الحج المبرور .. رسالة عامة للسلام

مقالات البطاقة التعريفية
العنوان: الحج المبرور .. رسالة عامة للسلام
اللغة: تايلندي
مراجعة: صافي عثمان
نبذة مختصرة: يتطرق الكاتب إلى بيان السبيل إلى تحصيل الحج المبرور حسب ما بينه القرآن وبينته السنة، كما بين فضائله وثوابه، غير أن هناك مظاهر أخرى، وهي مظاهر السلام في الحج، إذا ما التزم الحاج بقواعده المطابقة لسنة المصطفى صلى الله عليه وسلم.
تأريخ الإضافة: 2007-11-08
الرابط المختصر: http://IslamHouse.com/60562
:: هذا العنوان مصنف موضوعياً ضمن التصانيف الآتية ::
- هذه البطاقة مترجمة باللغات التالية: تايلندي - بنغالي - مليالم - بوسني
المرفقات ( 4 )
1.
ฮัจญ์มับรูรฺ องค์รวมแห่งสาสน์สันติภาพ
453 KB
فتح: ฮัจญ์มับรูรฺ องค์รวมแห่งสาสน์สันติภาพ.doc
2.
ฮัจญ์มับรูรฺ องค์รวมแห่งสาสน์สันติภาพ
168.7 KB
فتح: ฮัจญ์มับรูรฺ องค์รวมแห่งสาสน์สันติภาพ.pdf
3.
ฮัจญ์มับรูรฺ องค์รวมแห่งสาสน์สันติภาพ (แผนผัง)
161.3 KB
فتح: ฮัจญ์มับรูรฺ องค์รวมแห่งสาสน์สันติภาพ (แผนผัง).pdf
4.
รวมไฟล์ ฮัจญ์มับรูรฺ องค์รวมแห่งสาสน์สันติภาพ
284.7 KB
فتح: รวมไฟล์ ฮัจญ์มับรูรฺ องค์รวมแห่งสาสน์สันติภาพ.rar
نبذة موسعة

อัลลอฮฺได้ตรัสว่า

 

«وَلِله عَلَى النَّاسِ حِجُّ البَيْتِ مَنِ اسْتَطَاعَ إِلَيْهِ سَبِيلاً»

 

ความว่า  “และสิทธิของอัลลอฮฺที่มีเหนือมนุษย์นั้น คือการประกอบพิธีฮัจญ์ ณ บัยติลลาฮฺ(บ้านของอัลลอฮฺ) สำหรับผู้ที่มีความสามารถเดินทางได้” (อาล อิมรอน 97)

 

 

 

ฮัจญ์ เป็นหลักศาสนบัญญัติในอิสลามประการที่ห้า ที่มุสลิมทุกคนต้องปฏิบัติเพียงครั้งเดียวในชีวิต โดยมีเงื่อนไขอยู่ที่มีความสามารถทั้งสุขภาพร่างกาย ทรัพย์สินเงินทอง และความปลอดภัยในการเดินทาง  ฮัจญ์จึงเป็นแหล่งรวมประชาคมโลกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ที่สามารถรวบรวมประชากรโลกที่ก้าวพ้นพรมแดนทางเผ่าพันธุ์ ชั้นวรรณะ วัฒนธรรมและประเทศชาติ สู่การหลอมรวมพลโลกให้มีความเป็นเอกภาพทั้งด้านความตั้งใจและวัตถุประสงค์ รูปแบบและวิธีการ สถานที่และแหล่งปฏิบัติ แม้กระทั่งเสื้อผ้าอาภรณ์นอกกาย ทุกคนพร้อมใจปฏิบัติอย่างเป็นน้ำหนึ่งอันเดียวกัน ด้วยหัวใจที่นอบน้อมและยอมศิโรราบต่อความยิ่งใหญ่ของอัลลอฮฺ ผู้ทรงบริหารจัดการสากลจักรวาล

 

ปรากฎการณ์อันน่ามหัศจรรย์ของประชากรโลกนี้ มิเพียงแต่แสดงถึงความเป็นสากลจักรวาลของสาสน์อิสลามเท่านั้น หากยังเป็นภาพสะท้อนของวิถีชีวิตมุสลิมที่มีความผูกพันและตอบรับการเชิญชวนของอัลลอฮฺด้วยหัวใจที่สำรวม อากัปกิริยาที่อ่อนน้อม จรรยามารยาทอันสูงส่ง และการมีปฏิสัมพันธ์อันดีทั้งต่อตนเอง สิ่งแวดล้อมรอบข้างและเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

