Ражаб ойи шариат мезонида
อารัมภบท
อัลลอฮฺทรงกำหนดให้บางวัน บางคืนและบางเดือนประเสริฐกว่าอีกบางส่วน ด้วยเหตุผลที่ล้ำลึกยิ่ง เพื่อให้ปวงบ่าวของพระองค์ได้เริ่มต้นกระทำความดีอีกครั้ง และได้ปฏิบัติความดีที่มากมายในช่วงเวลาแห่งความประเสริฐดังกล่าว แต่บรรดามารร้ายทั้งในคราบของญินและมนุษย์ก็ทำงานอย่างแข็งขันเพื่อสกัดกั้นและขัดขวางบ่าวของพระองค์ไม่ให้ดำเนินตามเส้นทางที่เที่ยงตรง
พวกเขาจะพยายามทุกวิถีทางเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของให้มนุษย์ออกห่างจากการกระทำดีต่างๆ ด้วยการปลูกฝังและแต่งแต้มแนวคิดให้กับชนกลุ่มหนึ่งให้มีความรู้สึกว่าฤดูกาลแห่งการทำความดีและความโปรดปรานนั้นคือฤดูกาลและโอกาสของความบันเทิงและพักผ่อน และเป็นสนามสำหรับการแสวงหาความสนุกสนานและอารมณ์ตัณหา
ขณะเดียวกันก็ยั่วยุและส่งเสริมชนอีกกลุ่มหนึ่งที่มีใจกุศลและชอบกระทำความดีแต่ไม่ค่อยประสาและรู้เรื่องเกี่ยวกับบัญญัติศาสนา หรือบรรดาผู้ที่มีผลประโยชน์ และบรรดาแกนนำทางศาสนาหรือทางโลกที่หวาดกลัวว่าผลประโยชน์และสถานะทางสังคมของตนจะสั่นคลอนจากการมาเยือนของฤดูกาลแห่งความดีต่างๆ ดังนั้น พวกเขาจึงได้อุตริฤดูกาลแห่งความดีขึ้นมาเพื่อรักษาผลประโยชน์และสถานะทางสังคมของตนไว้โดยปราศจากหลักฐานอย่างสิ้นเชิง
หัสสาน บิน อะฏิยะฮฺกล่าวว่า “กลุ่มชนใดกระทำอุตริกรรมในศาสนาของพวกเขาแม้เพียงอุตริกรรมเดียว อัลลอฮฺก็จะยกสุนนะฮฺบางส่วนออกจากพวกเขาเช่นเดียวกัน และพระองค์จะไม่ส่งคืนสุนนะฮฺนั้นให้แก่พวกเขาอีกตราบจนถึงวันกิยามะฮฺ” (หิลยะตุลเอาลิยาอ์ เล่ม 6 หน้า 73)
ยิ่งกว่านั้น อัยยูบ อัลสิคติยานีย์ ยังกล่าวว่า “ผู้กระทำอุตริกรรมยิ่งเพิ่มความพยายามมากเท่าใด เขาก็จะยิ่งห่างไกลจากอัลลอฮฺมากเท่านั้น” (หิลยะตุลเอาลิยาอ์ เล่ม 3 หน้า 9)
และอาจเป็นไปได้ว่า ส่วนหนึ่งของฤดูกาลแห่งการอุตริกรรมที่โดดเด่น คือการเจาะจงทำอิบาดะฮฺและความดีต่างๆในเดือนเราะญับของบ่าวบางคนในหลายๆประเทศ ดังนั้น ในบทความต่อไปนี้ ผู้เขียนจะพยายามกล่าวถึงกิจกรรมหรืออามัลบางอย่างที่ชาวมุสลิมบางชุมชนชอบปฏิบัติตลอดช่วงเดือนเราะญับนี้ พร้อมกับนำไปเทียบเคียงกับหลักฐานทางศาสนาและทัศนะของอุละมาอ์อิสลามเกี่ยวกับสิ่งดังกล่าว เพื่อเป็นการตักเตือนแก่ประชาชาติ โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าด้วยคำตักเตือนเกี่ยวกับสิ่งดังกล่าว อัลลอฮฺจะทรงประทานทางนำให้แก่เขา และทำให้เขาได้เปิดหูเปิดตาจากชีวิตแห่งการอุตริกรรมที่มืดมิดและคลำอยู่ในโลกแห่งความโง่เขลา
เดือนเราะญับมีความประเสริฐมากกว่าเดือนอื่นๆจริงหรือ?
