السعادة
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ
ว่าด้วยความสุข
เป็นเรื่องปกติที่มนุษย์ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ทุกชนชั้น ทั้งผู้ศรัทธา (มุอฺมิน) และผู้ปฏิเสธ (กาฟิร) ต่างก็แสวงหาความผาสุกให้กับชีวิตในโลกนี้ แต่มุมมองของแต่ละคนจะแตกต่างกันออกไป บางคนคิดว่าความสุข คือการสะสมทรัพย์สมบัติ ขณะที่อีกบางคนคิดว่า คือการให้ได้มาซึ่งตำแหน่งที่สูงๆ มียศฐาบรรดาศักดิ์ อีกบางคนคิดว่า คือการได้รับปริญญาบัตรทางการศึกษาชั้นสูง และอีกหลายคนอาจจะมีมุมมองอีกหลายๆ อย่างซึ่งขึ้นอยู่กับความต้องการของอารมณ์
ความจริงแล้ว ที่กล่าวมาข้างต้น เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของความสุขเท่านั้น มิได้เป็นความสุขที่แท้จริง เพราะแต่ละอย่างล้วนเป็นสิ่งที่ได้มาเพียงชั่วคราว ดังนั้น ผู้ที่ร่ำรวยมีทรัพย์สินมากมาย สักวันหนึ่งอาจจะหมดเนื้อหมดตัวได้ ผู้ที่มียศมีตำแหน่ง สักวันหนึ่งเขาอาจจะหมดอำนาจลงได้ มิหนำซ้ำหากผู้ที่ร่ำรวยไม่ได้ใช้จ่ายทรัพย์สินของเขาไปในหนทางแห่งการภักดีต่ออัลลอฮฺ ก็จะเกิดความหายนะแก่ตัวเขาเองในที่สุด
อัลลอฮฺตรัสว่า
﴿فَلاَ تُعْجِبْكَ أَمْوَالُهُمْ وَلاَ أَوْلاَدُهُمْ إِنَّمَا يُرِيدُ اللهُ لِيُعَذِّبَهُم بِهَا فِي الْحَيَاةِ الدُّنْيَا وَتَزْهَقَ أَنفُسُهُمْ وَهُمْ كَافِرُونَ﴾ ] التوبة : 55[
ความว่า “เจ้าอย่าได้พึงพอใจต่อทรัพย์สินและลูกหลานของพวกเขา แท้จริงอัลลอฮฺประสงค์ที่จะลงโทษพวกเขาในชีวิตแห่งดุนยาอันเนื่องด้วยสิ่งเหล่านั้น และประสงค์ที่จะให้วิญญาณออกจากร่างของพวกเขาในสภาพที่เป็นผู้ปฏิเสธ” (อัตเตาบะฮฺ / 55)
นักกวีอาหรับได้กล่าวไว้ว่า
“ฉันคิดว่าการสะสมทรัพย์สิน มิได้เป็นความสุขอย่างที่คิด
ใช่ว่าผู้มีความสุขคือได้สุขในโลกนี้ แต่ทว่าผู้ที่รอดพ้นจากนรกคือผู้ที่มีสุขอย่างแท้จริง”
อัลลอฮฺตรัสว่า
﴿كلُّ نَفْسٍ ذَآئِقَةُ الْمَوْتِ وَإِنَّمَا تُوَفَّوْنَ أُجُورَكُمْ يَوْمَ الْقِيَامَةِ فَمَن زُحْزِحَ عَنِ النَّارِ وَأُدْخِلَ الْجَنَّةَ فَقَدْ فَازَ وَما الْحَيَاةُ الدُّنْيَا إِلاَّ مَتَاعُ الْغُرُورِ ﴾ ]آل عمران : 185[
ความว่า “ทุกชีวิตต้องได้ลิ้มรสแห่งความตาย แท้จริงในวันกิยามะฮฺพวกเจ้าจะได้รับรางวัลตอบแทนอย่างครบถ้วน ใครที่อัลลอฮฺให้เขารอดพ้นจากไฟนรกและได้เข้าสวรรค์ แน่นอนว่าเขาได้รับความสำเร็จ ชีวิตในโลกนี้หาได้มีอะไรนอกจากสิ่งอำนวยประโยชน์แห่งการหลอกลวงเท่านั้น” (อาละอิมรอน /185)