 

กล่าวได้ว่า ฮัจญ์คือการปฏิบัติภาคสนามซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดของมนุษยชาติ ที่มีเจตนารมณ์ในการฝึกอบรมและหล่อหลอมพลโลกให้ซึมซาบองค์รวมสาสน์อิสลาม ที่มุ่งให้มุสลิมเป็นทูตสันถวไมตรีและสันติภาพระดับสากล ผู้ยึดมั่นในศาสนาแห่งความกรุณาปรานีอย่างแท้จริง

 

ด้วยเหตุดังกล่าว อิสลามจึงให้ความสำคัญกับฮัจญ์มับรูรฺ อันหมายถึงฮัจญ์ที่รังสรรค์ความดีงาม ที่ไม่ผสมผสานอบายมุขทั้งปวง เป็นการประกอบพิธีฮัจญ์ที่เปี่ยมด้วยคุณธรรมและการเคารพภักดีต่ออัลลอฮฺ และเป็นที่ยอมรับของพระองค์ ซึ่งเป็นสุดยอดปรารถนาของผู้ประกอบพิธีฮัจญ์ทุกคน เพราะศรัทธามั่นต่อคำพูดของ นบีมูฮัมมัด(ขอความสันติสุขจงมีแด่ท่าน)ที่กล่าวไว้ความว่า “ไม่มีผลตอบแทนใดๆ สำหรับฮัจญ์มับรูรฺ เว้นแต่สรวงสวรรค์เท่านั้น" (หะดีษรายงานโดยอัล-บุคอรีย์และมุสลิม)

 

            เจตนารมณ์ของอิสลามอันยิ่งใหญ่นี้ จะไม่สามารถเกิดมรรคผลในภาคปฏิบัติได้ เว้นแต่ผู้เข้าร่วมพิธีฮัจญ์ จะประกอบพิธีฮัจญ์มับรูรฺที่ประกอบด้วยพื้นฐานหลัก 2 ประการ เงื่อนไข 2 ประการ และวิถีทัศน์ 3 ประการ สรุปได้ดังนี้

 

 

 

หนึ่ง พื้นฐานหลัก 2 ประการ ได้แก่

 

1.1 มีจิตใจที่บริสุทธิ์เพื่ออัลลอฮฺเท่านั้น โดยปราศจากการตั้งภาคีใดๆ กับพระองค์ ดังอัลกุรอานกล่าวไว้ว่า

 

«وَأَتِمُّوا الحَجَّ وَالْعُمْرَةَ لِله»

 

ความว่า “และพวกเจ้าทั้งหลายจงให้สมบูรณ์ ซึ่งการทำฮัจญ์และการทำอุมเราะฮฺเพื่ออัลลอฮฺเถิด” (อัล-บะเกาะเราะฮฺ 196)

 

 

 

1.2 ประกอบพิธีฮัจญ์โดยยึดจริยวัตรของนบีมูฮัมมัด(ขอความสันติสุขจงมีแด่ท่าน) เป็นต้นแบบ โดยไม่มีการอุตริหรือเพิ่มเติมเสริมแต่งในทุกกระบวนการของการประกอบพิธีฮัจญ์ใดๆ ทั้งสิ้น ตามคำอธิบายและคำชี้แจงของนักวิชาการมุสลิม(อุละมาอ์)ที่ได้รับการยอมรับ ดังหะดีษกล่าวไว้ความว่า “ท่านทั้งหลาย จงรับต้นแบบการประกอบพิธีฮัจญ์จากฉันเถิด” (รายงานโดยมุสลิม 1297)

 

บนพื้นฐานหลักทั้งสองประการนี้ จึงเป็นเกณฑ์มาตรฐานสำหรับการประกอบพิธีฮัจญ์ที่ได้รับการตอบรับจากอัลลอฮฺ ผู้ทรงกรุณาปรานี

 

 

 

สอง เงื่อนไข 2 ประการ ได้แก่

 

