ทำไมบรรดาฟุเกาะฮาอ์จึงส่งเสริมให้ถือศีลอดวันที่ 11 (มุหัรร็อม) พร้อมกับวันที่ 10 (วันอาชูรออ์

ฟัตวา การ์ดของข้อมูล
หัวข้อ: ทำไมบรรดาฟุเกาะฮาอ์จึงส่งเสริมให้ถือศีลอดวันที่ 11 (มุหัรร็อม) พร้อมกับวันที่ 10 (วันอาชูรออ์
ภาษา: ไทย
ผู้แปล: นะอีม วงศ์เสงี่ยม
ผู้ตรวจทาน: ซุฟอัม อุษมาน
เผยแพร่โดย: ถาม-ตอบอิสลาม islam-qa.com
คำอธิบายโดยย่อ: คำถาม : ผมได้อ่านหะดีษทั้งหมดเกี่ยวกับวันอาชูรออ์ไม่พบแม้หะดีษเดียวว่าท่านนบี ซ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม แนะนำให้ถือศีลอดวันที่ 11 เพื่อทำให้แตกต่างกับพวกยิว ท่านกล่าวเพียงแค่ว่า “หากฉันมีชีวิตอยู่ต่อไปแน่นอนฉันจะถือศีลอดในวันที่ 9 และ 10” เป็นการทำให้แตกต่างกับพวกยะฮูด ขณะเดียวกันท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ไม่เคยบอกให้บรรดาเศาะหาบะฮฺถือศีลอดในวันที่ 11 แต่อย่างใด ดังกล่าวนี้จะไม่ถือเป็นอุตริกรรม (บิดอะฮฺ) ดอกหรือการที่เราจะปฏิบัติในสิ่งที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และบรรดาเศาะหาบะฮฺของท่านมิได้ปฏิบัติ? เพียงพอหรือไม่สำหรับคนที่พลาดการถือศีลอดวันที่ 9 (วันตาสูอาอ์) จะถือศีลอดวันที่ 10 (อาชูรออ์) วันเดียว ?
วันที่เพิ่ม: 2009-12-20
ลิงก์แบบย่อ: http://IslamHouse.com/261185
:: หัวข้อนี้ถูกจัดอยู่ในหมวดหมู่ต่อไปนี้ ::
คำแปลของการ์ดข้อมูลในภาษาต่างๆ: อาหรับ
ไฟล์แนบพร้อมข้อมูล ( 2 )
1.
ทำไมบรรดาฟุเกาะฮาอ์จึงส่งเสริมให้ถือศีลอดวันที่ 11 (มุหัรร็อม) พร้อมกับวันที่ 10 (วันอาชูรออ์
320.5 KB
: ทำไมบรรดาฟุเกาะฮาอ์จึงส่งเสริมให้ถือศีลอดวันที่ 11 (มุหัรร็อม) พร้อมกับวันที่ 10 (วันอาชูรออ์.doc
2.
ทำไมบรรดาฟุเกาะฮาอ์จึงส่งเสริมให้ถือศีลอดวันที่ 11 (มุหัรร็อม) พร้อมกับวันที่ 10 (วันอาชูรออ์
371.6 KB
: ทำไมบรรดาฟุเกาะฮาอ์จึงส่งเสริมให้ถือศีลอดวันที่ 11 (มุหัรร็อม) พร้อมกับวันที่ 10 (วันอาชูรออ์.pdf
คำอธิบายโดยละเอียด

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ

 

ทำไมบรรดาฟุเกาะฮาอ์จึงส่งเสริมให้ถือศีลอดวันที่ 11 (มุหัรร็อม) พร้อมกับวันที่ 10 (วันอาชูรออ์)

 

 

คำถาม : ผมได้อ่านหะดีษทั้งหมดเกี่ยวกับวันอาชูรออ์ไม่พบแม้หะดีษเดียวว่าท่านนบี ซ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม แนะนำให้ถือศีลอดวันที่ 11 เพื่อทำให้แตกต่างกับพวกยิว  ท่านกล่าวเพียงแค่ว่า “หากฉันมีชีวิตอยู่ต่อไปแน่นอนฉันจะถือศีลอดในวันที่ 9 และ 10” เป็นการทำให้แตกต่างกับพวกยะฮูด ขณะเดียวกันท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ไม่เคยบอกให้บรรดาเศาะหาบะฮฺถือศีลอดในวันที่ 11 แต่อย่างใด ดังกล่าวนี้จะไม่ถือเป็นอุตริกรรม (บิดอะฮฺ) ดอกหรือการที่เราจะปฏิบัติในสิ่งที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และบรรดาเศาะหาบะฮฺของท่านมิได้ปฏิบัติ? เพียงพอหรือไม่สำหรับคนที่พลาดการถือศีลอดวันที่ 9 (วันตาสูอาอ์) จะถือศีลอดวันที่ 10 (อาชูรออ์) วันเดียว ?

