Kurtulanlar (Özet)

Makaleler Materyal hakkında bilgi
Adres: Kurtulanlar (Özet)
Dil: Taylandça
Yazan: Sâfî Osman
Yayınlayan: İkra Fatani Kitabevi
Kısa Tanım: "Kurtulanlar" adlı makalenin özetiyle birlikte son bölümüdür.
Eklenme tarihi: 2008-06-17
Kısa link: http://IslamHouse.com/153151
Bu başlık, aşağıdaki konulara göre sınıflandırılmıştır:
Materyalin İlişikleri ( 1 )
1.
ผู้ประสบความสำเร็จ (ตอนที่ 2 จบ)
715.9 KB
: ผู้ประสบความสำเร็จ (ตอนที่ 2 จบ).pdf
Ayrıntılı bilgi

 

4. ซิกรุลลอฮฺ

ซิกรุลลอฮฺ คือการกล่าวรำลึกถึงอัลลอฮฺ เป็นอะมัลที่แทบไม่ต้องลงทุนลงแรงแต่อย่างใดเลย ทว่ากลับมีคุณค่าแก่ผู้ศรัทธาอย่างมหาศาล อัลกุรอานได้สนับสนุนให้มุอ์มินกล่าวระลึกถึงอัลลอฮฺทุกช่วงเวลา เพราะเป็นการแสดงว่าเขามีความผูกพันกับอัลลอฮฺอยู่ตลอดเวลา และจะเห็นได้ว่าท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้ทำตัวอย่างในการซิกรุลลอฮฺแก่ประชาชาติของท่านไว้อย่างสมบูรณ์ โดยที่ท่านได้สอนบทดุอาอ์ต่างๆ ในทุกอิริยาบท ไม่ว่าจะยืน จะนั่ง จะนอน จะลุก จะเดิน ฯลฯ ทั้งนี้เพราะการซิกรุลลอฮฺจะทำให้มนุษย์สำนึกตนว่าเขามีพระผู้อภิบาลที่คอยดูแลเอาใจใส่เขาทุกเวลา ทำให้เขาได้ขอบคุณพระองค์และหมั่นทำตามสิ่งที่พระองค์สั่งใช้ ซึ่งจะกลายเป็นกุญแจแห่งความดีงามที่จะไขสู่ความสำเร็จตามที่อัลลอฮฺได้สัญญาไว้นั่นเอง อัลลอฮฺได้ตรัสถึงผลแห่งการระลึกถึงพระองค์ว่า

«فَاذْكُرُوا آلاءَ اللَّهِ لَعَلَّكُمْ تُفْلِحُونَ»

ความว่า ดังนั้น พวกเจ้าจงระลึกถึงนิอฺมัต/คุณความดีของอัลลอฮฺเถิด เพื่อว่าพวกเจ้าจะประสบความสำเร็จ (อัล-อะอฺรอฟ : 69)

«يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا إِذَا لَقِيتُمْ فِئَةً فَاثْبُتُوا وَاذْكُرُوا اللَّهَ كَثِيرًا لَعَلَّكُمْ تُفْلِحُونَ»

ความว่า โอ้ผู้ศรัทธาทั้งหลาย เมื่อพวกท่านเจอข้าศึก ก็จงยืนหยัดให้มั่น(ในการต่อสู้) และจงกล่าวระลึกถึงอัลลอฮฺให้มาก เพื่อว่าพวกเจ้าจะประสบความสำเร็จ (อัล-อันฟาล : 45)

«فَإِذَا قُضِيَتِ الصَّلاةُ فَانْتَشِرُوا فِي الأرْضِ وَابْتَغُوا مِنْ فَضْلِ اللَّهِ وَاذْكُرُوا اللَّهَ كَثِيرًا لَعَلَّكُمْ تُفْلِحُونَ»