อิบนุหะญัร กล่าวว่า “ไม่มีหลักฐานที่ถูกต้องและสามารถนำมาเป็นข้ออ้างเลย เกี่ยวกับความประเสริฐของเดือนเราะญับ ไม่ว่าจะเป็นความประเสริฐของการถือศีลอดในเดือนนี้ หรือความประเสริฐของการถือศีลอดในวันใดวันหนึ่งเป็นการเฉพาะในเดือนนี้ หรือความประเสริฐของการเจาะจงละหมาดกลางคืน (กิยามุลลัยล์) ในบางคืน แท้จริงอิหม่ามอบู อิสมาอีล อัลหะเราะวีย์ อัลหาฟิซได้กล่าวยืนยันเช่นนี้ก่อนหน้าข้าพเจ้าเสียอีก ซึ่งเราได้รายงานถ่ายทอดมาจากท่านด้วยสายรายงานที่ถูกต้อง และเราได้รายงานถ่ายทอดคำยืนยันดังกล่าวจากอุละมาอ์ท่านอื่นๆเช่นเดียวกัน” (ตับยีน อัลอุญับ ฟีมา วะเราะดะ ฟี ฟัฎลิ เราะญับ หน้า 6 และดู อัสสุนัน วัลมุบตะดะอาต ของ อัลกุชัยรีย์ หน้า 22-24)
ท่านยังกล่าวอีกว่า “ส่วนหะดีษต่างๆที่มีรายงานอย่างชัดเจนเกี่ยวกับความประเสริฐของเดือนเราะญับ หรือความประเสริฐของการถือศีลอดในเดือนนี้ หรือความประเสริฐของการถือศีลอดในวันใดวันหนึ่งเป็นการเฉพาะในเดือนนี้ จะมีอยู่สองประเภท (ถ้าไม่ใช่) หะดีษเฎาะอีฟ (ก็จะเป็น) หะดีษเมาฎูอฺ และเราจะขอนำเสนอบรรดาหะดีษที่เฎาะอีฟนั้น พร้อมกับบ่งชี้ถึงหะดีษที่เมาฎูอฺพอเข้าใจ” (ตับยีน อัลอุญับ ฟีมา วะเราะดะ ฟี ฟัฎลิ เราะญับ หน้า 8)
ละหมาดเราะฆออิบ
1. รูปแบบการละหมาด
รูปแบบของละหมาดนี้มีระบุในหะดีษเมาฎูอฺที่รายงานจากอะนัส ที่ได้เล่าจากท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมพอสรุปได้ว่า
“ถ้าใครถือศีลอดในวันพฤหัสแรกของเดือนเราะญับแล้วละหมาดจำนวน 12 ร็อกอัตในช่วงระหว่างมัฆริบและอีชาอ์ของคืนนั้น (คืนวันศุกร์)และให้สลามทุกๆ 2 ร็อกอัตในทุกร็อกอัตให้อ่าน
-ซูเราะฮฺอัลฟาติหะฮฺ 1 เที่ยวจบ
- ซูเราะฮฺอัลก็อดรฺ (อินนาอันซัลนาฮุฟีลัยละติลก็อดรฺ) 3 เที่ยวจบ
- ซูเราะฮฺอัลอิคลาศ (กุลฮุวัลลอฮุอะหัด) 12 เที่ยวจบพอละหมาดเสร็จแล้วให้ปฏิบัติดังนี้
- กล่าวเศาะละวาตนบี 70 ครั้ง
- ลงสุญูดแล้วกล่าวคำว่า “สุบบูหน กุดดูสน ร็อบบุลมะลาอิกะติวัรรูหฺ” 70 ครั้ง
- พอเงยหน้าขึ้นจากสุญุดให้อ่าน “ร็อบบิฆฟิร วัรหัม มะตะญาวัซ อัมมา ตะอฺลัม อินนะกะ อันตัลอะซีซุลอะอฺซ็อม” 70 ครั้ง
- เสร็จแล้วให้ลงสูญุดอีกครั้งและกล่าวดุออาอ์เช่นเดียวกัน “สุบบูหน กุดดูสน ร็อบบุลมะลาอิกะติวัรรูหฺ” 70 ครั้ง เสร็จแล้วให้ขอสิ่งที่ต่างๆตามต้องการแล้วจะได้ตามประสงค์”
ท่านนบียังกล่าวอีกว่า “ฉันขอสาบานด้วยพระนามของผู้ที่ตัวฉันอยู่ในกำมือของเขา ไม่มีบ่าวชายหรือหญิงคนใดที่ได้ทำละหมาดนี้ นอกจากอัลลอฮฺต้องให้อภัยในบาปทั้งหลายแก่เขา ถึงแม้ว่าบาปนั้นจะมากมายเท่าฟองน้ำในทะเล และมีจำนวนเท่าเม็ดทราย และหนักเท่าภูเขาและใบไม้ ก็ตาม และในวันกิยามะฮฺเขาจะได้รับอนุญาตให้ช่วยเหลือ (ชะฟาอะฮฺ) แก่ครอบครัวและเครือญาติของเขาที่ต้องตกนรกอย่างแน่นอนแล้วจำนวน 700 คน” (ดู อิหฺยาอ์อุลูมิดดีน เล่ม 1 หน้า 202 และตับยีนอัลอุญับ หน้า 22-24)
2. ทัศนะของอุละมาอ์
อิหม่ามอันนะวะวีย์กล่าวว่า “มันเป็นอุตริกรรมที่น่ารังเกียจและรับไม่ได้อย่างยิ่ง ซึ่งประกอบด้วยสิ่งที่ไม่ดีต่างๆมากมาย ดังนั้นจึงจำเป็นต้องละทิ้งและผินหลังให้กับมัน พร้อมทั้งห้ามปรามผู้ที่ปฏิบัติกับมัน” (ฟะตาวาอิหม่ามอันนะวะวีย์ หน้า 57)