มีบันทึกในเศาะฮีหฺอิบนุหิบบาน จากสะอัด เราะฎิยัลลอฮุอันฮู ท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«أَرْبَعٌ مِنَ السَّعَادَةِ ، الْمَرْأَةُ الصَّالِحَةُ ، وَالسَّكَنُ الْوَاسِعُ ، وَالْجَارُ الصَّالِحُ، وَالْمَرْكَبُ الْهَنِيْءُ»
ความว่า “สี่ประการที่จะนำมาซึ่งความสุข คือ มีภรรยาที่ดี มีที่อยู่อาศัยกว้างขวาง มีเพื่อนบ้านที่ดี และมีพาหนะที่ดี” (บันทึกโดยอิบนุ หิบบาน 9/340 หมายเลขหะดีษ 4032)
และมีบันทึกในเศาะฮีหฺมุสลิม จากอับดุลลอฮฺ บิน อัมรฺ ท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«الدُّنْيَا مَتَاعٌ وَخَيْرُ مَتَاعِ الدُّنْيَا الْمَرْأَةُ الصَّالِحَةُ »
ความว่า “โลกดุนยาเป็นความเพลิดเพลินที่อำนวยสุข และสิ่งที่เพลิดเพลินที่สุดของดุนยา คือสตรีที่ดี” (หน้าที่ 585 หมายเลขหะดีษ 1467)
และท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ยังได้สาธยายเกี่ยวกับคุณลักษณะของสตรีที่ดีไว้ในมุสนัด อิหม่ามอะหฺมัด จากหะดีษที่เล่าโดย อบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮู มีคนถามท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมว่า “ภรรยาที่ดีมีคุณลักษณะอย่างไร” ท่านตอบว่า
«الَّتِي تَسُرُّهُ إِذَا نَظَرَ، وَتُطِيعُهُ إِذَا أَمَرَ، وَلَا تُخَالِفُهُ فِي نَفْسِهَا وَمَالِهِ بِمَا يَكْرَهُ»
ความว่า “ภรรยาที่ดี คือผู้ที่ทำให้สามีปลื้มปิติเมื่อยามได้มองนาง และเธอเชื่อฟังเมื่อเขาสั่งใช้ และเธอจะไม่ฝ่าฝืนในยามที่เขามีความต้องการในตัวเธอ และไม่ใช้จ่ายทรัพย์สินของเขาในหนทางที่เขาไม่ชอบ”(มุสนัด อะหฺมัด หน้าที่ 342 หมายเลขหะดีษ 3231)
เชค อัส-สะอฺดียฺ เราะหิมะฮุลลอฮฺ ได้กล่าวถึงสาเหตุส่วนหนึ่งที่จะนำมาซึ่งความเปี่ยมสุขในชีวิตไว้ว่า
1. การศรัทธาต่ออัลลอฮฺและการประกอบคุณงามความดี
﴿مَنْ عَمِلَ صَالِحًا مِّن ذَكرٍ أَوْ أُنثَى وَهُوَ مُؤْمِنٌ فَلَنُحْيِيَنَّهُ حَيَاةً طَيِّبَةً وَلَنَجْزِيَنَّهُمْ أَجْرَهُم بِأَحْسَنِ مَا كَانُواْ يَعْمَلُونَ﴾ ] النحل : 97 [
ความว่า” ใครที่ประกอบการดีทั้งชายและหญิง โดยที่เขาเป็นผู้ศรัทธา แน่นอนเราจะให้เขาดำรงชีวิตที่ดี และเราจะตอบแทนรางวัลที่ดียิ่งกว่าแก่พวกเขา” ( อัล-นะหฺลุ 97 )