ความว่า และเมื่อการละหมาดได้เสร็จเรียบร้อยแล้ว พวกเจ้าก็จงแยกย้ายกันไปตามแผ่นดินของอัลลอฮฺเพื่อขวนขวายความประเสริฐของพระองค์ และจงกล่าวรำลึกถึงอัลลอฮฺให้มาก เพื่อว่าพวกเจ้าจะประสบความสำเร็จ (อัล-ญุมุอะฮฺ : 10)

«قَدْ أَفْلَحَ مَنْ تَزَكَّى، وَذَكَرَ اسْمَ رَبِّهِ فَصَلَّى»

ความว่า แท้จริงผู้ที่ย่อมจะประสบความสำเร็จ คือผู้ที่ขัดเกลาจิตใจให้บริสุทธิ์ และกล่าวระลึกถึงพระนามของอัลลอฮฺ และได้ทำการละหมาด (อัล-อะอฺลา : 14-15)

 

5. ขัดเกลาจิตใจให้บริสุทธิ์

อัลลอฮฺได้ตรัสถึงเรื่องนี้ว่า

«قَدْ أَفْلَحَ مَنْ تَزَكَّى، وَذَكَرَ اسْمَ رَبِّهِ فَصَلَّى»

ความว่า แท้จริงผู้ที่ย่อมจะประสบความสำเร็จ คือผู้ที่ขัดเกลาจิตใจให้บริสุทธิ์ และกล่าวระลึกถึงพระนามของอัลลอฮฺ และได้ทำการละหมาด (อัล-อะอฺลา : 14-15)

«قَدْ أَفْلَحَ مَنْ زَكَّاهَا، وَقَدْ خَابَ مَنْ دَسَّاهَا»

ความว่า แท้จริงผู้ที่ขัดเกลามัน(จิตใจ)ให้บริสุทธิ์ย่อมประสบความสำเร็จ และแท้จริงผู้ที่ทำให้มันโสโครกย่อมประสบความเสียหาย (อัช-ชัมส์ : 9-10)

 

6. การเตาบัต

การเตาบัตคือการขอให้อัลลอฮฺลบล้างความผิดและบาป ที่อาจจะเป็นเหตุทำให้มนุษย์ต้องถูกลงโทษในนรก การเตาบัตจึงเป็นหนทางแห่งการหลุดพ้นจากความผิดและประสบความสำเร็จได้เข้าสวนสวรรค์ อัลลอฮฺได้ตรัสว่า

«وَتُوبُوا إِلَى اللَّهِ جَمِيعًا أَيُّهَا الْمُؤْمِنُونَ لَعَلَّكُمْ تُفْلِحُونَ»

ความว่า และจงเตาบัตต่ออัลลอฮฺเสียทั้งหมดเถิด โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย เพื่อว่าพวกเจ้าจะประสบความสำเร็จ (อัน-นูร : 31)

«فَأَمَّا مَنْ تَابَ وَآمَنَ وَعَمِلَ صَالِحًا فَعَسَى أَنْ يَكُونَ مِنَ الْمُفْلِحِينَ»

ความว่า ดังนั้น แม้นผู้ใดได้เตาบัต ได้ศรัทธาและปฏิบัติความดีงาม(ทดแทนความผิด) ย่อมที่เขาจะเป็นหนึ่งในบรรดาผู้ที่ประสบความสำเร็จ (อัล-เกาะศ็อศ : 67)

 

7. รักษาตนจากความตระหนี่

คุณลักษณะแห่งความตระหนี่คือสันดานที่ส่อถึงจิตใจอันคับแคบ และอาจจะบ่งบอกถึงความละโมบโลภมากด้วยซ้ำ ถึงแม้จะมองโดยผิวเผินแล้วความตระหนี่จะไม่ให้โทษใดๆ แต่โดยความเป็นจริงคุณลักษณะเช่นนี้ถือเป็นสิ่งที่น่าละอายเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นการไม่สำนึกในบุญคุณของพระผู้อภิบาลที่ทรงประทานนิอฺมัตมากมายให้กับบ่าว แต่เขากลับหยิ่งยะโสและไม่ยอมใช้จ่ายตามหน้าที่และความรับผิดชอบที่พระองค์ได้กำหนดเหนือตัวเขา ทั้งๆ ที่ความมั่งมีที่เขาเป็นเจ้าของนั้นล้วนมาจากพระองค์ทั้งสิ้น เพื่อสนับสนุนให้มนุษย์เอาชนะนิสัยเสียในด้านนี้พระองค์อัลลอฮฺจึงกำหนดว่าความสำเร็จนั้นจะประสบแก่ผู้ที่สามารถรักษาตนจากความตระหนี่ถี่เหนียว พระองค์ได้ตรัสในอัลกุรอานถึงสองที่ด้วยกันว่า