อิบนุอันนะหาสกล่าวว่า “มันคือสิ่งอุติรกรรม หะดีษที่มีรายงานเกี่ยวกับมันล้วนเป็นหะดีษที่เมาฎูอฺโดยมติเอกฉันท์ของอุละมาอ์หะดีษ” (ตันบีฮุลฆอฟิลีน หน้า 496)
อิบนุตัยมิยะฮฺกล่าวว่า “ส่วนละหมาดเราะฆออิบ ไม่มีต้นตอ (และที่มา) ของมันเลย มันเป็นสิ่งอุตริ ดังนั้นท่านจงอย่าชื่นชอบและส่งเสริมมัน ไม่ว่าจะ (เป็นการละหมาด) ด้วยญะมาอะฮฺ หรือคนเดียว แท้จริงได้มีรายงานที่ถูกต้องจากเศาะหีหฺมุสลิม ระบุว่า ท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม “ห้ามเจาะจงละหมาด (กิยาม) ในคืนวันศุกร์และถือศีลอดในกลางวันของมัน และหะดีษที่ระบุเกี่ยวกับสิ่งดังกล่าว (การส่งเสริมให้เจาะจงละหมาดกิยามในคืนวันศุกร์และถือศีลอดในตอนกลางวัน) เป็นการโกหกและถูกอุปโลกน์ขึ้นมาโดยมติเอกฉันท์ของอุละมาอ์ ไม่เคยมีชนสะลัฟและบรรดาอิหม่ามแม้แต่คนเดียวที่กล่าวถึงสิ่งนี้เลยแม้แต่น้อย” (มัจญ์มูอ์อัลฟะตาวา เล่ม 23 หน้า 123)
และยังมีอุละมาอ์อีกหลายท่านที่ยืนยันถึงการถูกอุปโลกน์ขึ้นมาของหะดีษนี้ อาทิ อิบนุลเญาซีย์ในหนังสือ อัลเมาฎูอาต, อัลหาฟิซ อบู อัลค็อตฏอบ, อบู ชามะฮฺ (ดู อัลบาอิษ อะลา อินการ อัลบิดะอฺ วัลหะวาดิษ หน้า 61, 67)
เช่นเดียวกับการยืนยันถึงความเป็นอุตริกรรมของรูปแบบอิบาดะฮฺดังกล่าวโดย อิบนุลหาจญ์ (ดู อัลมัดค็อล เล่ม 1 หน้า 211) และอิบนุเราะญับ และท่านยังได้อ้างจากอบูอิสมาอีล อัลอันศอรีย์, อบูบะกัร อัลสัมอานีย์ และอบู อัลฟัฎล์ บิน นาศิร อีกด้วย (ละฏออิฟ อัลมะอาริฟ หน้า 228) และอุละมาอ์ท่านอื่นๆ (ดู บทนำหนังสือ มุสาญะละฮฺอัลอิซ บิน อับดุลสะลาม วะอิบนุอัลเศาะลาหฺ หน้า 7-8)
เราะฆออิบมีที่มาอย่างไร?
อัลฏ็อรฏูสีย์ได้ชี้แจงถึงจุดเริ่มต้นของการอุปโลกน์ละหมาดประเภทนี้ว่า “อบูมุหัมมัด อัลมักดะสีย์ได้เล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า “พวกเราที่อาศัยอยู่ที่บัยตุลมักดิส ไม่เคยรู้จักละหมาดเราะฆออิบที่มีการละหมาดในเดือนเราะญับและชะอฺบานมาก่อนเลย และเริ่มแรกที่มีการอุตริละหมาดนี้ขึ้นมาที่เขตของเราเกิดขึ้นในปี ฮ.ศ. 448 โดยมีชายชาวนาบุลูสคนหนึ่งเดินทางมาอาศัยอยู่กับพวกเราที่บัยตุลมักดิสแห่งนี้ เขาเป็นที่รู้จักในนามของอิบนุอบีอัลหัมรออ์ เขาเป็นคนที่อ่านอัลกุรอานเพราะ เขาได้ลุกขึ้นละหมาดที่มัสยิดอัลอักศอในคืนกลางเดือนชะอฺบาน (คืนนิศฟุชะอฺบาน)...” จนกระทั่งท่านกล่าวว่า “ส่วนละหมาด (เราะฆออิบในเดือน) เราะญับนั้น ไม่เคยเกิดขึ้นที่เขตของเราบัยตุลมักดิส นอกจากหลังจากปี ฮ.ศ. 480 ไปแล้ว และเราไม่เคยพบเห็นละหมาดนี้มาก่อนและไม่เคยได้ยินมาก่อนด้วย” (อัลบาอิษ อะลา อินการ อัลหะวาดิษ วัลบิดะอฺ หน้า 103)
ละหมาดเราะฆออิบเพื่อเอาใจชาวบ้าน
อิหม่ามอบูชามะฮฺกล่าวว่า “มีอิหม่ามไม่รู้กี่คนได้กล่าว (แก้ตัว) ต่อ (หน้า) ข้าพเจ้าว่า “พวกเขาไม่ได้ละหมาดเราะฆออิบ นอกจากเพื่อรักษาจิตใจของชาวบ้าน และเพื่อให้พวกเขายึดมั่นกับมัสยิด กลัวว่าพวกเขาจะหนีเตลิดและถอนตัวออกห่าง!”