2.1 ละเว้นและหลีกเลี่ยงข้อห้าม 3 ประการ คือ

 

2.1.1 ห้ามมิให้มีการสมสู่หรือมีพฤติกรรมที่กระตุ้นอารมณ์ทางเพศ

 

การห้ามมิให้มีการสมสู่หรือมีพฤติกรรมที่กระตุ้นอารมณ์ทางเพศนั้น ยังรวมถึงการใช้วาจาเสียดสีกระเซ้าเย้าแหย่ การล่วงละเมิดทางเพศแม้เพียงโดยสายตา มุสลิมไม่ได้รับอนุญาตกระทำการดังกล่าวแม้ต่อภรรยาของตนเอง ตราบใดที่อยู่ระหว่างการประกอบพิธีฮัจญ์

 

            การชุมนุมของผู้คนที่มีการปะปนระหว่างชายหญิง หรือคู่สามีภรรยาตามเทศกาลต่างๆ ของมนุษยชาติ ไม่ว่ามหกรรมกีฬาระดับสากล การอบรมสัมมนานานาชาติ หรือแม้กระทั่งการรวมชุมนุมในนามของเทศกาลแห่งศาสนา ประการหนึ่งที่มีการเตรียมการอย่างใหญ่โตมโหฬารคือการอำนวยความสะดวกในการสนับสนุนโครงการอุตสาหกรรมทางเพศ ให้สามารถดำเนินไปอย่างราบรื่น แต่สำหรับมุสลิมที่กำลังประกอบพิธีฮัจญ์แล้ว เขามิหาญกล้ากระทำการยั่วยุอารมณ์ทางเพศฝ่ายตรงกันข้าม แม้ต่อภรรยาหรือสามีของตนเอง และถือว่าการกระทำดังกล่าว เป็นเชื้อไวรัสที่ทำลายผลบุญของการประกอบพิธีฮัจญ์เลยทีเดียว

 

2.1.2 ห้ามมิให้มีการล่วงละเมิดโดยรวม

 

การกระทำที่ล่วงละเมิด หมายรวมถึงการกระทำบาปทั้งหลาย ทั้งที่เป็นข้อห้ามสำหรับผู้ประกอบพิธีฮัจญ์เป็นการเฉพาะเช่น การล่าสัตว์ตัดชีวิต ตัดหรือเด็ดกิ่งไม้ ตัดเล็บ โกนผม การใช้น้ำหอมและอื่นๆ หรือการฝ่าฝืนข้อห้ามสำหรับมุสลิมทั่วไป ทั้งที่เป็นบาปเล็กหรือบาปใหญ่ ชั่วคราวหรือต่อเนื่อง หรือแม้กระทั่งการตั้งใจที่จะกระทำบาปในช่วงพิธีฮัจญ์หรือในแผ่นดินหะรอม(มักกะฮฺและมะดีนะฮฺ) อิสลามยังถือว่าเป็นความผิดพลาดที่ยิ่งใหญ่ ที่สมควรได้รับโทษอันแสนสาหัสจากอัลลอฮฺเลยทีเดียว

 

มุสลิมจะละเลิกสิ่งอบายมุขดังกล่าว เพียงเพื่อแสดงความเป็นบ่าวผู้จงรักภักดีและแสวงหาความโปรดปรานของอัลลอฮฺเท่านั้น

 

2.1.3 ห้ามมิให้มีการทะเลาะวิวาทกัน

 

การห้ามมิให้มีการทะเลาะวิวาทในที่นี้ ครอบคลุมความหมาย 2 ประการคือ 1) การโต้เถียงในเรื่องหลักการของฮัจญ์ ประวัติความเป็นมาด้านศาสนบัญญัติ ซึ่งถือเป็นความชัดเจนในตัวอยู่แล้ว ไม่มีความจำเป็นที่จะเป็นข้อพิพาทโต้แย้งโดยใช่เหตุเลย และ 2) การโต้เถียงช่วงก่อน ระหว่างหรือหลังจากการประกอบพิธีฮัจญ์ ทั้งนี้เนื่องจากฮัจญ์ เป็นที่รวมของผลประโยชน์อันมากมาย ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลหรือหน่วยงานต่างๆ ทั้งระดับท้องถิ่น ระดับประเทศหรือระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเวลาของการประกอบพิธีฮัจญ์ที่มีผู้คนจำนวนมากมายทั่วทุกสารทิศหลั่งไหลเข้ามา ณ สถานที่และวันเวลาที่จำกัด ซึ่งหากไม่มีการเรียนรู้การลดทิฐิของตนเอง การให้อภัย การให้เกียรติ และการไว้วางใจซึ่งกันและกันฉันท์พี่น้องกันแล้ว ความขัดแย้งที่อาจบานปลายลุกลามขั้นทะเลาะวิวาทก็จะเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

