الكيفيات الواردة لصلاة الوتر

فتاوى البطاقة التعريفية
العنوان: الكيفيات الواردة لصلاة الوتر
اللغة: تايلندي
نبذة مختصرة: ما أفضل كيفية لأداء صلاة الوتر؟. سؤال أجيب عليه في موقع الإسلام سؤال وجواب
تأريخ الإضافة: 2009-08-28
الرابط المختصر: http://IslamHouse.com/231703
:: هذا العنوان مصنف موضوعياً ضمن التصانيف الآتية ::
- هذه البطاقة مترجمة باللغات التالية: تايلندي
المرفقات ( 3 )
1.
نص الفتوى بالعربية
2.
รูปแบบต่างๆ ของละหมาดวิติร
227.5 KB
فتح: รูปแบบต่างๆ ของละหมาดวิติร.doc
3.
รูปแบบต่างๆ ของละหมาดวิติร
134 KB
فتح: รูปแบบต่างๆ ของละหมาดวิติร.pdf
نبذة موسعة

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ

 

รูปแบบต่างๆ ของการละหมาดวิติรตามที่มีระบุในสายรายงาน

 

ถาม : รูปแบบใดที่ดีที่สุดในการละหมาดวิติร ?

 

ตอบ : อัลหัมดุลิลลาฮฺ

เศาะลาฮฺวิติรนั้นเป็นหนึ่งในบรรดาการภักดีใกล้ชิดต่ออัลลอฮฺที่ยิ่งใหญ่ที่สุด กระทั่งอุละมาอ์บางท่าน คืออุละมาอ์มัซฮับหะนะฟีย์ ถึงกับมีความเห็นว่ามันเป็นวาญิบ แต่ที่ถูกต้องก็คือมันเป็นสุนัตมุอักกะดะฮฺ(สุนัตที่ส่งเสริมให้กระทำอย่างยิ่ง) ซึ่งสมควรอย่างยิ่งสำหรับมุสลิมที่จะต้องหมั่นปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอและไม่ละทิ้งมัน

อิมาม อะห์มัด ได้กล่าวว่า "ผู้ใดที่ละทิ้งละหมาดวิติร เขาก็เป็นคนที่เลวร้าย ไม่สมควรที่จะถูกรับการเป็นพยานของเขา"

นี่เป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นถึงการสนับสนุนอย่างยิ่งให้ละหมาดวิติร

เราอาจจะสรุปเนื้อเรื่องเกี่ยวกับรูปแบบการละหมาดวิติรดังหัวข้อต่อไปนี้

 

เวลาของละหมาดวิติร

เริ่มตั้งแต่คนผู้หนึ่งละหมาดอิชาอ์เสร็จ รวมถึงกรณีที่เขาได้รวมละหมาดอิชาอ์ในเวลามัฆริบเป็น ญัมอฺ ตักดีม (การรวมละหมาดในเวลาแรก) ด้วย เวลาการละหมาดวิติรจะสิ้นสุดเมื่อมีแสงอรุณ (ซึ่งบ่งบอกว่าถึงเวลาศุบหฺ) ปรากฏ ดังหะดีษของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ว่า

«إِنَّ اللهَ قَدْ أَمَدَّكُمْ بِصَلاةٍ وهي الْوِتْرُ جَعَلَهُ اللهُ لَكُمْ فِيمَا بَيْنَ صَلاةِ الْعِشَاءِ إِلَى أَنْ يَطْلُعَ الْفَجْرُ»

ความว่า "แท้จริง อัลลอฮฺได้มอบให้กับพวกเจ้าซึ่งการละหมาดหนึ่ง มันคือละหมาดวิติร พระองค์อัลลอฮฺทรงกำหนดเวลาของมันให้กับพวกเจ้าระหว่างละหมาดอิชาอ์จนกระทั่งแสงอรุณปรากฏ" (บันทึกโดย อัต-ติรมิซีย์ 425 อัล-อัลบานีย์ มีทัศนะว่าเศาะฮีหฺ ใน เศาะฮีหฺ สุนัน อัต-ติรมิซีย์)

 

การละหมาดก่อนในช่วงค่ำ หรือ การละหมาดให้ล่าช้าช่วงท้ายคืน เวลาไหนที่ดีกว่า ?