การกระทำของพวกเขาเช่นนี้ เป็นการเข้าละหมาดด้วยเจตนาที่ไม่ถูกต้อง และเป็นการพยายามยืนต่อหน้าอัลลอฮฺ (ด้วยความไม่บริสุทธิ์ใจ) และถ้าไม่มีสิ่งอื่นในอุตริกรรมนี้ นอกจากการกระทำเช่นนี้เพียงอย่างเดียวก็เพียงพอแล้ว และทุกๆคนที่สบายใจ (ไม่รู้สึกเดือดร้อน) กับละหมาดนี้ หรือเห็นดีเห็นงามกับมัน ถือว่าเขาเป็นต้นเหตุของการทำอุตริกรรมนี้ด้วย เป็นผู้ที่หลอกลวงชาวบ้านต่อสิ่งที่พวกเขากำลังเชื่อถืออยู่เกี่ยวกับการละหมาดดังกล่าว (เพราะไม่ยอมชี้แจงข้อเท็จจริงให้พวกเขาทราบ) และถือว่า การนิ่งเฉยและเห็นดีเห็นงามของเขาต่อละหมาดดังกล่าวเป็นการโกหกต่อบัญญัติอิสลามอีกด้วย ถ้าหากว่าชาวบ้านเหล่านั้นได้รับการชี้แจง และสอนสั่ง (ให้รู้จักถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับละหมาดดังกล่าว อย่างค่อยเป็นค่อยไป) จากปีหนึ่งไปสู่อีกปีหนึ่ง แน่นอนอย่างยิ่งว่าชาวบ้านเหล่านั้นต้องละทิ้งและยกเลิกการกระทำนั้น แต่ (ถ้าทำเช่นนั้น) ตำแหน่งความเป็นผู้นำของบรรดาผู้ที่ชอบกระทำอุตริกรรมและชอบฟื้นฟูมันก็จะล่มสลาย วัลลอฮุลมุวัฟฟิก
เมื่อก่อน บรรดาแกนนำชาวคัมภีร์ไม่ยอมเข้ารับอิสลาม เพราะกลัวว่าตำแหน่งทางสังคมของเขาจะล่มสลาย อัลลอฮฺได้ตรัสเกี่ยวกับจุดยืนของพวกเขาว่า
فَوَيْلٌ لِّلَّذِينَ يَكْتُبُونَ الْكِتَابَ بِأَيْدِيهِمْ ثُمَّ يَقُولُونَ هَـذَا مِنْ عِندِ اللهِ لِيَشْتَرُواْ بِهِ ثَمَناً قَلِيلاً فَوَيْلٌ لَّهُم مِّمَّا كَتَبَتْ أَيْدِيهِمْ وَوَيْلٌ لَّهُمْ مِّمَّا يَكْسِبُونَ
ความว่า “ดังนั้น ความวิบัติจงมีแด่ผู้เขียนคัมภีร์ด้วยมือของพวกเขาแล้วกล่าวว่า นี่คือสิ่งที่มาจากอัลลอฮฺ ทั้งนี้เพื่อที่พวกเขาจะได้รับสิ่งแลกเปลี่ยนบางอย่าง (ตำแหน่งและยศศักดิ์ทางสังคม)ที่มีราคาเพียงเล็กน้อย ดังนั้น สิ่งที่พวกเขาเขียนด้วยมือของพวกเขาจะนำความวิบัติมาสู่พวกเขา และสิ่งที่พวกเขาได้รับนั้นก็นำพาพวกเขาไปสู่ความหายนะ” ( อัลบะเกาะเราะฮฺ 79 และดู อัลบาอิษ อะลา อินการ อัลบิดะอฺ วัลหะวาดิษ หน้า(105)
เหตุการณ์อิสรออ์และมิอฺรอจญ์
มุอฺญิซาตหรือสิ่งอัศจรรย์อันยิ่งใหญ่ที่ได้เกิดขึ้นกับท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมคือเหตุการณ์อิสรออ์ที่ท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมได้ถูกพาเดินทางไกลในค่ำคืนหนึ่งจากมัสยิดอัลหะรอมสู่มัสยิดอัลอักศอแล้วพาท่านเดินทางมิอฺรอจญ์ขึ้นสู่ชั้นฟ้าทั้งเจ็ดและชั้นที่สูงกว่านั้น
จากเหตุการณ์อันยิ่งใหญ่นี้ทำให้มีการจัดงานเฉลิมฉลองเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าวในคืนที่ 27 ของเดือนเราะญับอย่างแพร่หลายไปเกือบทั่วโลก แต่แท้ที่จริงแล้วไม่มีรายงานที่ถูกต้องเลยที่ระบุว่า คืนที่เกิดเหตุการณ์อิสรออ์และมิอฺรอจญ์นั้นคือคืนที่ 27 ของเดือนเราะญับ
อิบนุหะญัรได้อ้างคำพูดของอิบนุดิหฺยะฮฺว่า “นักเล่าเรื่องบางคนได้เล่าว่าเหตุการณ์อิสรออ์นั้นเกิดขึ้นในเดือนเราะญับ” แล้วท่านก็กล่าว (คัดค้าน) ว่า “คำพูดดังกล่าวนั้นเป็นสิ่งที่โกหก (ไม่เป็นความจริง)” (ตับยีนอัลอุญับ หน้า 6)
อิบนุเราะญับกล่าวว่า “มีการรายงาน (เกี่ยวกับคืนที่เกิดเหตุการณ์อิสรออ์) ด้วยสายรายงานที่ไม่ถูกต้อง จากอัลกอสิม บิน มุหัมมัด ว่า “การเดินทางกลางคืน (อิสรออ์) ของท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมนั้นเกิดขึ้นในวันที่ 27 ของเดือนเราะญับ และอิบรอฮีม อัลหัรบีย์ และอุละมาอ์ท่านอื่นๆได้ปฏิเสธและไม่ยอมรับ” (ละฏออิฟ อัลมะอาริฟ หน้า 233)
