่ำ ส่วนกาฟิรฺนั้นเล่า ชีวิตเขาในโลกที่มีเสื้อผ้าใส่เพียงตัวเดียวยังนับว่าเป็นสวรรค์สำหรับเขา ถ้าจะเทียบกับการถูกทรมานทรกรรมและถูกจองจำในนรก” !!!

อัลลอฮุอักบัรฺ ! ลาอิลาฮะ อิลลัลลอฮฺ !

อย่างไรก็ดี การทดสอบที่หนักหน่วงที่สุดของมุอ์มินผู้ศรัทธามิได้เป็นการทดสอบในเรื่องปัจจัยยังชีพ นั่นอาจจะเป็นส่วนหนึ่ง(ดู อัลกุรอาน สูเราะฮฺ อัล-บะเกาะเราะฮฺ อายะฮฺ 155) แต่การทดสอบจริงของผู้มีอีมานลึกซึ้งกว่านั้น ตามระดับชั้นของความศรัทธาและปัจจัยทั้งภายในภายนอก

คำว่า “อีมาน” ที่เราแปลกันว่าศรัทธานั้น ไม่ได้มีความหมายเพียงแค่การเชื่อ แต่ยังรวมถึงการยอมรับและปฏิบัติตาม ดังนั้นเส้นทางของมุอ์มินจริงๆ จึงเป็นเส้นทางของการขวนขวายความสมบูรณ์ เป็นเส้นทางของการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อค้นหาความโปรดปรานจากพระผู้อภิบาล

นี่คือสิ่งที่ อัล-หะสัน อัล-บัศรีย์ ได้กล่าวถึงอย่างน่าสนใจว่า “อีมาน มิใช่เป็นการเพ้อฝันหรือการตกแต่งให้ดูวิจิตร หากแต่มันคือสิ่งที่ปักหลักอยู่ในใจ และแสดงออกให้เห็นด้วยการปฏิบัติ” (มุศ็อนนัฟ อิบนิ อบี ชัยบะฮฺ 30351, 35211)

การปฏิบัติที่ว่า คือการน้อมรับคำสั่งของอัลลอฮฺ ด้วยการแสดงออกตามแบบฉบับของท่านศาสนทูตผู้ยิ่งใหญ่ ท่านนบี มุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ให้ตรงและถูกต้องมากที่สุด ซึ่งไม่ง่ายเหมือนแค่การพูดด้วยปาก หากแต่ต้องการความจริงจังและจริงใจที่สูงส่งยิ่ง

นอกจากจะต้องปฏิบัติความดีแล้ว อีกด้านหนึ่ง ยังต้องละทิ้งและห่างจากความชั่วและสิ่งต้องห้ามทั้งหลายด้วย เพราะความดีจะสมบูรณ์ได้เช่นไรถ้าหากความชั่วไม่ถูกละทิ้ง บางทีบางครั้ง การละจากความชั่วใช่ว่าจะง่ายไปกว่าการทำดี เพราะท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม เคยบอกว่า “สวรรค์ถูกห้อมล้อมด้วยความน่ารังเกียจ(สิ่งที่ขัดกับอารมณ์) และนรกถูกห้อมล้อมด้วยความปรารถนาของตัณหา” (มุสลิม 2822)

สรุปแล้ว ทั้งสองด้านล้วนต้องอาศัยความอดทนด้วยกันทั้งนั้น

จุดนี้ อัลลอฮฺได้อธิบายอย่างชัดเจนว่า

(قُلْ يَا عِبَادِ الَّذِينَ آمَنُوا اتَّقُوا رَبَّكُمْ لِلَّذِينَ أَحْسَنُوا فِي هَذِهِ الدُّنْيَا حَسَنَةٌ وَأَرْضُ اللَّهِ وَاسِعَةٌ إِنَّمَا يُوَفَّى الصَّابِرُونَ أَجْرَهُمْ بِغَيْرِ حِسَابٍ) (سورة الزمر: 10)

ความว่า จงกล่าวต่อปวงบ่าวผู้ศรัทธาทั้งหลายว่า พวกเจ้าจงยำเกรงต่อพระผู้อภิบาลของพวกเจ้าเถิด สำหรับผู้ทำดีนั้น ในโลกนี้เขาก็จะได้รับความดี(นับประสาอะไรกับในวันอาคิเราะฮฺ) แผ่นดินของอัลลอฮฺนั้นกว้างขวางนัก แท้จริงผู้อดทนนั้นจะได้รับผลตอบแทนที่มากมายโดยมิต้องคำนวณ

 

