الاستنجاء والاستجمار
อิสตินญาอ์ คือ การชำระสิ่งที่ออกมาจากสองรูทวาร(อุจจาระหรือ ปัสสาวะ)ให้สะอาดโดยการล้างด้วยน้ำ
อิสติจมารฺ คือ การชำระสิ่งที่ออกมาจากสองรูทวาร(อุจจาระหรือ ปัสสาวะ)ให้สะอาดโดยการเช็ด ด้วยก้อนหิน ก้อนดิน หรือใบไม้ เป็นต้น
สิ่งที่ควรกล่าวและปฏิบัติในขณะเข้าหรือออกจากห้องน้ำ
1- ควรเริ่มเข้าห้องน้ำด้วยการก้าวเท้าซ้ายนำเข้าไปก่อน พร้อมด้วยกล่าวว่า
اللَّهُمَّ إِنِّي أَعُوذُ بِكَ مِنَ الْخُبُثِ وَالْخَبَائِثِ
ความว่า “โอ้อัลลอฮฺ แท้จริงฉันขอความคุ้มครองจากพระองค์ให้พ้นจากชัยฏอนตัวผู้และตัวเมีย” (มุตตะฟะกุน อะลัยฮฺ โดยมีบันทึกในอัลบุคอรีย์ เลขที่ : 172และมุสลิม เลขที่ : 279)
2- ในขณะที่ออกจากห้องน้ำควรเริ่มด้วยการก้าวเท้าขวานำออกไปก่อน พร้อมด้วยกล่าวว่า
غُفْرَانَكَ
ความวา “ฉันขออภัยโทษต่อพระองค์” (เป็นหะดีษที่เศาะหีหฺ รายงานโดยอะบูดาวุด เลขที่: 30 และนี่เป็นสำนวนของเขา โปรดดูในเศาะฮีหฺ สุนันอะบีดาวูด เลขที่ : 23 และรายงานโดยอัต-ติรมิซีย์ เลขที่ : 7 โปรดดูในเศาะฮีหฺสุนันอัน-นะสาอีย์ เลขที่ : 7)
· การเข้ามัสยิดและการสวมใส่เสื้อผ้า รองเท้า ควรเริ่มด้วยด้านขวาก่อน ส่วนการออกจากมัสยิดและการถอดเสื้อผ้า หรือรองเท้าควรเริ่มด้วยด้านซ้ายก่อน
· สำหรับผู้ที่ต้องการถ่ายอุจจาระในที่โล่งหรือในทะเลทรายควรเป็นที่ที่ห่างไกลจากผู้คน และควรเลือกสถานที่ที่พื้นไม่แข็งในการปัสสาวะ ทั้งนี้เพื่อมิให้ละอองปัสสวะกระเด็นถูกตัว
· ควรถ่ายปัสสาวะในท่านั่งและอนุญาตให้ปัสสาวะในท่ายืนได้ ในกรณีที่ไม่ทำให้เปื้อนรอยปัสสาวะและปลอดจากสายตาคนอื่น
· หะรอม(ห้าม) มิให้นำมุศหัฟ (อัลกุรอาน) เข้าไปในสุขา และมักรูฮฺ(เป็นที่น่ารังเกียจ)พูดคุยในห้องน้ำนอกจากในกรณีจำเป็นเช่น การชี้แนะให้กับคนที่หลงทาง หรือ เรียกหาน้ำจากผู้อื่น เป็นต้น
· มักรูฮฺ(น่ารังเกียจ)ให้นำทุกสิ่งที่มีชื่อของอัลลอฮฺเข้าไปในห้องน้ำ นอกจากในกรณีจำเป็นและมักรูฮฺให้ปัสสาวะในรูหรือรอยแตก และมักรูฮฺ ให้จับอวัยวะด้วยมือขวา รวมทั้งมิชอบให้มีการชำระล้างด้วยมือขวาเช่นกัน และมักรูฮฺให้มีการถลกผ้าขึ้นจนกว่าจะนั่งอุจจาระเรียบร้อยแล้วในกรณีที่อุจจาระในที่แจ้ง และมักรูฮฺให้ผู้ที่กำลังปัสสาวะหรืออุจจาระตอบรับสลาม แต่ถ้าหากในกรณีเสร็จสิ้นแล้ว ให้ทำการชำระแล้วจึงตอบรับสลาม