สุนนะฮฺได้ชี้ให้เห็นว่าผู้ที่ปรารถนาแรงกล้าจะตื่นขึ้นมาละหมาดช่วงท้ายของกลางคืน ดังนั้น ที่ดีที่สุดก็คือให้เขาละหมาดวิติรในช่วงท้าย เพราะการละหมาดช่วงท้ายคืนประเสริฐกว่า และมันเป็นการละหมาดที่ถูกเป็นสักขีพยาน(โดยมลาอิกะฮฺ) และสำหรับผู้ที่เกรงว่าจะไม่ตื่นขึ้นมาช่วงท้ายคืนให้เขาละหมาดวิติรก่อนที่เขาจะนอน เนื่องด้วยมีหะดีษที่เล่าโดย ญาบิรฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุ เล่าว่าท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวว่า

«مَنْ خَافَ أَنْ لا يَقُومَ مِنْ آخِرِ اللَّيْلِ فَلْيُوتِرْ أَوَّلَهُ وَمَنْ طَمِعَ أَنْ يَقُومَ آخِرَهُ فَلْيُوتِرْ آخِرَ اللَّيْلِ فَإِنَّ صَلاةَ آخِرِ اللَّيْلِ مَشْهُودَةٌ وَذَلِكَ أَفْضَلُ»

ความว่า "ผู้ใดที่เกรงว่าจะไม่ตื่นขึ้นมาในช่วงท้ายของคืน ให้เขาละหมาดวิติรในช่วงแรกของคืน และผู้ใดที่ปรารถนาแรงกล้าจะลุกขึ้นในท้ายคืนก็ให้เขาละหมาดวิติรในช่วงท้ายของกลางคืน เพราะการละหมาดในช่วงท้ายนั้นเป็นการละหมาดที่ถูกเห็นเป็นสักขี และนั่นเป็นที่ประเสริฐกว่า" (บันทึกโดยมุสลิม 755)

 

อัน-นะวะวีย์ กล่าวว่า : และนี่คือสิ่งที่ถูกต้อง และให้ตีความหะดีษอื่นๆ ที่มีความหมายโดยรวมนั้นด้วยความหมายตามหะดีษนี้ ในจำนวนหะดีษอื่นๆ เหล่านั้นก็คือหะดีษที่ว่า "สหายของฉันได้สั่งเสียฉันไม่ให้ฉันนอนจนกว่าฉันจะละหมาดวิติร" ซึ่งถูกตีความสำหรับผู้ที่ไม่มั่นใจว่าจะตื่นขึ้นมาละหมาดในช่วงท้ายคืน (บทอธิบายเศาะฮีหฺ มุสลิม 3/277)

 

จำนวนร็อกอัต

ร็อกอัตที่น้อยที่สุดของละหมาดวิติรคือ หนึ่งร็อกอัต ตามที่มีหะดีษจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ว่า

«الْوِتْرُ رَكْعَةٌ مِنْ آخِرِ اللَّيْلِ»

ความว่า "วิติรนั้น หนึ่งร็อกอัตในช่วงท้ายของคืน" (บันทึกโดยมุสลิม 752)

 

และหะดีษของท่านที่ว่า

«صَلاةُ اللَّيْلِ مَثْنَى مَثْنَى فَإِذَا خَشِيَ أَحَدُكُمْ الصُّبْحَ صَلَّى رَكْعَةً وَاحِدَةً تُوتِرُ لَهُ مَا قَدْ صَلَّى»

ความว่า "ละหมาดกลางคืนนั้นให้ทำทีละสองร็อกอัต และเมื่อพวกท่านคนใดคนหนึ่งเกรงว่าจะได้เวลาศุบหฺ ให้เขาละหมาดหนึ่งร็อกอัตเพื่อให้เป็นวิติร(จำนวนคี่)สำหรับการละหมาดที่ได้ทำมานั้น" (บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์ 749 มุสลิม 911)