ประการแรก อายะฮฺนี้สั่งให้ “ผู้ศรัทธา” ยำเกรงต่ออัลลอฮฺ นั่นแสดงว่าศรัทธาแล้วก็มิใช่ว่าจะยำเกรงต่อพระองค์ ทว่าต้องพยายามเพื่อให้เกิดความยำเกรง ด้วยการศึกษาคำสอนต่างๆ ของพระองค์และปฏิบัติตามนั้น

ประการต่อมา ในอายะฮฺบอกว่า ผู้ทำดีจะได้รับผลตอบแทนแม้กระทั่งในโลกนี้ ชัดเจนยิ่งว่าการศรัทธาไม่ใช่การอยู่เฉยๆ แต่เป็นการลงมือทำและต้องทำให้ดีที่สุด เพราะคำว่า “อิหฺสาน” ในอายะฮฺข้างต้น หมายถึง ทำให้ดีถึงที่สุดเท่าที่สามารถจะทำได้

จากนั้น อัลลอฮฺได้แทรกว่า แผ่นดินของพระองค์นั้นกว้างใหญ่ไพศาล เป็นการบอกให้ผู้ศรัทธาทั้งหลายทราบว่า หากมีอุปสรรคใดๆ ขวางกั้นในการปฏิบัติตามบัญชาของอัลลอฮฺ ณ ที่หนึ่งที่ใด ก็จงทนต่อสู้จนกว่าจะหมดวิธีแล้วจึงหาทางออกไปยังที่อื่นเสีย

ทั้งสามประการข้างต้น มีปัจจัยร่วมแห่งความสำเร็จอันเดียวกัน นั่นคือต้องอดทน ดังนั้นผลสรุปที่ออกมาจึงยิ่งใหญ่มาก พระองค์ลงท้ายอายะฮฺด้วยการประกาศว่า สำหรับผู้อดทน ไม่ว่าจะอดทนเพื่อยกระดับความยำเกรง อดทนเพื่อทำความดี หรืออดทนต่ออุปสรรคในการดำเนินชีวิตตามครรลองอิสลาม ทุกคนล้วนจะได้รับผลตอบแทนที่มิอาจคำนวณจากพระองค์ผู้ทรงเมตตาและปรานียิ่ง

ผลตอบแทนที่ว่านั้นจะเป็นสิ่งอื่นไปเสียไม่ได้ นอกจากสวรรค์วิมานอันนิรันดร ...

 

ที่กล่าวมาข้างต้น คือการต้องอดทนของผู้ศรัทธาในกระบวนการยกระดับตนเอง เป็นการอดทนในชั้นปัจเจกบุคคล

ความอดทนในระดับที่สูงขึ้น คือการอดทนในการเป็นผู้ศรัทธาที่ต้องรับผิดชอบต่อสังคมรอบข้าง พร้อมๆ กับการดูแลเอาใจใส่ครอบครัวของตนเอง

ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวว่า “มุอ์มินที่คลุกคลีกับคนอื่นและอดทนต่อความเดือดร้อนที่มาจากพวกเขา ย่อมดีกว่า/ได้รับผลบุญที่ยิ่งใหญ่กว่ามุอ์มินที่ไม่คลุกคลีกับคนอื่นและไม่อดทนต่อความเดือดร้อนที่ต้องประสบจากพวกเขา” (อิบนุ มาญะฮฺ 4032 ,เป็นหะดีษหะสัน ดู ฟัตหุล บารีย์ 10:512)

ผู้ศรัทธาไม่ใช่ผู้สันโดษ นอกจากจะต้องรับผิดชอบดูแลและสั่งสอนสมาชิกในครอบครัวให้เป็นบ่าวที่ดีของอัลลอฮฺแล้ว ยังต้องเป็นคนที่อยู่กับคนอื่นในสังคมด้วย เพื่อเป็นตัวอย่างในการนำสิ่งดีๆ ให้กับพวกเขา และหักห้ามพวกเขาจากการละเมิดบัญญัติของอัลลอฮฺ ทั้งปวงนี้ไม่ใช่เรื่องเบาๆ เลยสักนิด ด้วยเหตุนี้อัลลอฮฺจึงสอนให้พวกเราหมั่นขอดุอาอ์ต่อพระองค์ว่า

(رَبَّنَا هَبْ لَنَا مِنْ أَزْوَاجِنَا وَذُرِّيَّاتِنَا قُرَّةَ أَعْيُنٍ وَاجْعَلْنَا لِلْمُتَّقِينَ إِمَاماً) (سورة الفرقان: من الآية 74)