อิบนุตัยมิยะฮฺกล่าวว่า “ไม่มีหลักฐานที่ระบุอย่างแน่ชัด เกี่ยวกับเดือน และวัน (ที่เกิดเหตุการณ์อิสรออ์) รายงานต่างๆที่ถูกเล่าเกี่ยวกับสิ่งดังกล่าวล้วนเป็นรายงานที่ขาดตอนและขัดแย้งกัน (อย่างสิ้นเชิง) ไม่มีรายงานใดเลยที่สามารถนำมายืนยันและชี้ขาดได้” (ซาดุลมะอาด เล่ม 1 หน้า 275)
อิบนุหะญัรได้กล่าวถึงทัศนะต่างๆที่ขัดแย้งกันเกี่ยวกับวันที่เกิดเหตุการณ์อิสรออ์ และชี้แจงว่า “บางคนกล่าวว่ามันเกิดขึ้นในเดือนเราะญับ บางคนกล่าวว่าเกิดขึ้นในเดือนเราะบีอุลษานีย์ และบางคนกล่าวว่าเกิดขึ้นในเดือนรอมฎอน หรือเชาวาล (ฟัตหุลบารีย์ เล่ม 7 หน้า 242-243) และข้อเท็จจริงของเรื่องนี้เป็นอย่างที่อิบนุตัยมิยะฮฺได้กล่าวไว้
และถึงแม้ว่าจะมีรายงานที่ถูกต้องและมีน้ำหนักที่ระบุถึงวันที่เกิดเหตุการณ์อิสรออ์และมิอฺรอจญ์ ก็ไม่อนุญาตให้ผู้ใดยึดวันนั้น (เพื่อปฏิบัติศาสนกิจหรือทำการเฉลิมฉลองเป็นการเฉพาะ) เพราะไม่มีรายงานที่ถูกต้องจากท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม หรือจากบรรดาเศาะหาบะฮฺท่านใด หรือบรรดาตาบิอีนว่า พวกเขาเคยยึดถือว่าคืนที่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นคืนที่มีความเหลื่อมล้ำกว่าคืนอื่นๆ (ในด้านของความประเสริฐการทำอิบาดะฮฺ) นับประสาอะไรกับการร่วมทำการเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสดังกล่าว ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงอุตริกรรมบางอย่าง หรือสิ่งเลวทรามต่างๆที่สอดแทรกอยู่ในงานเฉลิมฉลองดังกล่าว ดังที่อิบนุ อัลนะหาส (ตันบีฮฺ อัลฆอฟิลีน หน้า 497), อิบนุ อัลหาจญ์ (อัลมัดค็อล เล่ม 1/211-212) และอาลี มะหฺฟูซฺ (อัลอิบดาอฺ หน้า 272) ได้กล่าวไว้
เชือดสัตว์ในเดือนเราะญับ “อะตีเราะฮฺ”
การเชือดสัตว์โดยทั่วไปในเดือนเราะญับไม่ได้เป็นสิ่งต้องห้ามแต่อย่างใด เหมือนกับการเชือดสัตว์ทั่วๆไปในเดือนอื่นๆ แต่ปัญหาคือชาวญาฮิลิยะฮฺในสมัยก่อนอิสลามได้มีการเชือดประเภทหนึ่งซึ่งพวกเขาเรียกว่า “อัลอะตีเราะฮฺ” นั่นคือการเชือดสัตว์หรือแพะเพื่อเป็นของขวัญหรือเลี้ยงอาหารให้แก่สมาชิกในครอบครัวในเดือนเราะญับ โดยเฉพาะในช่วง 10 วันแรกของเดือน และมักจะเรียกอีกชื่อว่า “เราะญะบิยะฮฺ” หมายถึงสัตว์ที่ถูกเชือดในเดือนเราะญับ
บรรดาอุละมาอ์มีทัศนะที่ขัดแย้งกันเกี่ยวกับหุกมดังกล่าว -ในกรณีที่ปลอดจากสิ่งที่นำไปสู่การชิริกต่ออัลลอฮฺ- ว่าอิสลามส่งเสริมให้กระทำหรือไม่ ?
- อุละมาอ์ส่วนใหญ่ (หะนะฟีย์ มาลิกีย์ และหันบะลีย์) มีทัศนะว่า อิสลามได้ยกเลิกการกระทำดังกล่าวแล้ว ดังนั้นจึงไม่ส่งเสริมให้กระทำ (ดู อัลมัจญ์มูอ์ เล่ม 8 หน้า 446, ชัรหิเศาะหีหฺมุสลิม เล่ม 13 หน้า 137, อัลอิอฺติบาร ฟี อัลนาสิค วัลมันสูค มิน อัลอาษาร หน้า 158-160)
โดยอ้างหลักฐานจากหะดีษของอบูฮุร็อยเราะฮฺ ท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมกล่าวว่า
لاَ فَرَعَ وَلاَ عَتِيْرَةَ
ความว่า “ไม่มีการเชือดฟะเราะอฺ (การเชือดลูกสัตว์ท้องแรกหลังจากที่คลอดออกมา เพื่อบูชาแก่บรรดาเจว็ด หรือเพื่อหวังความบะเราะกะฮฺที่จะได้จากแม่พันธ์ในอนาคต) และไม่มีการเชือดอะตีเราะฮฺ” (บันทึกโดย อัลบุคอรีย์ เลขที่ 5473 และมุสลิม เลขที่ 1976)