 

และหากคนผู้หนึ่งได้ละหมาดแค่ร็อกอัตเดียว ก็แสดงว่าเขาได้ทำสุนนะฮฺแล้ว และอนุญาตให้เขาวิติรสามร็อกอัต หรือห้าร็อกอัต หรือเจ็ดร็อกอัต หรือเก้าร็อกอัต

 

1. การละหมาดวิติรสามร็อกอัตนั้นมีอยู่สองรูปแบบ ซึ่งทั้งสองนั้นล้วนถูกบัญญัติทั้งสิ้น

รูปแบบที่หนึ่ง ให้ละหมาดรวดเดียวสามร็อกอัตด้วยการนั่งตะชะฮฺฮุดเพียงหนึ่งครั้ง ตามหะดีษที่เล่าโดยท่านอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮา ว่า

"ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ไม่ให้สลามในร็อกอัตที่สองของละหมาดวิติร" ในรายงานอื่นระบุว่า "ท่านจะละหมาดวิติรสามร็อกอัตโดยไม่จะนั่ง(ตะชะฮฺฮุด)ยกเว้นในร็อกอัตสุดท้ายเท่านั้น" (บันทึกโดยอัน-นะสาอีย์ 3/234 อัล-บัยฮะกีย์ 3/13 อัน-นะวะวีย์ กล่าวใน อัล-มัจญ์มูอฺ 4/7 ว่า อัน-นะสาอีย์รายงานด้วยสายสืบที่หะสัน และอัล-บัยฮะกีย์ด้วยสายสืบที่เศาะฮีหฺ)

 

รูปแบบที่สอง ให้นั่งตะชะฮฺฮุดในร็อกอัตที่สองจากนั้นก็ให้สลาม เสร็จแล้วลุกขึ้นละหมาดต่ออีกหนึ่งร็อกอัตแล้วก็ให้สลามอีกครั้ง เนื่องจากมีหะดีษที่เล่าโดยอิบนุ อุมัร เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุมา ว่าท่านได้แยกระหว่างสองร็อกอัตแรกกับหนึ่งร็อกอัตวิติรสุดท้ายด้วยการให้สลาม และท่านก็บอกว่าท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้ปฏิบัติเช่นนั้น (บันทึกโดย อิบนุ หิบบาน 2435 อิบนุ หะญัร ได้กล่าวในฟัตหุลบารีย์ ว่า สายสืบของมันเข้มแข็ง)

 

2. และถ้าหากว่าละหมาดวิติรห้าหรือเจ็ดร็อกอัต ก็ให้ละหมาดติดต่อกันและไม่ต้องนั่งตะชะฮฺฮุดยกเว้นในร็อกอัตสุดท้ายแล้วจึงให้สลาม ด้วยมีหะดีษจากท่านอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮา เล่าว่า ท่านรอซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้ละหมาดในเวลากลางคืนสิบสามร็อกอัต และได้ละหมาดวิติรรวมอยู่ในจำนวนนั้นด้วยห้าร็อกอัต โดยที่ท่านไม่ได้นั่ง(ตะชะฮฺฮุด)เลยเว้นแต่ในร็อกอัตสุดท้าย (บันทึกโดยมุสลิม 737)

และเล่าจากอุมมุ สะละมะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮา ว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้ละหมาดวิติรห้าร็อกอัตและเจ็ดร็อกอัต โดยไม่ได้แยกมันด้วยสลามหรือคำพูดใดๆ (บันทึกโดย อะห์มัด 6/290 อัน-นะสาอีย์ 1714 และอัน-นะวะวีย์ ได้กล่าวว่า สายรายงานของมันเป็นสายที่ดี ดู อัล-ฟัตห์ อัร-ร็อบบานีย์ 2/297 อัล-อัลบานีย์เห็นว่าเป็นหะดีษเศาะฮีหฺ ใน เศาะฮีหฺ สุนัน อัน-นะสาอีย์)

 