อิบนุ อับบาสกล่าวว่า คำว่า “ชีวิตที่ดี หมายถึง ชีวิตที่มีความสุข” เป็นความรู้สึกที่อัลลอฮฺให้เกิดขึ้นจากใต้จิตสำนึกของปวงบ่าวที่ดี แม้ว่าพวกเขาจะมีชีวิตอยู่ในโลกนี้อย่างลำบากก็ตาม (อิบนุ กะษีรฺ 3/585)
อิบนุล ก็อยยิม เราะหิมะฮุลลอฮฺ ได้พูดถึงสภาพของอิบนุ ตัยมียะฮฺ เราะหิมะฮุลลอฮฺว่า แม้ว่าท่านจะถูกคุมขังอยู่ในคุกที่คับแคบก็ตาม แต่ท่านก็มีจิตใจเบิกบาน มีชีวิตที่ดี ใบหน้าสดชื่น คราใดที่เรามีความทุกข์ใจ เราจะมาหาท่าน เพียงแค่เราเห็นหรือได้ยินคำพูดของท่านเราก็จะมีความรู้สึกที่ดี มีความสงบมั่นคง มหาบริสุทธิยิ่งแด่อัลลอฮฺผู้ซึ่งยืนยันสวนสวรรค์ให้แก่ปวงบ่าวของพระองค์ก่อนที่เขากลับไปหาพระองค์ ผู้ซึ่งเปิดประตูแห่งสวนสวรรค์แก่พวกเขาตั้งแต่ในโลกนี้ ทำให้พวกเขาได้รับกลิ่นไอของสวนสวรรค์ขณะที่มีชีวิตอยู่ อันเป็นเหตุให้พวกเขาต่างแสวงหาและแข่งขันเพื่อให้ได้มันมา (อัล-วาบิล อัศ-ศ็อยยิบ มิน อัล-กะลิม อัต-ต็อยยิบ หน้าที่ 82)
อิบนุ ตัยมียะฮฺ เราะหิมะฮุลลอฮฺ ได้กล่าวว่า “แน่นอนในโลกดุนยาแห่งนี้มีสวนสวรรค์ ใครก็ตามที่ไม่ได้เข้าสวนสวรรค์ในดุนยา เขาก็จะไม่ได้เข้าสวนสวรรค์ในอาคิเราะฮฺ” (อัล-วาบิล อัศ-ศ็อยยิบ มิน อัล-กะลิม อัต-ต็อยยิบ หน้าที่ 81)
และท่านได้กล่าวในขณะที่มีผู้มาบอกว่าผู้ปกครองรัฐจะเนรเทศท่านออกไปยังไซปรัส หรือจะสังหาร หรือจะจับขังคุก ท่านจะพูดว่า “ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ ฉันมีความปลื้มปิติเหลือเกิน ความดีใจของฉันมีมากมายนัก หากแม้นว่าจะเอามันไปแบ่งให้กับชาวซีเรียทั้งหมดก็ย่อมแบ่งได้หมดถ้วนหน้าทุกคน ขอสาบานด้วยอัลลอฮฺ ฉันเปรียบได้ดั่งแกะ เวลานอนฉันก็นอนบนขนที่หนาอบอุ่น หากฉันต้องโดนเนรเทศไปยังไซปรัสฉันก็จะได้เรียกร้องพวกเขาสู่อิสลาม”
ชาวสะลัฟท่านหนึ่งกล่าวว่า “เคยมีบางเวลาที่ผ่านเข้ามาในชีวิตฉัน ที่ทำให้ฉันต้องรำพันกับตัวเองว่า หากชาวสวรรค์ได้อยู่ในสภาพเช่นที่ฉันอยู่นี้ แท้จริง พวกเขาย่อมต้องมีชีวิตที่ดีเป็นแน่”
อีกท่านหนึ่งกล่าวว่า “หากบรรดากษัตริย์และทายาทของพวกเขาได้เห็นสภาพชีวิตที่เปี่ยมสุขของพวกเรา แน่นอนว่าพวกเขาจะต้องต้องสู้รบกับพวกเราเพื่อแย่งมันไปเป็นแน่แท้”
2. การศรัทธาต่อกฎสภาวการณ์ของอัลลอฮฺ
หากมนุษย์ศรัทธาต่อการกำหนดของอัลลอฮฺแล้ว แน่นอนว่าเขาจะมีชีวิตที่ดี มีความรู้สึกสบายอกสบายใจต่อเหตุการณ์ต่างๆ ที่เขาได้พบเจอในชีวิต ถึงแม้ว่าเป็นสิ่งที่เขาไม่พอใจก็ตาม ดั่งที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม บอกว่าการศรัทธาต่อกฎสภาวการณ์ของอัลลอฮฺเป็นหนึ่งในหลักการศรัทธาหกประการ