 

คำตอบ :  การสรรเสริญทั้งมวลเป็นกรรมสิทธิ์แด่อัลลอฮฺ

            บรรดานักวิชาการส่งเสริมให้ถือศีลอดวันที่ 11 เดือนมุหัรร็อม เพราะมีรายงานจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ว่าท่านใช้ให้ถือศีลอดในวันนั้น ดังหะดีษที่อะหฺมัดรายงานไว้ (หะดีษที่ 2155) จากอิบนุอับบาส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า :

«صُومُوا يَوْمَ عَاشُورَاءَ ، وَخَالِفُوا فِيهِ الْيَهُودَ ، صُومُوا قَبْلَهُ يَوْمًا أَوْ بَعْدَهُ يَوْمًا»

“พวกท่านจงถือศีลอดวันอาชูรออฺ และจงทำให้แตกต่างกับพวกยะฮูด (ยิว) จงถือศีลอดก่อนหน้านั้นหนึ่งวัน หรือหลังจากนั้นหนึ่งวัน”

 

            บรรดานักวิชาการขัดแย้งกันถึงความถูกต้องของหะดีษบทนี้ โดยเชคอะหฺมัด ชากิร บอกว่าเป็นหะดีษหะสัน ส่วนผู้ตรวจสอบสายสืบรายงานหลายท่านบอกว่าเป็นหะดีษเฎาะอีฟ

 

            อิบนุคุซัยมะฮฺได้รายงาน (หะดีษที่ 2095) ด้วยสำนวนนี้ เชค อัล-อัลบานียฺ กล่าวว่า : “สายรายงานนี้เฏาะอีฟ เพราะอิบนุอบีลัยลาเป็นคนที่ความจำไม่ดี อะฏออ์และท่านอื่นๆ ได้ขัดแย้งกับท่าน (อิบนุ อบีลัยลา) พวกเขาได้รายงานจากอิบนุ อับบาสในฐานะที่เป็นหะดีษเมากูฟ (สายรายงานสิ้นสุดที่เศาะหาบะฮฺ) และเป็นสายรายงานที่เศาะฮีฮฺตามทัศนะของอัฏ-ฏอหาวีย์ และอัล-บัยฮะกีย์” จบการอ้าง

            ดังนั้นหากเป็นหะดีษที่หะสันย่อมถือว่าดี แต่หากเป็นหะดีษเฎาะอีฟแล้ว หะดีษเฎาะอีฟในลักษณะนี้นักวิชาการอนุโลมให้เพราะถือว่าอ่อนไม่มาก ไม่ได้เป็นหะดีษที่กุขึ้นหรือแต่งขึ้นมา และเนื่องด้วยมันอยู่ในการส่งเสริมให้กระทำความดี โดยเฉพาะได้มีหะดีษที่รายงานจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ที่ส่งเสริมให้ถือศีลอดในเดือนมุหัรร็อมอยู่แล้ว ซึ่งท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า :

«أَفْضَلُ الصِّيَامِ بَعْدَ رَمَضَانَ شَهْرُ اللهِ الْمُحَرَّمُ»

“การถือศีลอดที่ประเสริฐที่สุดรองจากเดือนเราะมะฎอนคือเดือนของอัลลอฮฺ เดือนมุหัรร็อม” รายงานโดยมุสลิม หะดีษที่ 1163

 

            อัล-บัยฮะกีย์ได้รายงานหะดีษนี้ใน “อัส-สุนัน อัล-กุบรอ” ตามสำนวนข้างต้น และมีสายรายงานอื่นด้วยสำนวนที่ว่า :

«صوموا قبله يوماً وبعده يوماً»