การทะเลาะวิวาท ณ ที่นี้คือการใช้วาจาโต้เถียงกัน แม้ตัวเองเป็นฝ่ายถูกก็ตาม ผู้ประกอบพิธีฮัจญ์จึงเป็นบุคลิกที่ถูกประดับประดาด้วยคุณลักษณะของการอ่อนน้อมถ่อมตน ใจสำรวม สงวนคำพูด มีสติ  รู้จักระงับอารมณ์โกรธและให้อภัยอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

 

 

 

            2.2 ประกอบคุณธรรม 5  ประการ คือ

 

            2.2.1 การเก็บเกี่ยวและรวบรวมเสบียงสำหรับการเดินทาง โดยที่เสบียงที่ดีที่สุดคือความยำเกรงต่ออัลลอฮฺ อันหมายรวมถึง ความรู้ที่ได้รับการปฏิบัติ การขอพร(ดุอาอ์)และบทกล่าว(ซิกรฺ)ในโอกาสต่างๆช่วงการทำฮัจญ์ การกระทำสิ่งที่อัลลอฮฺทรงใช้ และละเว้นสิ่งต่างๆ ที่พระองค์ทรงห้าม เป็นต้น

 

            2.2.2 การโปรยสลาม ไม่ว่าด้วยคำพูด ด้วยการกล่าวอัสสะลามุอะลัยกุม ทั้งต่อคนรู้จักหรือไม่รู้จัก หรือด้วยการกระทำ มุสลิมจะไม่เป็นผู้สร้างความเดือดร้อนหรือลำบากใจแก่ผู้อื่น ผู้ประกอบพิธีฮัจญ์มีภารกิจหลักที่ติดตัวอยู่ตลอดเวลาคือการเป็นทูตสันถวไมตรีและสันติภาพระดับสากลที่ยึดมั่นในหลักการ “ไม่มีการกระทำที่สร้างความเดือดร้อนแก่ตนเอง และไม่มีการกระทำที่สร้างความเดือดร้อนแก่คนอื่น”(หะดีษรายงานโดยอิมามมาลิก 1426)

 

2.2.3 การใช้สัมมาวาจา โดยการใช้คำพูดที่ดีและไพเราะ ที่แสดงถึงความจริงใจของผู้พูด มีการถามไถ่ทุกข์สุขและรับทราบปัญหาของพี่น้องด้วยความเห็นอกเห็นใจกัน  ทำความรู้จักระหว่างผู้ประกอบพิธีฮัจญ์บนพื้นฐานความเป็นภราดรภาพในอิสลาม

 

            2.2.4 การให้อาหาร  ซึ่งถือเป็นการให้ทานที่ประเสริฐสุดในช่วงการทำฮัจญ์ การให้อาหารถือเป็นกิจวัตรของมุสลิมอยู่แล้ว อิสลามได้กำชับแก่มุสลิมให้อาหารแก่คนยากคนจน เด็กกำพร้าหรือแม้กระทั่งเชลยศึกที่ถูกจับได้ในสมรภูมิสงคราม เพราะการให้อาหารถือเป็นหลักพื้นฐานของความดีงาม การมีจิตใจที่โอบอ้อมอารีและเผื่อแผ่เมตตา มุสลิมกระทำการดังกล่าว โดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆ เว้นแต่ความโปรดปรานของอัลลอฮฺเท่านั้น

 

2.2.5 การเปล่งเสียงตัลบียะฮฺและการหลั่งเลือดด้วยการเชือดฮัดย์และสัตว์กุรบานในช่วงประกอบพิธีฮัจญ์

 