ความว่า โอ้ พระผู้อภิบาลแห่งเรา ได้โปรดประทานแก่เราจากคู่ครองของเราและลูกหลานของเราซึ่งความรื่นรมย์/ความเย็นตาเย็นใจ และโปรดประทานให้เราเป็นผู้นำของบรรดาผู้ยำเกรง

 

อายะฮฺนี้สอนเราอย่างชัดเจนว่าต้องให้ความสำคัญกับครอบครัว อันเป็นแก้วตาดวงใจของเรา และยังต้องเป็น “ผู้นำของบรรดาผู้ยำเกรง”“อัล-อัมร์ บิลมะอฺรูฟ วะ อัน-นะฮฺย์ อะนิล มุงกัรฺ” หรือการเชิญชวนสู่ความดีและการหักห้ามจากความชั่ว นั่นคือผู้ที่เอาใจใส่ต่อสังคมรอบข้าง ด้วยการเป็นตัวอย่างที่ดี ร่วมพัฒนา ร่วมแก้ปัญหา และไม่ละเลยในการสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้นในสังคม ในนิยามที่เรียกกันว่า

โดยนัยแล้ว อายะฮฺนี้บอกเราอีกว่า จำเป็นต้องรับผิดชอบต่อสังคมด้วย เพราะครอบครัวของเราเองก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องปฏิสัมพันธ์กับสังคมภายนอก ทั้งเราและสมาชิกในครอบครัวจะดำรงชีวิตอย่างเปี่ยมสุขและปลอดภัยได้อย่างไร ถ้าหากสังคมรอบข้างที่ต้องออกไปพบปะทุกวี่วันมีแต่ความเละเทะ

ทั้งการรับผิดชอบต่อครอบครัวและสังคม สองประการดังกล่าวย่อมต้องอาศัยความอดทนอย่างยิ่งยวด

ด้วยเหตุนี้ ในอายะฮฺต่อมาอัลลอฮฺจึงประกาศอีกครั้งถึงผลตอบแทนจากการอดทนในเรื่องเหล่านี้ว่า

(أُولَئِكَ يُجْزَوْنَ الْغُرْفَةَ بِمَا صَبَرُوا وَيُلَقَّوْنَ فِيهَا تَحِيَّةً وَسَلاماً) (سورة الفرقان: 75)

ความว่า พวกเขาเหล่านั้น จะได้รับผลตอบแทนเป็นห้องหับในวิมานอันสูงส่ง ด้วยเหตุที่พวกเขาอดทน และจะได้รับการทักทายในนั้นด้วยคำกล่าวต้อนรับและสลาม

 

ถึงแม้ผลตอบแทนดังกล่าวจะถูกประทานแก่เหล่าอิบาดุรเราะห์มานที่มีคุณสมบัติทั้งหมดตามอายะฮฺที่ 63-74 ในสูเราะฮฺ อัล-ฟุรกอน แต่ข้อสังเกตที่งดงามยิ่ง คือการจัดลำดับอายะฮฺ ซึ่งอัลลอฮฺได้ระบุผลตอบแทนนี้ทันทีหลังอายะฮฺที่พระองค์ทรงชี้นำให้พวกเรากล่าวดุอาอ์เพื่อให้ได้ครอบครัวที่เปี่ยมสุขและสังคมอุดมสันติ

ที่สำคัญที่สุด ณ จุดนี้ก็คือ “ความอดทน” ยังคงถูกระบุว่าเป็นปัจจัยหลักที่จะทำให้ความปรารถนาที่เราใฝ่ฝันบรรลุเป้าหมาย และได้รับผลตอบแทนอันเปี่ยมยิ่งด้วยเกียรติจากพระองค์อัลลอฮฺ ในสวรรค์วิมานแห่งอาคิเราะฮฺ

อัลลอฮฺอักบัรฺ !

 

อันดับสุดท้าย คือความอดทนในระดับสากล หรือระดับประชาชาติ เป็นความอดทนในกระบวนการปะทะขัดแย้งระหว่าง “อัล-ฮัก” กับ “อัล-บาฏิล” ระหว่างรัศมีแห่งอิสลามกับความมืดมนของญาฮีลิยะฮฺ ระหว่างฝ่ายหนึ่งที่รับใช้พระเจ้ากับอีกฝ่ายหนึ่งที่เป็นปฏิปักษ์กับพระองค์

การยื้อแย่งระหว่างสองฝ่ายนี้มีมานมนาน และจะไม่จบสิ้นตราบเท่าที่ยังมีโลกให้มนุษย์ได้อาศัย นอกเหนือจากที่มันเป็นการปะทะในรูปแบบหลากหลายกระบวนท่า แสดงออกมาทั้งในลักษณะของสงครามทางอาวุธ ทางยุทธศาสตร์ ทางความคิด ทางวัฒนธรรม ทางอารยธรรม ทางจิตวิทยา ทางเศรษฐกิจ และอีกมากต่อมาก