“พวกท่านจงถือศีลอดก่อนหน้านั้นหนึ่งวัน และหลังจากนั้นหนึ่งวัน”

 

โดยใช้ตัวเชื่อม “วะ” (และ) แทนคำว่า “เอาวฺ“ (หรือ)

            อัล-หาฟิซ อิบนุหะญัร ได้นำมารายงานไว้ใน “อิตหาฟุล มะฮะเราะฮฺ” หะดีษที่ 2225 ด้วยสำนวนที่ว่า : “พวกท่านจงถือศีลอดก่อนหน้านั้นหนึ่งวัน และหลังจากนั้นหนึ่งวัน” โดยกล่าวว่า : “อะหฺมัด และอัลบัยฮะกียฺได้รายงานด้วยสายรายงานที่เฎาะอีฟ เพราะมุฮัมมัด อิบนุ อบีลัยลาเป็นคนเฎาะอีฟ แต่ว่าเขาไม่ได้รายงานเพียงคนเดียว ทว่าศอลิหฺ อิบนุ อบีศอลิหฺ อิบนุ หัยยฺ ได้รายงานเช่นกัน” จบการอ้าง

 

สายรายงานนี้ได้บ่งบอกว่าการถือศีลอดในวันที่ 9, 10 และ 11 นั้นส่งเสริมให้ปฏิบัติ

            นักวิชาการบางท่านได้กล่าวถึงสาเหตุอื่นของการส่งเสริมให้ถือศีลอดในวันที่ 11 ไว้ว่า เป็นการเผื่อไว้สำหรับวันที่ 10 บางทีผู้คนอาจผิดพลาดด้านการเข้าเดือนมุหัรร็อมจึงไม่ทราบว่าวันใดกันแน่คือวันที่ 10 ดังนั้นหากมุสลิมได้ถือศีลอดวันที่ 9, 10 และ 11 ย่อมทำให้เกิดความแน่นอนว่าได้ถือศีลอดวันอาชูรออ์แล้ว อิบนุ อบีชัยบะฮฺได้รายงานไว้ใน “อัลมุศ็อนนัฟ” (เล่ม 2 หน้า 313) จาก ฏอวูส (ขออัลลอฮฺเมตตาท่าน) ว่าท่านได้ถือศีลอดก่อนและหลังจากวันที่ 10 มุหัรร็อมหนึ่งวัน เพราะเกรงว่าจะถือศีลอดพลาดไม่ตรงกับวันที่ 10

            อิหม่ามอะหฺมัด กล่าวว่า ใครต้องการถือศีลอดวันอาชูรออ์ให้ถือวันที่ 9 และวันที่ 10 นอกเสียจาก (การเข้า) เดือนนั้นจะสับสนก็ให้ถือศีลอดทั้งสามวัน อิบนุ ซีรีนก็กล่าวเช่นเดียวกันนี้ (จบการอ้างจาก “อัลมุฆนียฺ” เล่มที่ 4 หน้า 441)

            ด้วยเหตุดังกล่าวย่อมชัดเจนว่าไม่ถูกต้องสำหรับคำกล่าวว่าการถือศีลอดสามวันเป็นอุตริกรรม (บิดอะฮฺ)

            ส่วนใครที่พลาดถือศีลอดวันที่ 9 หากเขาจะถือศีลอดวันที่ 10 เพียงวันเดียวก็ไม่เป็นที่ต้องห้าม และไม่ถือเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ (มักรูฮฺ) ด้วย แต่หากจะถือศีลอดวันที่ 11 ด้วยย่อมมีความประเสริฐกว่า

            อัล-มัรดาวียฺ กล่าวไว้ใน “อัลอินศอฟ” (เล่มที่ 3 หน้าที่ 346) ความว่า : “ตามทัศนะที่ถูกต้องนั้นการถือศีลอดวันที่ 10 วันเดียวไม่เป็นที่น่ารังเกียจ (มักรูฮฺ) เชคตะกียฺยุดดีน อิบนุ ตัยมียฺยะฮฺ ก็เห็นด้วยว่าไม่น่ารังเกียจแต่อย่างใด” จบการอ้างแบบสรุป

           

วัลลอฮุอะอฺลัม

 

คำตอบโดย เว็บอิสลามถามตอบ

ฟัตวาหมายเลข 128423

Go to the Top