- และอุละมาอ์อีกกลุ่มหนึ่ง อาทิ อิบนุสีรีน และชาฟิอีย์ มีทัศนะว่าส่งเสริมให้กระทำ (อัลมัจญ์มูอฺ เล่ม 8 หน้า 445-446)
โดยอ้างหลักฐานจากหลายๆหะดีษที่บ่งชี้ว่าอนุญาตและส่งเสริมให้ปฏิบัติ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นหะดีษที่เศาะหีหฺเช่นกัน (ดู 1.หะดีษมิคนัฟ บิน สุลัยม์ อัลฆอมิดีย์ บันทึกโดยอบูดาวูด เลขที่ 2788, อัตติรมิซีย์ เลขที่ 1523, อันนะสาอีย์ เล่ม 7 หน้า 167, อิบนุมาญะฮฺ เลขที่ 3125, ดูเศาะหีหฺอิบนุมาญะฮฺ ของอัลอัลบานีย์ เลขที่ 2533, 2.หะดีษนุบัยชะฮฺ บิน อัมรู บันทึกโดย อบูดาวูด เลขที่ 2830, อันนะสาอีย์ เล่ม 7 หน้า 169-170, อิบนุมาญะฮฺ เลขที่ 2565, ดู เศาะหีหฺอิบนุมาญะฮฺ ของอัลบานีย์ เลขที่ 2565, และอื่นๆ)
และให้คำตอบต่อหะดีษอบูฮุร็อยเราะฮฺที่เป็นหลักฐานของญุมฮูรว่า “สิ่งต้องห้ามในหะดีษข้างต้นคือห้ามไม่ให้ปฏิบัติเสมือนกับชาวญะฮีลิยะฮฺซึ่งพวกเขาจะเชือดสัตว์เพื่อบูชาอื่นจากอัลลอฮฺ หรือเป็นการปฏิเสธความเป็นวาญิบเท่านั้น ไม่ได้เป็นการยกเลิกเสียทีเดียว” (ดู ละฏออิฟ อัลมะอาริฟ หน้า 227, ฟัตหุลบารีย์ เล่ม 9 หน้า 512)
ส่วนญุมฮูรก็ให้คำตอบต่อหลักฐานที่ฝ่ายที่สองอ้างไว้ว่า “หะดีษอบูฮุร็อยเราะฮฺมีน้ำหนักด้านความถูกต้องและมั่นคงมากกว่า ดังนั้นจึงจำเป็นต้องยึดปฏิบัติตามนั้นมากว่าหะดีษที่มีน้ำหนักน้อยกว่า และมีอุละมาอ์หลายท่านที่ยืนยันว่า หลักฐานที่ฝ่ายที่สองอ้างมานั้นถูกนยกเลิกด้วยหะดีษอบูฮุร็อยเราะฮฺ อาทิ อิบนุลมุนซิร เป็นต้น เพราะอบูฮุร็อยเราะฮฺเข้ารับอิสลามทีหลัง ส่วนหะดีษที่อนุญาตนั้นเกิดขึ้นช่วงแรกของอิสลาม หลังจากนั้นก็ถูกยกเลิกไป” (ดู ละฏออิฟ อัลมะอาริฟ หน้า 227 และอัลอิอฺติบาร หน้า 388-390)
อัลหะสันกล่าวว่า “อะติเราะฮฺไม่มีในอิสลาม แต่ทว่า อะติเราะฮฺนั้นเคยเกิดขึ้นในสมัยญะฮิลิยะฮฺ พวกเขาบางคนจะถือศีลอดแล้วก็เชือดสัตว์อะติเราะฮฺ” (ละฏออิฟ อัลมะอาริฟ หน้า 227)
อิบนุเราะญับกล่าวว่า “และยังมีสิ่งที่ถูกปฏิบัติคล้ายกับการเชือดอะติเราะฮฺในช่วงเดือนเราะญับ อาทิ ยึด (วันใดวันหนึ่งของเดือนเราะญับ) เป็นเทศกาลแห่งการเฉลิมฉลอง เช่นมีการทานของหวาน และอื่นๆ และได้มีรายงานจากอิบนุอับบาสว่า ท่านไม่ชอบให้มีการยึด(วันใดวันหนึ่งใน) เดือนเราะญับเป็นเทศกาลแห่งการเฉลิมฉลอง” (ละฏออิฟ อัลมะอาริฟ หน้า 227)
สรุป คือ ควรหลีกเลี่ยงการเชือดสัตว์เพื่อเลี้ยงครอบครัวในเดือนเราะญับที่เรียกว่าอะติเราะฮฺเป็นการดีที่สุด เพื่อหลีกเลี่ยงจากชุบฮาต เพราะจะอย่างไรก็ตาม การเชือดสัตว์ตามปกติทั่วไปก็ยังคงสามารถทำได้อยู่ วัลลอฮุอะอฺลัม
นุบัยชะฮฺ บิน อัมรูเล่าว่า บรรดาเศาะหาบะฮฺกล่าวแก่ท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ว่า “โอ้ท่านรสูลุลลอฮฺ เมื่อสมัยญาฮิลิยะฮฺ พวกเราเคยเชือดอะติเราะฮฺ –ในเดือนเราะญับ-”
ท่านตอบว่า
اِذْبَحُوْا للهِ فِي أَيِّ شَهْرٍ كَانَ وَبِرُّوْا اللهَ وَأَطْعِمُوْا
ความว่า “พวกท่านจงเชือดเพื่ออัลลอฮฺในเดือนใดก็ได้ (แต่อย่าเจาะจงเชือดในเดือนเราะญับ*) และจงปฏิบัติดีต่ออัลลอฮฺ (จงอย่าตั้งภาคีย์ต่อพระองค์) และจงเลี้ยงอาหาร (แก่สมาชิกในครอบครัว)” (บันทึกโดย อบูดาวูด เลขที่ 2830, อันนะสาอีย์ เล่ม 7 หน้า 169-170, อิบนุมาญะฮฺ เลขที่ 2565, ดู เศาะหีหฺอิบนุมาญะฮฺ ของอัลบานีย์ เลขที่ 2565) วัลลอฮุอะอฺลัม
หมายเหตุ