            การละเว้นข้อห้าม 3 ประการ และการประกอบคุณธรรม 5 ประการดังกล่าวช่วงการทำฮัจญ์ ถือเป็นเงื่อนไขสำคัญสำหรับการได้รับฮัจญ์มับรูรฺ และถือเป็นสาระหลักของความดีที่เป็นหัวใจของฮัจญ์มับรูรฺ ดัง     อัลกุรอานกล่าวไว้ความว่า “และความดีใดๆ ที่พวกเจ้ากระทำนั้น อัลลอฮฺทรงรู้ดี และพวกเจ้าจงเตรียมเสบียงเถิด แท้จริง เสบียงที่ดีที่สุดนั้นคือความยำเกรง และพวกเจ้าจงยำเกรงข้าเถิด โอ้ผู้มีปัญญาทั้งหลาย” (2/197)

 

           

 

สาม วิถีทัศน์ 3  ประการ ได้แก่

 

            3.1 การตอบรับคำเชิญชวนของอัลลอฮฺด้วยการน้อมรับคำบัญชาของพระองค์โดยเคร่งครัด โดยผ่านคำพูดที่ว่าلَبَّيْكَ  لَبَّيْكَ اللّٰهُمَّ(ลับบัยกัลลอฮุมมะ ลับบัยกะ) หมายถึง โอ้อัลลอฮฺ ฉันได้ตอบรับคำเชิญชวนของพระองค์แล้ว

 

            3.2 การตอบรับคำเชิญชวนของนบีมูฮัมมัด(ขอความสันติสุขจงมีแด่ท่าน) ด้วยการปฏิบัติตามจริยวัตรของท่าน ที่ปราศจากการอุตริเสริมแต่ง โดยผ่านคำพูดที่ว่า لَبَّيْكَ يا رَسُولَ اللهِ  (ลับบัยกะ ยา เราะสูลัลลอฮฺ) หมายถึงโอ้ เราะสูลุลลอฮฺ ฉันตอบรับคำเชิญชวนของท่านแล้ว ซึ่งถือเป็นธรรมเนียมชีวิตของบรรดาเศาะฮาบะฮฺที่มีต่อนบีมูฮัมมัด(ขอความสันติสุขจงมีแด่ท่าน) 

 

            3.3 การตอบรับที่จะเชื่อฟังผู้นำผู้ทรงคุณธรรม โดยไม่แสดงอาการกระด้างกระเดื่อง ตราบใดที่ผู้นำสั่งใช้ในสิ่งที่สอดคล้องกับหลักการอิสลาม โดยผ่านคำพูดที่ว่า لَبَّيْكَ يا وَلِيَّ الأَمْرِ  (ลับบัยกะ ยา วะลิยัลอัมริ) หมายถึง โอ้ผู้นำของฉัน ฉันเชื่อฟังท่านแล้ว และนี่คือธรรมเนียมชีวิตของบรรดาเศาะฮาบะฮฺที่มีต่อผู้นำของเขา

 

            วิถีทัศน์ทั้ง 3 ประการข้างต้นถือเป็นเคล็ดลับสำคัญของฮัจญ์มับรูรฺ เพื่อสร้างมุสลิมให้เป็นผู้มีใจภักดีและมีพฤติกรรมน้อมรับ ซึ่งถือเป็นหัวใจของการกระทำความดีทั้งต่ออัลลอฮฺ เราะสูล ผู้นำและมวลมนุษย์ทั้งหลาย

 

           

 

ด้วยการประกอบพิธีฮัจญ์ที่อยู่บนหลักการดังกล่าวเท่านั้นที่ผู้ประกอบฮัจญ์จะได้รับการตอบรับเป็นฮัจญ์มับรูรฺที่ได้รับการตอบแทนเป็นสรวงสวรรค์ ซึ่งมีผลต่อวิถีชีวิตมุสลิมสู่การใช้ชีวิตที่พอเพียงบนโลกนี้ เป็นผู้ใฝ่โลกอะคีเราะฮฺและไม่หวนกลับกระทำสิ่งอบายมุขทั้งปวง ภายหลังจากกลับสู่มาตุภูมิแล้ว

 

