فوائد الصيام : نظرة طبية
อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ในสูเราะฮฺ อัล-บะเกาะเราะฮฺ อายะฮฺที่ 183 ว่า
«يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا كُتِبَ عَلَيْكُمُ الصِّيَامُ كَمَا كُتِبَ عَلَى الَّذِينَ مِنْ قَبْلِكُمْ لَعَلَّكُمْ تَتَّقُونَ» (البقرة/183)
มีใจความว่า “โอ้ บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย การถือศีลอดได้ถูกบัญญัติแก่พวกเจ้า ดังเช่นได้ถูกบัญญัติแก่ประชาชาติก่อนเจ้า เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้ยำเกรง” ( 2/183 )
การถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอน เป็นอิบาดะฮฺเฉพาะอย่างหนึ่ง ได้ถูกบัญญัติลงมาใน เดือนชะอฺบานปีที่ 2 แห่งฮิจญ์เราะฮฺศักราช เป็นอิบาดะฮฺที่เน้นการงานทางด้านจิตวิญญาณเป็นสำคัญ คือให้คนรู้จักความอดทน อดกลั้นหรือละเว้นจากการกิน การดื่ม การร่วมรสระหว่างสามีภรรยา รวมถึงการกระทำในสิ่งที่ไร้สาระหรือขัดต่อคุณธรรม เริ่มตั้งแต่รุ่งอรุณจนถึงตะวันลับขอบฟ้า ด้วยเจตนา(เนียต)เพื่อพระองค์อัลลอฮฺเท่านั้น
การถือศีลอด มิใช่ ความอดอยาก เพราะการถือศีลอดมีจุดม่งหมายและหลักปฏิบัติอย่างชัดเจน มุอ์มินผู้ศรัทธาเชื่อว่าจะต้องมีหิกมะฮฺ(เคล็ดลับ)อย่างแน่นอน เช่น สำนักการแพทย์ธรรมชาติบำบัดที่เน้นการบำบัดรักษาโรคด้วยวิธีการอดอาหารเป็นหลัก ในโอกาสนี้จะขออธิบายถึงหลักการบางอย่างที่เกี่ยวกับการถือศีลอดว่า มีความสอดคล้องหรือขัดต่อหลักวิชาการแพทย์อย่างไรหรือไม่ เป็นพอสังเขป ดังนี้
1. ระยะเวลาการถือศีลอด
การถือศีลอดเราะมะฎอนหรือถือศีลอดสุนัตก็ดี จะใช้ระยะเวลาในการละเว้นจากสิ่งต้องห้ามโดยเฉลี่ยประมาณ 13 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งโดยปกติเราทุกคนมีการอดอาหารอยู่แล้วครั้งละ10-12 ชั่วโมง คือหลังอาหารเย็น(ค่ำ)จนถึงการกินอาหารในวันเช้าใหม่และในการตรวจวินิจฉัยโรคบาอย่าง เช่นการเจาะเลือดผู้ป่วยก็ต้องอดอาหารเป็นระยะเวลา 10-12 ชั่วโมง เช่นกัน ดังนั้นจะเห็นว่าระยะเวลาของการถือศีลอดไม่ขัดต่อหลักการตามธรรมชาติที่อัลลอฮฺกำหนด(สุนนะตุลลอฮฺ)หรือหลักทางการแพทย์แต่อย่างใด แต่จะมีความแตกต่างกันอยู่ที่ช่วงเวลากลางวันหรือกลางคืน ซึ่งการถือศีลอดยึดเอาช่วงเวลากลางวันเป็นหลัก ก็เพราะมีจุดประสงค์ที่มากกว่าการอดอาหารทั่วไปนั้นอง