· หุก่มการหันหน้าและหันหลังให้กับกิบละฮฺในขณะอุจจาระและปัสสาวะ .. หะรอม(ห้าม)มิให้หันหน้าและหันหลังให้กับกิบละฮฺในขณะอุจจาระและปัสสาวะแม้จะอยู่ในที่แจ้ง หรือในสิ่งก่อสร้างก็ตาม ทั้งนี้ มีหะดีษรายงานจากท่านอะบูอัยยูบ อัลอันศอรียฺเราะฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่าท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมได้กล่าวว่า
إِذَا أَتَيْتُمُ الْغَائِطَ فَلَا تَسْتَقْبِلُوا الْقِبْلَةَ وَلَا تَسْتَدْبِرُوهَا وَلَكِنْ شَرِّقُوا أَوْ غَرِّبُوا
ความว่า “หากพวกท่านอยู่ในกรณีที่ต้องปลดทุกข์ พวกท่านอย่าได้หันหน้าหรือหันหลังให้กับกิบละฮฺ แต่ว่าพวกท่านจงหันไปทางตะวันออกและตะวันตก (สำหรับชาวมะดีนะฮฺกิบละฮฺจะอยู่ทางทิศใต้-บรรณาธิการ)” ท่านอะบูอัยยูบได้กล่าวว่า เมื่อครั้งที่พวกเราไปยังเมืองชาม พวกเราได้พบว่า สุขาที่นั่น ถูกหันไปทางกิบละฮฺ พวกเราจึงทำให้เฉียงไปและหลังจากนั้นพวกเขาจึงขออภัยโทษต่ออัลลอฮฺ (มุตตะฟะกุน อะลัยฮฺ)
· หะรอม(ห้าม)มิให้ถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระในมัสยิด และตามถนน และในที่ร่มที่ผู้คนหยุดพัก และใต้ต้นไม้ที่มีผลไม้อยู่บนต้น และตามสายน้ำลำธาร และสถานที่อื่นๆ ซึ่งเป็นสถานที่ที่ผู้คนใช้ประโยชน์กัน
· การอิสติจมารฺ(การชำระอุจจาระ ปัสสาวะด้วยหินหรือดินแทนน้ำ)นั้นต้องใช้ก้อนหินเช็ดอย่างน้อยจำนวน 3 ก้อน แต่ถ้ายังไม่สะอาดก็ให้เพิ่มจำนวนไปอีก และสุนัต(ส่งเสริม)ให้สิ้นสุดด้วยจำนวนคี่ เช่น สาม หรือ ห้า เป็นต้น
· หะรอม(ห้าม)มิให้เช็ดด้วยกระดูก ด้วยมูลสัตว์แห้ง ด้วยสิ่งที่ใช้เป็นอาหาร และด้วยสิ่งที่พึงให้เกียรติทั้งหลาย
· อุจจาระ และปัสสาวะนั้นสามารถชำระล้างได้โดยการล้างด้วยน้ำ หรือเช็ดด้วยก้อนหิน กระดาษชำระ ใบไม้ เป็นต้น แต่การล้างด้วยน้ำ ถือว่าดีที่สุด เพราะว่าน้ำสามารถทำให้สะอาดได้อย่างหมดจดที่สุด
· วาญิบ(จำเป็นต้อง)ล้างหรือซักส่วนที่เป็นนะญิส บนเสื้อผ้า ด้วยน้ำ ซึ่งหากไม่สามารถรู้ตำแหน่งที่ถูกนะญิส อย่างแน่นอนได้ ให้ล้างหรือซักเสื้อผ้าทั้งผืน
· ให้ทำความสะอาดด้วยการพรมน้ำสำหรับรอยปัสสาวะของทารกชาย และให้ทำความสะอาดด้วยล้างด้วยน้ำสำหรับรอยปัสสาวะของทารกหญิง ทั้งนี้หากว่าทั้งคู่ยังไม่ได้กินอาหารนอกเหนือจากนม แต่ถ้าทั้งคู่กินอาหารได้แล้ว ให้ทำความสะอาดรอยปัสสาวะทั้งคู่ด้วยการล้างด้วยน้ำเหมือนกัน