3. และหากว่าละหมาดวิติรเก้าร็อกอัต ก็ให้ละหมาดติดต่อกันโดยนั่งตะชะฮฺฮุดในร็อกอัตที่แปดจากนั้นก็ลุกขึ้นละหมาดต่อโดยไม่ต้องให้สลาม และให้นั่งตะชะฮฺฮุดอีกครั้งในร็อกอัตที่เก้าจากนั้นจึงให้สลาม เพราะมีหะดีษที่เล่าโดยอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮา ในเศาะฮีหฺมุสลิม (746) ว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้ละหมาดเก้าร็อกอัต โดยท่านไม่ได้นั่ง(ตะชะฮฺฮุด)เลยยกเว้นในร็อกอัตที่แปด ด้วยการกล่าวรำลึกถึงอัลลอฮฺ สดุดีและขอดุอาอ์ต่อพระองค์ จากนั้นก็ได้ลุกขึ้นโดยไม่ได้ให้สลาม แล้วท่านก็ละหมาดร็อกอัตที่เก้า จากนั้นก็ท่านนั่ง(ตะชะฮฺฮุด)โดยกล่าวคำรำลึกถึงอัลลอฮฺ สดุดีและขอดุอาอ์ต่อพระองค์ จากนั้นก็ให้สลามที่เราสามารถได้ยินเสียงสลามนั้น

 

4. และถ้าหากละหมาดวิติรสิบเอ็ดร็อกอัต ก็ให้เขากล่าวให้สลามทุกๆ สองร็อกอัต และให้ละหมาดแยกเป็นวิติรอีกหนึ่งร็อกอัต

 

ส่วนน้อยที่สุดที่ถือว่าสมบูรณ์ และสูเราะฮฺที่ใช้อ่านในละหมาดวิติร

ขั้นต่ำที่สุดที่ถือว่าสมบูรณ์ของการละหมาดวิติรคือการละหมาดสองร็อกอัตแล้วให้สลาม จากนั้นก็ละหมาดต่ออีกหนึ่งร็อกอัตแล้วก็ให้สลาม และอนุญาตให้ละหมาดสามร็อกอัตรวด โดยให้สลามเพียงครั้งเดียว แต่ให้นั่งตะชะฮฺฮุดเพียงหนึ่งครั้งไม่ใช่สองครั้ง ดังที่ได้อธิบายมาแล้ว

ให้อ่านในร็อกอัตแรกด้วยสูเราะฮฺ อัล-อะอฺลา จนจบ และในร็อกอัตที่สองด้วยสูเราะฮฺ อัล-กาฟิรูน และในร็อกอัตที่สามด้วยสูเราะฮฺ อัล-อิคลาศ

อัน-นะสาอีย์ (หะดีษที่ 1729) ได้รายงานจากอุบัยย์ บิน กะอับ เล่าว่า ท่านรอซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้อ่านในละหมาดวิติรด้วย "สับบิหิส มะร็อบิกัล อะอฺลา" และ "กุลยา อัยยุฮัล กาฟิรูน" และ "กุลฮุวัลลอฮุ อะหัด" (อัล-อัลบานีย์ มีทัศนะว่าเศาะฮีหฺ ใน เศาะฮีหฺ สุนัน อัน-นะสาอีย์)

 

รูปแบบของการละหมาดวิติรทั้งหมดนี้ล้วนมีแบบอย่างตามสุนนะฮฺทั้งสิ้น และที่สมบูรณ์ที่สุดสำหรับมุสลิมคืออย่าให้เขายึดเอารูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเป็นการเฉพาะ ทว่าให้เขาละหมาดแบบนี้ครั้งหนึ่ง และเปลี่ยนเป็นรูปแบบอื่นบ้างในครั้งต่อไป เป็นต้น เพื่อจะได้เป็นการปฏิบัติตามสุนนะฮฺทั้งหมด

วัลลอฮุ ตะอาลา อะอฺลัม

 

เว็บอิสลามถามตอบ islamqa.info

ฟัตวาหมายเลข 46544

 

Go to the Top