2. การเปลี่ยนแปลงในร่างกาย
การถือศีลอดจะทำให้ร่างกายต้องขาดพลังงานจากสารอาหารและต้องสูญเสียน้ำจากการขับถ่ายออกจากร่างกาย การสูญเสียน้ำมากกว่า 2% ของน้ำหนักตัวจะทำให้รู้สึกกระหายน้ำ และเมื่อระดับในน้ำตาลกลูโคสในกระแสเลือดและเซลล์ลดลงก็จะทำให้รู้สึกหิว ซึ่งจะเกิดอาการหลังจากการอดไปแล้วประมาน 6 - 12 ชั่วโมง ซึ่งเรียกนี้ว่าระยะหิวโหย
ระดับน้ำตาลกลลูโคสและน้ำลดที่ลดลงจะกระตุ้นเซลล์ประสาท(นิวรอน)บริเวณฮัยโปทาลามัส(Hypothalamus)ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นศูนย์ควบคุมความหิว ศูนย์อิ่มและศูนย์กระหายน้ำ สำหรับคนที่มีร่างกายปกติมีเจตนาอย่างแน่วแน่และมีความเชื่อมั่นต่อบทบัญญัติของอัลลอฮฺแน่นอนจะไม่ทำให้เขาถึงขั้นมีอาการหน้ามืดหรือหมดสติไป เพราะระบบต่างๆ ในร่างกายจะช่วยประสานงานกันโดยอัตโนมัติเพื่อที่จะรักษาสมดุลให้เกิดขึ้นในร่างกาย
ในระยะแรกร่างกายจะเริ่มมีการสลายพลังงานในรูปของไกลโคเจนที่เก็บสะสมไว้ในตับและกล้ามเนื้อ โดยมีฮอร์โมนกลูกากอนจากตับอ่อนมาช่วยในปฏิกิริยาเคมีนี้จะได้น้ำตาลกลูโคสเพื่อนำไปใช้เป็นพลังงานต่อไป ส่วนต่อมหมวกไต(Adrenal Gland)ในส่วนใน(Medulla) ก็จะถูกกระตุ้นให้หลั่งเอพิเนฟริน( Epinephrine )เพิ่มมากขึ้น และมีผลทำให้เซลล์อื่นๆใช้พลังงานลดน้อยลงด้วย
ถ้าพลังงานที่ได้รับจากการสลายไกลโคเจนไม่เพียงพอ ก็จะสลายพลังงานสำรองในรูปของไขมัน ซึ่งกรดไขมันอิสระออกมาสู่กระแสเลือดและจะถูกเปลี่ยนไปเป็นกลูโคสเพื่อนำไปใช้เป็นพลังงานต่อไป ส่วนการรักษาดุลน้ำและเกลือแร่ก็เป็นหน้าที่ของ Hypothalamus เช่นกันที่จะกระตุ้นให้ต่อมใต้สมองได้หลั่งฮอรโมน Vasopressin หรือ ADH จะมีผลทำให้ไตมีการดูดซึมน้ำกลับมาใช้เพิ่มมากขึ้นจึงทำให้ปัสสาวะน้อยลงและมีสีเข้มมากกว่า
ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าอัลลอฮฺทรงรอบรู้ยิ่งเกี่ยวกับการทำงานของระบบต่างๆในร่างกายของมนุษย์และพระองค์ก็ได้กำชับให้เราศึกษาเกี่ยวกับตัวของเราเอง ดังคำตรัสของอัลลอฮฺ
«وَفِي أَنْفُسِكُمْ أَفَلا تُبْصِرُونَ» (الذاريات/21)
ความว่า : "และในตัวของพวกเจ้า พวกเจ้าไม่เห็นอะไรดอกหรือ?” (อัซ-ซารียาต 51 : 21)
3. การละศีลอด
ท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้แนะนำวิธีการละศีลอดไว้อย่างไร?
