خطر المعاصي
มนุษย์ทุกคนล้วนเกิดมาในสภาพบริสุทธิ์จากบาป ความผิดและบาปเกิดจากการที่มนุษย์ทำตามคำยั่วยวนของชัยฏอนและอารมณ์ใฝ่ต่ำ โดยทั่วไปแล้วบาปสามารถแบ่งออกเป็นสามประเภทคือ บาปใหญ่ บาปเล็ก บาปที่เกี่ยวข้องกับผู้อื่น
บาปใหญ่คือ บาปที่อัลลอฮฺกำหนดโทษหนักทั้งในโลกนี้และโลกหน้า เช่น ชิรกฺหรือการตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺ ซึ่งเป็นบาปที่ใหญ่ที่สุดและทำให้มุสลิมตกศาสนา
ตัวอย่างบาปใหญ่อื่นๆ เช่นการฆ่าผู้อื่นโดยมิชอบ การผิดประเวณี การดื่มเหล้า ฯลฯ
บาปเล็กคือ บาปที่สามารถลบล้างได้ด้วยการทำความดีทดแทน เช่นบาปจากการฟังหรือดูสิ่งต้องห้าม และการเผลอกระทำผิดที่ไม่ถึงขั้นเป็นบาปใหญ่ เป็นต้น
บาปที่เกี่ยวข้องกับผู้อื่น เช่น การนินทา การยักยอกทรัพย์ การกล่าวหาว่าร้าย การด่าทอ การทำร้ายผู้อื่นให้บาดเจ็บ เป็นต้น
การทำบาปไม่ว่าจะเป็นบาปประเภทใดมีผลทำให้ผู้ทำบาปนั้นมีมลทินและต้องได้รับการชำระในโลกหน้า การทำบาปมักจะก่อผลเสียให้กับมนุษย์ เช่น การผิดประเวณีก็อาจจะทำให้เป็นโรคร้าย การดื่มเหล้าเป็นผลเสียต่อสุขภาพ การนินทาว่าร้ายทำให้เกิดปัญหาทะเลาะเบาะแว้งกับผู้อื่น เป็นต้น
นอกจากนี้การทำบาปยังเป็นเหตุให้ผู้กระทำบาปนั้นไม่เป็นสุข เพราะหัวใจถูกครอบงำด้วยความเลวทราม กิเลสตัณหา และความมืดบอดจากความเมตตาของอัลลอฮฺ
มนุษย์ทุกคนเกิดมาหลีกเลี่ยงจากการทำบาปไม่พ้นยกเว้นบรรดาศาสนทูตเท่านั้น ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวไว้มีใจความว่า “มนุษย์ผู้เป็นลูกหลานอาดัมล้วนมีความผิด และผู้ที่ดีที่สุดในหมู่พวกเขาคือผู้ที่ขออภัยโทษเพื่อชำระความผิดของเขา” (รายงานโดย อิบนุ มาญะฮฺ)
เมื่อหลีกเลี่ยงจากการทำบาปไม่พ้น มนุษย์จึงต้องให้ความสำคัญกับการลบล้างบาป ด้วยการขออภัยโทษจากอัลลอฮฺ การหมั่นทำความดีเพื่อลบล้างบาป เพราะอัลกุรอานได้บอกไว้ว่า
إِنَّ الْحَسَنَاتِ يُذْهِبْنَ السَّـيِّئَاتِ (سورة هود :114)
“แท้จริงความดีทั้งหลายนั้นสามารถลบล้างความชั่วร้ายได้” (อัลกุรอาน สูเราะฮฺ ฮูด: 114)
และถ้าหากบาปที่ทำนั้นเกี่ยวข้องกับผู้อื่นก็ต้องคืนสิทธิอันชอบธรรมของคนผู้นั้นให้เขา นอกจากนี้ต้องมีความคิดแน่วแน่ที่จะเลิกทำบาป และหากพลั้งเผลอทำบาปอีกก็ต้องเริ่มต้นในการขออภัยโทษอีก
แท้จริงแล้วอัลลอฮฺทรงโปรดผู้ที่ขออภัยจากพระองค์ เช่นที่พระองค์ได้ตรัสไว้ว่า
إِنَّ اللّهَ يُحِبُّ التَّوَّابِينَ وَيُحِبُّ الْمُتَطَهِّرِينَ (سورة البقرة :222)
“แท้จริงอัลลอฮฺทรงรักผู้ที่มากด้วยการขออภัยและผู้ที่สะอาด” (สูเราะฮฺ อัล-บะเกาะเราะฮฺ: 222)
ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม เองก็ได้ทำตัวอย่างด้วยการกล่าวอภัยโทษวันละ 100 ครั้ง ดังที่ท่านได้กล่าวไว้มีความว่า “แท้จริงฉันกล่าวขออภัยโทษต่ออัลลอฮฺวันละหนึ่งร้อยครั้ง” (รายงานโดย มุสลิม)
- ข้อคิดที่ได้รับจากบทเรียน
1. บาปมีหลายระดับ ทั้งที่เป็นบาปใหญ่ บาปเล็ก และบาปที่เกี่ยวข้องกับผู้อื่น
2. การทำบาปเป็นผลเสียต่อตัวมนุษย์เองโดยเฉพาะในโลกหน้า เพราะบาปเป็นสาเหตุที่ทำให้มนุษย์ต้องได้รับโทษในขุมนรก
3. มนุษย์ทุกคนต้องเอาใส่ในใจในการดูแลตัวเองไม่ให้ทำบาป และลบล้างบาปที่ตนทำ
4. การลบล้างบาป มีวิธีคือ การขออภัยโทษจากอัลลอฮฺ การทำความดีลบล้างความผิด การเลิกจากความผิดที่ทำอยู่ การมีความแน่วแน่ว่าจะไม่หวนกลับไปทำบาปอีก และการคืนสิทธิอันชอบธรรมแก่ผู้เป็นเจ้าของ
5. แท้จริงอัลลอฮฺทรงรักผู้ที่ขออภัยโทษจากพระองค์ และความเมตตาของพระองค์นั้นกว้างขวางไพศาลมากกว่าบาปทั้งหมดที่มนุษย์ได้กระทำ
6. มนุษย์ต้องรู้จักใช้โอกาสที่อัลลอฮฺประทานให้ เพื่อขออภัยโทษจากพระองค์โดยไม่ย่อท้อและไม่เกียจคร้านที่จะกล่าวขออภัยโทษอย่างน้อยวันละ 100 ครั้ง
- คำถามหลังบทเรียน
1. ท่านคิดว่าบาปต่างๆ มีผลเสียต่อตัวมนุษย์อย่างไรบ้าง?
2. ท่านคิดว่ามีวิธีการใดบ้าง เพื่อให้มนุษย์สามารถเลิกจากการทำบาป?
3. ท่านคิดว่าตัวเองมีความต้องการที่จะใช้ชีวิตอย่างปลอดจากบาปหรือไม่? และต้องทำอย่างไร?
4. ท่านคิดว่าสามารถกล่าวอภัยโทษอย่างน้อยวันละ 100 ครั้งได้หรือไม่? ท่านจะมีวิธีทำให้ได้อย่างไร?