* คำในวงเล็บเป็นคำอธิบายของอิบนุหะญัรในฟัตหุลบารีย์ เล่ม 9 หน้า 512
ถือศีลอดหรืออิอฺติกาฟในเดือนเราะญับ
อิบนุเราะญับกล่าวว่า “ไม่มีรายงานที่ถูกต้องเกี่ยวกับความประเสริฐของการเจาะจงถือศีลอดในเดือนเราะญับจากท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมเลย และไม่มีรายงานจากบรรดาเศาะหาบะฮฺอีกเช่นกัน” (ละฏออิฟ อัลมะอาริฟ หน้า 228)
อิบนุตัยมิยะฮฺกล่าวว่า “ส่วนการเจาะจงถือศีลอดในเดือนเราะญับ หะดีษต่างๆที่รายงานเกี่ยวกับสิ่งดังกล่าวล้วนเป็นหะดีษที่เฎาะอีฟ และเมาฎูอฺ บรรดานักวิชาการไม่ยึดถือหะดีษเหล่านั้นเลย ซึ่งมันไม่ใช่หะดีษที่อยู่ในประเภทของเฎาะอีฟที่มีการอนุโลมให้ทำการรายงานในเรื่องของฟะฎออิล แต่ทว่า โดยรวมแล้วล้วนเป็นหะดีษที่เมาฎูอฺและถูกอุปโลกน์ขึ้นมาทั้งสิ้น...แท้จริงอิบนุมาญะฮฺได้รายงานจากอิบนุอับบาสในสุนันของท่านว่า “ท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมได้ห้ามไม่ให้ถือศีลอดในเดือนเราะะญับ” แต่จำเป็นต้องพิจารณาสายรายงาน (สายรายงานอ่อน) แต่มีสายรายงานที่ถูกต้องว่า อุมัร บิน อัลค็อตฏอบเคยตีมือผู้คนเพื่อให้วางมือลงบนอาหาร (ให้ทานอาหาร) ในเดือนเราะญับ และกล่าวว่า “พวกเจ้าจงอย่าทำให้เหมือนกับเดือนรอมฎอน”...
ส่วนการเจาะจงเดือนเราะญับเพื่ออิอฺติกาฟในสามเดือน : เราะญับ เชาวาล และรอมฎอน ข้าพเจ้าไม่ทราบ (ว่ามีรายงาน) เกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ ถ้าผู้ใดที่ถือศีลอดตามบัญญัติศาสนาและประสงค์จะทำการอิอฺติกาฟควบคู่กันไป ก็เป็นการกระทำที่อนุญาตอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ถ้าทำการอิอฺติกาฟโดยปราศจากการถือศีลอด ในกรณีนี้นักวิชาการมีความเห็นอยู่สองทัศนะ...” (มัจญ์มูอฺอัลฟะตาวา เล่ม 25 หน้า 290-292)
การที่ไม่มีรายงานเฉพาะเกี่ยวกับความประเสริฐของการถือศีลอดเดือนเราะญับ ไม่ได้หมายความว่าไม่อนุญาตให้ถือศีลอดสุนัตในเดือนนี้ ดังที่มีรายงานทั่วไปมากมายที่ส่งเสริมให้ถือศีลอดสุนัตในทุกๆ เดือน (ยกเว้นรอมฎอน) อาทิ การถือศีลอดในวันจันทร์ พฤหัส สามวันต่อเดือน ถือศีลอด 1 วันและละ 1 วัน เป็นต้น แต่การถือศีลอดที่ถือว่าไม่เป็นที่ส่งเสริมและน่ารังเกียจ ตามที่อัลฏ็อรฏูสีย์ได้กล่าวไว้ (อัลบาอิษ อะลา อินการ อัลหะวาดิษ วัลบิดะอฺ หน้า 110-111 และดู อัลอุญับ หน้า 37-38) เมื่อมีการปฏิบัติหนึ่งในสามประเภทต่อไปนี้
1. เจาะจงถือศีลอดในเดือนเราะญับของทุกๆปี จนกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของการถือศีลอดวาญิบที่คล้ายกับการถือศีลอดของเดือนรอมฎอน
2. มีความเชื่อว่าการถือศีลอดในเดือนเราะญับเป็นสุนนะฮฺที่ท่านนบีได้เจาะจงปฏิบัติเป็นประจำในเดือนนี้
3. มีความเชื่อว่าการถือศีลอดในเดือนเราะญับมีผลบุญเฉพาะที่เหลื่อมล้ำกว่าการถือศีลอดในเดือนอื่นๆ ที่มีความประเสริฐคล้ายกับการถือศีลอดในวันอาชูรอ เป็นต้น
ทำอุมเราะฮฺในเดือนเราะญับ
บางคนมุ่งมั่นที่จะเดินทางไปทำอุมเราะฮฺในเดือนเราะญับ เพราะเชื่อว่าทำอุมเราะฮฺในเดือนเราะญับนี้จะมีความเหลื่อมล้ำกว่าและมีผลบุญมากกว่าการทำอุมเราะฮฺในเดือนอื่นๆ ซึ่งความจริงแล้วความเชื่อดังกล่าวไม่มีที่มาเลยแม้แต่นิด มีรายงานจากอิบนุอุมัร ท่านกล่าวว่า “ท่านรสูลุลลอฮฺศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมได้ทำอุมเราะฮฺทั้งสิ้นจำนวน 4 ครั้ง หนึ่งในจำนวนนั้นท่านทำในเดือนเราะญับ” อาอิชะฮฺจึงกล่าวแย้งว่า “ขออัลลอฮฺทรงประทานความเมตตาแก่อบูอับดุลเราะหฺมาน (หมายถึงอิบนุ อุมัร) ท่านนบีไม่เคยทำอุมเราะฮฺนอกจากว่าเขาจะร่วมเป็นสักขีพยานด้วย และท่านนบีก็ไม่เคยทำอุมเราะฮฺในเดือนเราะญับเลย” (บันทึกโดยอัลบุคอรีย์ เลขที่ 1776)
