إنما الأعمال بالنيات
عَنْ أَمِيرِ الْمُؤْمِنِينَ أَبِي حَفْصٍ عُمَرَ بْنِ الْخَطَّابِ رضي الله عنه قَالَ: سَمِعْت رَسُولَ اللهِ صلى الله عليه وسلم يَقُولُ: " إنَّمَا الأَعْمَالُ بِالنِّيَّاتِ، وَإِنَّمَا لِكُلِّ امْرِئٍ مَا نَوَى، فَمَنْ كَانَتْ هِجْرَتُهُ إلَى اللهِ وَرَسُولِهِ فَهِجْرَتُهُ إلَى اللهِ وَرَسُولِهِ، وَمَنْ كَانَتْ هِجْرَتُهُ لِدُنْيَا يُصِيبُهَا أَوْ امْرَأَةٍ يَنْكِحُهَا فَهِجْرَتُهُ إلَى مَا هَاجَرَ إلَيْهِ" .
รายงานจากอะมีรุลมุอฺมินีน อบูหัฟศฺ อุมัร บิน อัลค็อตฏอบ เราะฎิยัลลอฮุอะนฮุ ท่านกล่าวว่า ข้าพเจ้าได้ยินท่านรสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า “แท้จริงทุกๆการงานจะขึ้นอยู่กับการตั้งเจตนา และแท้จริงทุกๆคนจะได้รับ (การตอบแทน) ตามที่เขาได้เจตนาไว้ ดังนั้นผู้ใดที่การอพยพของเขามีเจตนาเพื่อ (แสวงหาความโปรดปรานจาก) อัลลอฮฺและรสูลของพระองค์ การอพยพของเขาก็จะกลับไปสู่ (ความโปรดปรานของ) อัลลอฮฺและรสูลของพระองค์ และผู้ใดที่การอพยพของเขามีเจตนาเพื่อ (ผลประโยชน์) ทางโลกที่เขาจะได้รับ หรือเพื่อหญิงนางหนึ่งที่เขาหวังจะแต่งงานด้วย การอพยพของเขาก็จะกลับคืนสู่สิ่งที่เขาได้อพยพไป (จะถูกพิจารณาตามที่เขาได้ตั้งเจตนาไว้)” [ บันทึกโดย อัลบุคอรีย์, เลขที่ 1, มุสลิม, เลขที่ 1907 ]
- หมายเหตุ
หะดีษนี้เป็นหนึ่งในบรรดาหะดีษที่เป็นแกนหลักของคำสอนอิสลาม อิมามอะหมัดและอิมามอัชชาฟิอีย์กล่าวว่า “ในหะดีษที่เกี่ยวกับการตั้งเจตนานี้ประกอบด้วยหนึ่งส่วนสามของศาสตร์ต่างๆ เพราะการกระทำของมนุษย์จะประกอบด้วยการกระทำของจิตใจ การกระทำของปากหรือลิ้น และการกระทำของอวัยวะส่วนอื่นๆของร่างกาย และเนียต (เจตนา) เป็นหนึ่งในบรรดาการกระทำทั้งสามประเภทดังกล่าว”
มีรายงานจากอิมามอัชชาฟิอีย์ ท่านกล่าวว่า “หะดีษนี้ครอบคลุมปัญหาด้านนิติศาสตร์จำนวน 70 ปัญหา” และมีอุละมาอฺบางท่านระบุว่า “หะดีษนี้เป็นหนึ่งในสามของหลักการอิสลาม” วัลลอฮุอะอฺลัม
- บทเรียนจากหะดีษ
1. เนียตหรือเจตนาเป็นเงื่อนไขที่จะระบุว่าการงานจะถูกรับหรือถูกปฏิเสธ
2. การประกอบอิบาดะฮฺใดๆจะไม่ได้รับการตอบแทนผลบุญ หากปราศจากการตั้งเจตนา (เนียต) ที่บริสุทธิ์เพื่ออัลลอฮฺ
3. เวลาสำหรับการตั้งเจตนาคือเวลาเริ่มตั้นของอิบาดะฮฺ และสถานที่ของมันคือในจิตใจ ไม่ใช่คำพูดที่กล่าวออกจากปาก
4. การมีเจตนาที่บริสุทธิ์เพียงเพื่ออัลลอฮฺเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับทุกๆการทำดีและการประกอบอิบาดะฮฺ
5. มุอฺมินแต่ละคนจะได้รับการตอบแทนผลบุญตามสภาพของเจตนาที่เขาได้เจตนาไว้
6. ทุกๆการกระทำที่เป็นประโยชน์และเป็นที่อนุมัติ เมื่อถูกปฏิบัติพร้อมกับมีเจตนาเพื่อแสวงหาความโปรดปรานจากอัลลฮฺ การกระทำนั้นก็จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของอิบาดะฮฺที่ผลบุญตอบแทน
7. การตั้งเจตนาจะเป็นเครื่องแยกแยะระหว่างการกระทำที่เป็นอิบาดะฮฺกับการกระทำที่เป็นปกติวิสัย
8. หะดีษข้างต้นบ่งชี้ว่า เนียตหรือเจตนาเป็นสาขาหนึ่งของอิมาน เพราะมันเป็นการกระทำของจิตใจ เพราะอิมานในความหมายของอะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัลญะมาอะฮฺ หมายถึง “การเชื่อมั่นในจิตใจ การกล่าวขานด้วยปาก และการปฏิบัติด้วยอวัยวะส่วนอื่นๆ”
- หัวข้อต่างๆของหะดีษ
1. การตั้งเจตนาและความบริสุทธิ์ใจ (ดู สูเราะฮฺ อัลอะอฺรอฟ 29, อัลบัยยินะฮฺ 5)
2. การอพยพ (ฮิจญ์เราะฮฺ) (ดู สูเราะฮฺ อันนิสาอฺ 97, อัลบะเกาะเราะฮฺ 218, อาลิอิมรอน 195, อัลอันฟาล 72)
3. การยั่วยวนใจของโลก (ดู อาลิอิมรอน 145, อันนิสาอฺ 135, อัลอันอาม 70, อัลอันฟาล 67)