ทั้งสองฝ่ายเคยยึดครองทั้งชัยชนะและความพ่ายแพ้สับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปตามที่ถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ

ณ วันนี้ เห็นได้ชัดเจนยิ่งว่า บรรดาผู้น้อมรับคำสั่งของอัลลอฮฺอยู่ในข้างที่เพลี่ยงพล้ำอ่อนแอ ในขณะที่ฝ่ายตรงข้ามกลับเป็นมากกว่ามหาอำนาจ หยิ่งผยองลำพองตน ทะนงเหนือผู้คนทุกผู้บนแผ่นดิน ทำตนเสมือนเป็นพระเจ้า (ขออัลลอฮฺทรงปกป้องเราด้วยเถิด)

ประชาชาติแห่งอีมาน บางครั้งก็เกิดความรู้สึกท้อแท้ ขยาด หมดหวัง โศกเศร้า ฯลฯ เมื่อมองไม่เห็นว่าทางไหนที่จะเป็นทางรอดและนำพวกเขาให้สามารถต่อกรกับมหาอำนาจผู้ไม่ยุติธรรม ซึ่งครอบครองความก้าวหน้าทันสมัยทุกประเภทอยู่ในมือ เหนือคนอื่นทั้งมวลในโลก

แต่ทว่า อัลลอฮฺทรงเตือนให้เราสำนึกว่า

(لا يَغُرَّنَّكَ تَقَلُّبُ الَّذِينَ كَفَرُوا فِي الْبِلادِ، مَتَاعٌ قَلِيلٌ ثُمَّ مَأْوَاهُمْ جَهَنَّمُ وَبِئْسَ الْمِهَادُ، لَكِنِ الَّذِينَ اتَّقَوْا رَبَّهُمْ لَهُمْ جَنَّاتٌ تَجْرِي مِنْ تَحْتِهَا الْأَنْهَارُ خَالِدِينَ فِيهَا نُزُلاً مِنْ عِنْدِ اللَّهِ وَمَا عِنْدَ اللَّهِ خَيْرٌ لِلْأَبْرَارِ) (سورة آل عمران: 196- 198)

ความว่า เจ้าอย่าได้หลงตามความเคลื่อนไหวของบรรดาผู้ปฏิเสธในดินแดนต่างๆ มันเป็นเพียงความหฤหรรษ์อันเล็กน้อย แล้วที่กลับคืนของพวกเขาก็คือนรกญะฮันนัม และมันเป็นที่พำนักอันเลวยิ่ง ทว่าบรรดาผู้ที่ยำเกรงต่อพระผู้อภิบาลของพวกเขาต่างหากเล่า ที่มีสวรรค์เตรียมไว้สำหรับพวกเขา มีสายน้ำต่างๆ ไหลอยู่เบื้องล่าง พวกเขาจะอยู่อาศัยในนั้นอย่างถาวร เป็นการต้อนรับ/ตอบแทนจากอัลลอฮฺ และสิ่งที่อยู่ ณ อัลลอฮฺนั้นย่อมดีกว่าสำหรับปวงผู้มีคุณธรรม

 

สุบหานัลลอฮฺ ! มีเหตุอันใดที่ทำให้เราต้องขยาดและท้อแท้ ในเมื่ออำนาจที่พวกเขาครอบครองเป็นเพียงแค่ “ความหฤหรรษ์อันน้อยนิด”“ญะฮันนัม” ! และในเมื่อบั้นปลายของพวกเขาจะต้องกลับไปสู่

ไหนเล่าความเข้มแข็งของผู้ศรัทธา ไหนเล่าพลังอันยิ่งใหญ่ของความยำเกรง ที่พระองค์สัญญาว่าจะตอบแทนให้ด้วยสวรรค์อันนิรันดร์กาล !?