มีรายงานในมุสนัด อิหม่าม อะหฺมัด จากหะดีษของ อิบนุ อับบาส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา แท้จริงท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวกับเขาว่า
«إِذَا سَأَلْتَ فَاسْأَلْ اللهَ، وَإِذَا اسْتَعَنْتَ فَاسْتَعِنْ بِاللهِ، قَدْ جَفَّ الْقَلَمُ بِمَا هُوَ كَائِنٌ، فَلَوْ أَنَّ الْخَلْقَ كُلَّهُمْ جَمِيعًا أَرَادُوا أَنْ يَنْفَعُوكَ بِشَيْءٍ لَمْ يَكْتُبْهُ اللَّهُ عَلَيْكَ لَمْ يَقْدِرُوا عَلَيْهِ، وَإِنْ أَرَادُوا أَنْ يَضُرُّوكَ بِشَيْءٍ لَمْ يَكْتُبْهُ اللَّهُ عَلَيْكَ لَمْ يَقْدِرُوا عَلَيْهِ»
ความว่า “คราใดที่เจ้าจะขอก็ให้ขอจากอัลลอฮฺ และเมื่อใดที่เจ้าจะขอความช่วยเหลือก็ให้ขอความช่วยเหลือจากอัลลอฮฺ ทุกอย่างที่จะเกิดขึ้นได้ถูกบันทึกไว้แล้ว มาตรแม้นว่ามนุษย์ทั้งหลายต้องการที่จะให้ประโยชน์แก่เจ้าด้วยสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่อัลลอฮฺไม่ได้บันทึกไว้แก่เจ้า พวกเขาก็มิอาจจะทำได้ หรือหากว่าพวกเขาต้องการจะทำอันตรายต่อเจ้า ด้วยสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่อัลลอฮฺไม่ได้บันทึกไว้แก่เจ้า พวกเขาก็จะไม่สามารถทำมันได้” (ส่วนหนึ่งจากหะดีษรายงานโดยอะหมัด 1/307)
ท่านอุมัรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮู กล่าวว่า “ทุกเช้าที่ฉันตื่นขึ้น ไม่มีสิ่งใดที่ทำให้ฉันสุขใจนอกเสียจากว่าทั้งหมดเป็นไปตามกำหนดของอัลลออฮฺ”
3. การรำลึกถึงอัลลอฮฺให้มากๆ
ท่านทราบหรือไม่ว่า ในการรำลึกถึงอัลลอฮฺนั้นเต็มไปด้วยความเร้นลับที่คาดไม่ถึง ที่นำมาซึ่งความสงบแก่จิตใจ ท่านอิบนุล ก็อยยิม เราะหิมะฮุลลอฮฺ ได้กล่าวเกี่ยวกับผลบุญของการซิกรุลลอฮฺไว้ถึงร้อยประการ
ตัวอย่างเช่น การซิกรุลลอฮฺจะช่วยขจัดความเศร้าโศกเสียใจ จะทำให้จิตใจสดใสสดชื่น และการมีชีวิตที่ดีขึ้น อัลลอฮฺได้มีดำรัสว่า
﴿الَّذِينَ آمَنُواْ وَتَطْمَئِنُّ قُلُوبُهُم بِذِكْرِ اللهِ أَلاَ بِذِكْرِ اللهِ تَطْمَئِنُّ الْقُلُوبُ﴾] الرعد : 28 [
ความว่า “บรรดาผู้ศรัทธาและจิตใจของพวกเขาสงบ พึงทราบเถิดว่าด้วยการรำลึกถึงอัลลอฮฺเท่านั้นที่จะทำให้จิตใจสงบ” (อัร-เราะอฺดุ / 28 )
4. การมีความพอเพียงต่อปัจจัยที่อัลลอฮฺมอบให้