เมื่อเวลาละศีลอด อิสลามให้เรารีบละศีลอดก่อนที่จะดำรงการละหมาดและแนะนำให้ละศีลอดด้วยลูกอินทผลัมหรือด้วยน้ำ มีรายงานจากท่านอะนัส บิน มาลิก เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุ กล่าวว่า “ปรากฏว่าท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ละศีลอดด้วยอินทผลัมที่สุกงอมก่อนที่จะไปละหมาด ถ้าไม่มีอินทผลัมที่สุกงอมก็จะแก้ด้วยอินทผลัมที่แห้ง ถ้าหากไม่มีอินทผลัมที่แห้งก็จะจิบน้ำหลายจิบ” (บันทึกโดย อะหมัด, อบู ดาวูด, อิบนุ คุซัยมะฮฺ และอัต-ติรมิซีย์)
ในลูกอินทผลัมมีอะไรหรือ ? จากการวิจัยทางด้านโภชนาการทำให้เราทราบว่า ในลูกอินทผลัมที่สุกงอมนั้นประกอบด้วย น้ำตาลฟรุกโตส น้ำ วิตามิน และแร่ธาตุ โดยเฉพาะน้ำตาลฟรุกโตสจัดเป็นสารอาหารที่ให้พลังงานแก่รร่างกายชนิดหนึ่ง มีการดูดซึมบริเวณลำไส้เล็ก โดยวิธี Facilitate diffusion ซึ่งไม่ต้องใช้พลังงาน ส่วนน้ำตาลกลูโคสและกาแลกโตสนั้นจะดูดซึมแบบ Secondary Active ซึ่งต้องอาศัยทั้งตัวพาและพลังงาน
ดังนั้นในสภาวะที่ร่างกายกำลังอ่อนเพลียจากการขาดพลังงานและน้ำ ลูกอินทผลัมน่าจะเป็นผลไม้ที่ดีชนิดหนึ่งสำหรับผู้ที่ถือศีลอด ส่วนผลไม้ชนิดอื่นๆ ที่มีรสหวานก็สามารถทานได้(แต่ไม่ใช่ซุนนะฮฺ)
ในทางตรงกันข้ามถ้าละศีลอดด้วยน้ำเย็นหรืออาหารหนักและอิ่มมากจนเกินไปก่อนจะไปละหมาดแทนที่เราจะได้พลังงานกลับคืนมาอย่างเร็ว เรากลับต้องเสียพลังงานไปเนื่องจากเลือดจะถูกส่งไปยังกระเพาะอาหารและลำไส้เพิ่มมากขึ้น ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองน้อยลง(สมองต้องการนำตาลกลูโคสประมาณ 40 % จากทั้งหมด) จึงทำให้มีอาการมึนงง เวียนศรีษะ อ่อนเพลีย แน่นหน้าอกและง่วงซึมได้ ดังนั้นในขณะที่แก้ศีลอดท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวคำดุอาอ์ว่า
ذهب الظمأ وابتلت العروق وثبت الأجر إن شاء الله
ความว่า "ความกระหายน้ำได้สูญหายแล้ว เส้นโลหิตได้ชุ่มชื่นและจะได้รับการตอบแทนอย่างแน่นอน อินชาอัลลอฮฺ” (อบู ดาวูด, อัล-บัยฮะกีย์ และอัล-หากิม)
4. จุดประสงค์ของการถือศีลอด
มนุษย์อาจจะมีฐานะที่สูงส่งหรือต่ำต้อยกว่าสัตว์เดรัจฉานก็ได้ ขึ้นอยู่กับความศรัทธาและอิบาดะฮฺของเขาต่ออัลลอฮฺประกอบกับความสามารถในการใช้สติปัญญาและจิตสำนึก เพื่อเอาชนะอารมณ์ใฝ่ต่ำหรือกิเลสได้ จะต้องผ่านการฝึกอบรมเป็นการพิเศษอย่างต่อเนื่องกับปัจจัยที่มีความสำคัญสำหรับชีวิตโดยมีเป้าหมายที่ชัดเจน เช่นการถือศีลอดเราะมะฎอน
ทำไมเราจะต้องอดน้ำอดอาหารทั้งๆ ที่รู้ว่าเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิต โดยปกติแล้ว เป็นสิ่งที่ได้อนุมัติ(หะลาล)สำหรับมนุษย์ รวมถึงการหลับนอนร่วมรสระหว่างสามีภรรยาในเวลากลางวันต้องกลับมาเป็นสิ่งที่ต้องห้ามในเดือนเราะมะฎอน
คำตอบก็คือ เพื่อพิสูจน์ความเป็นผู้ศรัทธาที่แท้จริง เพื่อแสดงให้เห็นว่าความรู้สึกหิวโหยหรืออารมณ์ ใฝ่ต่ำเขาสามารถควบคุมได้ซึ่งต่างกับสัตว์เดรฉานที่พร้อมจะสนองตอบอารมณ์อยากใคร่ของมันได้ทุกเมื่อดังนั้นเมื่อเดือนเราะมะฎอนสิ้นสุดแล้วจะมีการเฉลิมฉลองความสำเร็จที่เรียกว่าอีดุลฟิฏร์ คือเฉลิมฉลองการมีใจที่บริสุทธิ์ เข้มแข็ง หลุดพ้นจากการครอกงำของของฮาวานัฟสูหรือชัยฏอนนั่นเอง