แน่แท้ มีเพียงแต่ “ความอดทน” เท่านั้น ที่จะประคับประคองให้เรายืนหยัดอยู่เส้นทางแห่งการต่อสู้นี้ได้ ดังนั้น ในท้ายสูเราะฮฺ อาล อิมรอน ถัดจากอายะฮฺข้างต้นแค่อายะฮฺเดียว อัลลอฮฺจึงได้สั่งว่า

(يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا اصْبِرُوا وَصَابِرُوا وَرَابِطُوا وَاتَّقُوا اللَّهَ لَعَلَّكُمْ تُفْلِحُونَ) (سورة آل عمران: 200)

ความว่า โอ้ บรรดาผู้มีอีมาน จงอดทนเถิด และจงสู้อดทน(กับพวกเขา)ต่อไปเถิด และจงปกปักษ์รักษาให้มั่น และจงยำเกรงต่ออัลลอฮฺ เพื่อพวกเจ้าจะได้รับความสำเร็จ

 

เห็นไหม ความอดทนแค่ครั้งเดียวอาจจะไม่เพียงพอเสียแล้ว เรายังต้องการ “แข่งกันอดทน” กับฝ่ายตรงข้ามด้วย พระองค์สั่งให้เราอดทนมากกว่าที่พวกเขาอดทน ในเมื่อพวกเขาพยายาม มุมานะ และอดทนที่จะทำลายสัจธรรมได้ เหตุใดเราจึงไม่สามารถที่จะสู้อดทนเพื่อปกป้องและเชิดชูความสูงส่งของคำสอนอันบริสุทธิ์นี้ ?

พระองค์ไม่ได้สั่งให้เราแค่ทนอยู่เฉยๆ แต่สั่งให้ “ปกปักษ์และพิทักษ์รักษา” อุดมการณ์อันเป็นสัจธรรมที่สูงส่งของเราด้วย พร้อมทั้งให้ผสมผสานกับกระบวนการแห่ง “ตักวา” หรือการยึดมั่นในความยำเกรงต่อพระองค์

สูตรทั้งหมดนี้ คือยาขนานแท้ที่จะนำประชาชาติแห่ง “อัล-ฮัก” สู่เส้นทางแห่งชัยชนะและความสำเร็จในที่สุด

 

แน่นอนยิ่ง ชัยชนะอันยิ่งใหญ่และสุดยอดแห่งความสำเร็จนั้นคือสวรรค์อันสถาพร และเส้นทางแห่งสวรรค์ก็คือเส้นทางที่ต้องอดทน ดังที่ประจักษ์ชัดจากทั้งหมดที่ได้กล่าวมา

ณ วันนี้ ประชาชาติแห่งอีมาน มีความมานะอดทนแค่ไหนที่จะยกฐานะตนเองให้เป็นผู้ที่ยำเกรงอย่างสุดซึ้งต่อพระผู้อภิบาลของพวกเขา? เราอดทนได้หรือไม่ที่จะหลีกเลี่ยงให้พ้นห่างจากการกระทำบาปทั้งหลายที่ยั่วต่อมตัณหาและอารมณ์อยู่ทุกขณะจิต? เราสร้างสังคมในครอบครัวให้เป็นที่โปรดปรานของอัลลอฮฺหรือยัง? เราทำอะไรบ้างเพื่อร่วมแก้ไขให้สังคมรอบข้างดีขึ้น?

สุดท้าย เรามีความขันติ ความอดทน และความอดกลั้นมากแค่ไหน ที่จะเผชิญหน้ากับการท้าทายของกระแสที่ปล่อยมาจากอีกฝ่ายหนึ่งตรงกันข้าม ซึ่งครอบคลุมอยู่ ณ ทุกอณูแห่งอากาศบนพื้นแผ่นดินขณะนี้ ? อัลลอฮฺได้ตรัสว่า

(وَإِنْ تَصْبِرُوا وَتَتَّقُوا لا يَضُرُّكُمْ كَيْدُهُمْ شَيْئًا إِنَّ اللَّهَ بِمَا يَعْمَلُونَ مُحِيطٌ) (آل عمران :120)

ความว่า หากแม้นพวกเจ้าอดทนและตักวา ก็ไม่มีอันที่แผนการของพวกเขาจะให้โทษแก่พวกเจ้าได้เลยแม้แต่น้อย

 

คำตอบทั้งหมดมิอาจจะปราศจาก “อัศ-ศ็อบรฺ” หรือความอดทนได้เลย หากเราต้องการที่จะเป็นผู้ได้รับความสำเร็จ ผู้ที่ได้รับการทักทายในสวรรค์ว่า

(سَلامٌ عَلَيْكُمْ بِمَا صَبَرْتُمْ فَنِعْمَ عُقْبَى الدَّارِ) (سورة الرعد: 24)

“ขอสันติสุขมีแก่พวกท่านทั้งหลาย ด้วยการที่พวกท่านอดทน และนั่นคือแหล่งพำนักสุดท้ายที่ดียิ่ง”

 

มีคำทักทายอื่นใด ที่เราท่านอยากจะได้ยินและปรารถนาจะได้รับ มากกว่าคำทักทายนี้อีกเล่า !? ขออัลลอฮฺทรงประทานเตาฟีก ... อามีน

*****

Go to the Top