            ดังนั้น ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับกิจการฮัจญ์ ไม่ว่าในระดับเอกชนหรือรัฐบาล จำเป็นต้องตระหนักและให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวดกับการยกระดับและพัฒนาฮัจญ์สู่การเป็นฮัจญ์มับรูรฺ ในการทำหน้าที่เป็นเบ้าหลอมสร้างประชากรผู้ทรงคุณธรรมและมีคุณภาพ มีภูมิคุ้มและเรืองปัญญา เหมาะสมเป็นชาวสวรรค์ที่นอบน้อมต่ออัลลอฮฺและเอื้ออาทรต่อบ่าวของพระองค์ เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาสังคมและประเทศอย่างยั่งยืน สู่การสถาปนาความเป็นเอกภาพของประชาชาติที่ดีเลิศที่เผยแผ่และมอบความโปรดปรานแห่งอิสลามแก่สากลจักรวาล

 

วัตถุประสงค์ที่แท้จริงของหลักศาสนบัญญัติในอิสลาม อันประกอบด้วย คำปฏิญาณตน การละหมาด การถือศีลอด การจ่ายซะกาตและทำฮัจญ์ นอกเหนือจะพยายามฝึกฝนให้มุสลิมหมั่นปฏิบัติเป็นกิจวัตรแล้ว สิ่งที่เป็นแก่นแท้ที่สุดก็คือ การให้มุสลิมรู้จักประยุกต์ใช้หลักการดังกล่าวให้สามารถเข้ามีบทบาทในวิถีชีวิตประจำวัน หาไม่แล้วก็จะเป็นเพียงการท่องคาถาหรือประกอบพิธีกรรมที่ไร้วิญญาณที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของมุสลิมเลย

 

            โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การประกอบพิธีฮัจญ์ซึ่งเป็นองค์รวมของสาสน์อิสลาม ที่มุสลิมทุกคนโดยเฉพาะผู้ประกอบพิธีฮัจญ์ จำเป็นต้องศึกษาเรียนรู้ให้ถ่องแท้และรู้แจ้ง หาไม่แล้ว ฮัจญ์ก็จะเป็นเพียงแค่พิธีกรรมที่ปฏิบัติตามเทศกาลเท่านั้น การเดินทางสู่มหานครมักกะฮฺ ก็เป็นเพียงทัศนาจรที่อยู่ภายใต้การจัดการของอุตสาหกรรมธุรกิจการท่องเที่ยว  โดยไม่มีโอกาสซึมซาบปรัชญาฮัจญ์ที่แท้จริง เป็นผลให้วิถีชีวิตมุสลิมต้องตกอยู่ในวังวนแห่งภาวะความเสื่อมถอยอย่างไม่มีสิ้นสุด

 

            อัลกุรอานได้กล่าวไว้ว่า

 

«ضُرِبَتْ عَلَيْهِمُ الذِّلَّةُ أَيْنَ مَا ثُقِفُوا إِلاَّ بِحَبْلٍ مِّنَ اللَّهِ وَحَبْلٍ مِّنَ النَّاسِ»

 

ความว่า “ความต่ำช้าได้ถูกฟาดลงบนพวกเขา ณ ที่ใดก็ตามที่พวกเขาถูกพบ นอกจากด้วยสายเชือกจากอัลลอฮฺและสายเชือกจากมนุษย์” (อาล อิมรอน 112)

 

 

 

สายเชือกจากอัลลอฮฺ คือ การประพฤติปฏิบัติให้อยู่ในกรอบที่อัลลอฮฺกำหนดไว้ด้วยการทำความเคารพภักดีต่อพระองค์ ส่วนสายเชือกจากมนุษย์หมายถึง การเชื่อมสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเพื่อนมนุษย์และการร่วมใช้ชีวิตบนโลกนี้อย่างปกติสุข

 

สังคมมุสลิมในทุกระดับ ไม่สามารถปลดห่วงโซ่ตรวนและวังวนแห่งความเสื่อมถอย เว้นแต่จะยึดมั่นในสายเชือกแห่งอัลลอฮฺและสายเชือกของเพื่อนมนุษย์ผู้เป็นบ่าวของอัลลอฮฺที่เป็นพี่น้องกัน โดยยึดมั่นในหลักการเอื้ออาทรและสันติภาพ ซึ่งองค์รวมแห่งสาสน์สันติเหล่านี้ จะถูกผนวกรวมอยู่ใน “ฮัจญ์มับรูรฺ” เท่านั้น วัสสลาม.

Go to the Top