ดังนั้นการดำรงชีวิตของมุอฺมินทุกคนหลังจากเราะมะฎอนแล้ว จะเปรียบเสมือนชีวิตของคนที่ในสภาวะการถือศีลอดตลอดไป เขาจะต้องอดกลั้น ละเว้นจากการกระทำในสิ่งที่เป็นหะรอม(ทุจริต คอรัปชั่น คดโกง รับสินบน รับส่วย กินดอกเบี้ย เป็นต้น) และต้องห่างไกลจากการกระทำซินา ได้อย่างง่ายดายด้วยความภาคภูมิใจ เพราะเขาได้บรรลุถึงขั้น อัล-มุตตะกีน (ผู้ยำเกรง ผู้สำรวม) นั่นเอง ซึ่งอัลลออฮฺได้ให้คำมั่นสัญญาว่า
«إِنَّمَا يَتَقَبَّلُ اللَّهُ مِنَ الْمُتَّقِينَ» (المائدة/27)
ความว่า “แท้จริงอัลลอฮฺจะทรงรับงานของผู้ตักวาเท่านั้น” (อัล-มาอิดะฮฺ 5 :27)
5. บทสรุป
จากคำอธิบายโดยย่อๆ ข้างต้น พอจะสรุปได้ว่าแท้จริงการถือศีลอดนั้น ไม่ขัดต่อหลักการแพทย์แต่อย่างใด เพราะคุณสมบัติบางประการของผู้ที่ถือศีลอดนั้นต้องเป็น มุอ์มินที่มีสุขภาพดี และมิใช่ผู้ที่มีอุปสรรคบางอย่าง (ดูรายละเอียดในวิชาฟิกฮฺ) ส่วนบุคคลที่มีอุปสรรคจริงๆ จะได้รับการผ่อนผันหรือยกเว้นจากการถือศีลอดโดยบุคคลกลุ่มหนึ่งจะต้องถือศีลอดใช้และกลุ่มหนึ่งต้องจ่ายฟิดยะฮฺแทน นั่นก็เป็นเพราะความเมตตาและรอบรู้ของอัลลลอฮฺเกี่ยวกับปฏิกิริยาเคมี กลไกการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกายมนุษย์นั้นเอง
แน่นอนมิใช่ความประสงค์ของอัลลลอฮฺหากว่าอิบาดะฮฺนั้นจะนำไปสู่ความสูญเสีย(ทำให้เกิดโรค)แก่บ่าวของพระองค์ มีนักวิชาการอเมริกาคนหนึ่งชื่อนายแพทย์ Allan Cott ได้เขียนหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า “ Why Fast?” (ทำไม่ต้องถือศีลอด) ซึ่งเป็นผลจากการวิจัยของเขาจากหลายๆ ประเทศ เขาได้สรุปถึงเคล็ดลับของการถือศีลอดไว้ 10 ข้อ ดังนี้
1. to feel better physically and mentally
= ทำให้รู้สึกว่ามีสุขภาพและจิตใจที่ดีขึ้น
2. to look and feel younger
= ทำให้มองเห็นและรู้สึกอ่อนเยาว์ขึ้น
3. to clean out the body
= ทำให้ร่างกายสะอาดสะอ้าน
4. to lower blood pressure and cholesterol levels
= ช่วยลดความดันโลหิตสูง และระดับคอเลสเตอรอลในเลือด
5. to get more out of sex
= ช่วยลดความรู้สึกอารมณ์ใคร่ (เซ็กส์)
6. to let the body health itself
= ช่วยให้ร่างกายบำบัดตนเอง
7. to relieve the tension
= ช่วยลดความตรึงเครียด
8. to sharp the sense
= ช่วยให้สติปัญญาเฉียบแหลม
9. to again control of ourselves
= ทำให้สามารถควบคุมตนเองได้
10. to slow the aging process
= ช่วยชะลอความชรา
นอกจากหิกมะฮฺดังกล่าวแล้ว ท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ยังกล่าวไว้ มีใจความ “แด่ผู้ถือศีลอดนั้น เขาจะได้รับความสุขสองประการคือ ความสุขเมื่อถึงยามละศีลอด และจะมีความสุขเมื่อได้พบกับผู้อภิบาลของเขา(ในวันกียามัต)” พร้อมกับรางวัลที่สูงสุดคือสวนสวรรค์ ซึ่งเขาจะเดินเข้าทางประตู อัร-ร็อยยาน ที่ได้สร้างเฉพาะแก่บรรดาผู้ที่ถือศีลอดด้วยความสุจริตใจต่ออัลลอฮฺเท่านั้น ...