อิบนุ อัลอัตฏอรกล่าวว่า “ส่วนหนึ่งของข่าวที่มาถึงข้าพเจ้าเกี่ยวกับชาวมักกะฮฺ คือการชอบทำอุมเราะฮฺหลายๆครั้งในเดือนเราะญับ ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นสิ่งที่ข้าพเจ้าไม่เคยทราบเลยว่ามีที่มาของมัน” (อัลมุสาญะละฮฺ บัยนะ อัลอิซฺ วะอิบนุ อัลเศาะลาหฺ หน้า 56 และดูฟะตาวาเชค มุหัมมัด บิน อิบรอฮีม เล่ม 6 หน้า 131)
เชคบินบาซระบุว่า “เวลาที่ประเสริฐที่สุดสำหรับทำอุมเราะฮฺคืออุมเราะฮฺในเดือนรอมฎอน เพราะท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมกล่าวว่า “ทำอุมเราะฮฺในเดือนรอมฎอนมีผลบุญเท่ากับการทำหัจญ์หนึ่งครั้ง” รองลงมาคืออุมเราะฮฺในเดือนซุลเกาะดะฮฺ เพราะอุมเราะฮฺของท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมทั้งหมดเกิดขึ้นในเดือนซุลเกาะดะฮฺ และแท้จริงอัลลอฮฺทรงตรัสว่า
لَقَدْ كَانَ لَكُمْ فِي رَسُوْلِ اللهِ أُسْوَةٌ حَسَنَةٌ
ความว่า “แท้จริงในตัวของท่านรสูลุลลอฮฺนั้นเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับพวกเจ้า” (อัลอะหฺซาบ อายะฮฺที่ 21, ดูฟะตาวาอิสลามิยะฮฺ รวบรวมโดย มุหัมมัด สัยยิด เล่ม 2 หน้า 303-304)
ออกซะกาตในเดือนเราะญับ
มุสลิมในบางประเทศชอบรอออกซะกาตในเดือนเราะญับ อิบนุเราะญับกล่าวว่า “การกระทำดังกล่าวไม่มีที่มาจากสุนนะฮฺเลย และไม่เคยทราบว่ามีสะลัฟท่านใดเคยปฏิบัติ...แต่โดยรวมแล้ว การออกซะกาตจะเป็นวาญิบเมื่อครบรอบปีของนิศอบมัน ดังนั้นแต่ละคนจะมีรอบปีเฉพาะของเขาตามวันเวลาที่เขาได้ครอบครองนิศอบของทรัพย์สิน และเมื่อใดที่ครบรอบปีของนิสอบ เขาก็จำเป็นต้องออกซะกาตทันทีไม่ว่าจะอยู่ในเดือนใดก็ตาม”
หลังจากนั้นท่านได้อธิบายเพิ่มเติมว่า “อนุญาตให้ออกซะกาตก่อนถึงกำหนดเวลาของรอบปี เพื่อฉวยโอกาสออกซะกาตในเวลาที่ประเสิรฐกว่า เช่นเดือนรอมฎอน เป็นต้น หรือเพื่อฉวยโอกาสให้บริจาคทานแก่บุคคลที่เขาพบว่าจะไม่พบบุคคลที่มีความจำเป็นเช่นเขาอีกแล้วเมื่อครบเวลารอบปี เป็นต้น” (ละฏออิฟ อัลมะอาริฟ หน้า 231-232)
อิบนุ อัลอัตฏอรกล่าวว่า “และสิ่งที่ผู้คนในปัจจุบันชอบปฏิบัติในปัจจุบันนี้ ด้วยการเจาะจงออกซะกาตทรัพย์สินของพวกเขาในเดือนเราะญับเพียงเดือนเดียว เป็นการกระทำที่ไม่มีที่มาเลย แต่ทว่า บัญญัติศาสนาระบุว่า วาญิบต้องออกซะกาตทรัพย์สินเมื่อครบรอบปีด้วยเงื่อนไขของมัน ไม่ว่าจะตรงกับเดือนเราะญับหรือเดือนอื่นๆก็ตาม” (อัลมุสาญะละฮฺ บัยนะ อัลอิซฺ วะอิบนุ อัลเศาะลาหฺ หน้า 55)
ไม่มีเหตุการณ์สำคัญใดๆเกิดขึ้นในเดือนเราะญับ
อิบนุเราะญับกล่าวว่า “ได้มีรายงานว่า มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นในเดือนเราะญับ แต่ไม่มีรายงานใดที่ถูกต้องหรือน่าเชื่อถือเกี่ยวกับสิ่งดังกล่าวเลย เช่น มีรายงานว่า ท่านนบีถือกำเนิดในคืนแรกของเดือนเราะญับ ท่านนบีได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนบีในวันที่ 27 ของเดือนเราะญับ และบางรายงานระบุว่า ถูกแต่งตั้งในวันที่ 25 ของเดือน แต่ก็ไม่มีรายงานใดที่มีน้ำหนักและถูกต้อง...” (ละฏออิฟ อัลมะอาริฟ หน้า 233)