ใครก็ตามที่เขามีความรู้สึกพึงพอใจต่อปัจจัยรายได้ที่เขาได้รับ จะทำให้จิตใจสงบ ไม่รู้สึกกระวนกระวาย
ดังที่มีบันทึกในเศาะฮีหฺมุสลิม จากหะดีษของอับดุลลอฮฺ บิน อัมรฺ บิน อัล-อาศ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา ท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«قَدْ أَفْلَحَ مَنْ أَسْلَمَ، وَرُزِقَ كَفَافًا، وَقَنَّعَهُ اللَّهُ بِمَا آتَاهُ»
ความว่า “ผู้ที่น้อมรับอิสลามทั้งยังได้รับริสกีอย่างเพียงพอและอัลลอฮฺให้เขามีความรู้สึกพอใจในสิ่งที่ตนครอบครอง ย่อมได้รับความสำเร็จในชีวิตอย่างแน่นอน” (รายงานโดยมุสลิม หน้า 404 หมายเลขหะดีษ 1054 )
5. มีความเชื่อมั่นอย่างแน่วแน่ว่าความสุขที่แท้จริงของมุอ์มินอยู่ที่โลกอาคิเราะฮฺ ส่วนดุนยาเป็นโลกแห่งการทดสอบ การตรากตรำลำบาก และความเศร้าโศกเสียใจ
อัลลอฮฺได้มีดำรัสว่า
﴿لَقَدْ خَلَقْنَا الْإِنسَانَ فِي كَبَد﴾ ] البلد : 4 [
ความว่า “ โดยแน่นอน เราได้บังเกิดมนุษย์มาเพื่อเผชิญกับความยากลำบาก” (อัล- บะลัด / 4)
และพระองค์ได้ดำรัสถึงสำหรับสภาพชาวสวรรค์
﴿وَقَالُوا الْحَمْدُ لِلَّهِ الَّذِي أَذْهَبَ عَنَّا الْحَزَنَ إِنَّ رَبَّنَا لَغَفُورٌ شَكُورٌ * الَّذِي أَحَلَّنَا دَارَ الْمُقَامَةِ مِن فَضْلِهِ لَا يَمَسُّنَا فِيهَا نَصَبٌ وَلَا يَمَسُّنَا فِيهَا لُغُوبٌ﴾ ]فاطر : 34-35 [
ความว่า “พวกเขากล่าวว่ามวลการสรรเสริญเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลฮฺ ผู้ซึ่งขจัดความระทมทุกข์ออกจากพวกเรา แท้จริงพระองค์เป็นผู้ทรงอภัย ผู้ซึ่งชื่นชอบยิ่ง (ต่อผู้จงรักภักดี) พระองค์ผู้ทรงให้เราได้พำนักในดินแดนแห่งความอภิรมย์สถาพรด้วยความกรุณาของพระองค์ ความเหน็ดเหนื่อยจะไม่ประสบแก่เราในนั้น และความเบื่อหน่ายก็จะไม่ประสบแก่เราในนั้น” (ฟาฏิรฺ 2/ 34-35 )
มีบันทึกในเศาะฮีหฺมุสลิม จากหะดีษอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«الدُّنْيَا سِجْنُ الْمُؤْمِنِ وَجَنَّةُ الْكَافِرِ»
ความว่า “ดุนยาเปรียบเสมือนคุกตารางของผู้ศรัทธา และเป็นดั่งสวนสวรรค์ของผู้ปฏิเสธ” (รายงานโดยมุสลิม หน้า 1187 หมายเลขหะดีษ 2956)
มีผู้ถามท่านอิหม่ามอะหฺมัด เราะหิมะฮุลลอฮฺ ว่า “เมื่อไหร่ผู้ศรัทธา (มุอ์มิน) จะได้พักผ่อน”? ท่านตอบว่า “ต่อเมื่อเขาได้วางเท้าลงบนสวนสวรรค์”
والحمد لله رب العالمين وصلى الله على نبينا محمد وعلى آله وصحبه أجمعين