«وَمَنْ يُوقَ شُحَّ نَفْسِهِ فَأُولَئِكَ هُمُ الْمُفْلِحُونَ»

ความว่า และแม้นผู้ใดได้รับการปกป้องความตระหนี่ในใจเขา ดังนั้น พวกเขาเหล่านั้นแหล่ะคือผู้ที่ประสบความสำเร็จ (อัล-หัชร์ : 9, อัต-ตะฆอบุน : 16)

 

8. สั่งเสียในความดี ยับยั้งความชั่ว

คุณลักษณะนี้เป็นประการที่อยู่ในขอบเขตของการทำเพื่อส่วนรวม เป็นแสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อสังคม และเป็นปัจจัยพื้นฐานที่จะทำให้สังคมมนุษย์ปลอดภัยจากสิ่งไม่พึงปรารถนา หากเราทั้งหลายปฏิบัติตามคำสั่งนี้กันอย่างจริงจัง แน่แท้ความดีงามทั้งหลายก็จะปรากฏ ทว่าความเป็นจริงที่น่าเศร้าสลดก็คือ เรายังขาดคุณสมบัติแห่งความสำเร็จในข้อนี้อีกมาก สังคมของเราในปัจจุบันจึงเต็มไปด้วยความเน่าเฟะของศีลธรรมและจริยธรรม ซึ่งส่งผลคุกคามสันติสุขในการดำเนินชีวิตของเราทุกคนอย่างยากที่จะหนีพ้น

อัลลอฮฺได้ตรัสถึงความสำคัญของการสั่งเสียในความดีและยับยั้งความชั่วว่า

«وَلْتَكُنْ مِنْكُمْ أُمَّةٌ يَدْعُونَ إِلَى الْخَيْرِ وَيَأْمُرُونَ بِالْمَعْرُوفِ وَيَنْهَوْنَ عَنِ الْمُنْكَرِ وَأُولَئِكَ هُمُ الْمُفْلِحُونَ»

ความว่า และจงให้มีกลุ่มพวกหนึ่งในระหว่างพวกเจ้าที่คอยเรียกร้องเชิญชวนสู่ความดีงาม สั่งเสียให้กระทำความดี และยับยั้งไม่ให้ประพฤติความชั่ว และพวกเขาเหล่านั้นแหล่ะคือผู้ที่ประสบความสำเร็จ (อาล อิมรอน 104)

 

 

ผู้ที่ไม่ประสบความสำเร็จ

นอกจากจะพูดถึงคุณลักษณะแห่งความสำเร็จแล้ว ในทางตรงข้ามอัลกุรอานยังได้ระบุถึงคุณลักษณะของผู้ที่ไม่ประสบความสำเร็จไว้ด้วย ทั้งนี้เพื่อตักเตือนให้มนุษย์ใช้เป็นบทเรียนและระวังตนไม่ให้อยู่ในข่ายของคุณลักษณะเหล่านี้

สิ่งแรกที่เป็นคุณลักษณะของผู้ที่ไม่ประสบความสำเร็จคือการปฏิเสธศรัทธาต่ออัลลอฮฺ การไม่สำนึกต่อบุญคุณของพระองค์ และการเคารพอิบาดะฮฺสิ่งอื่นนอกจากพระองค์ เช่นที่พระองค์ได้ตรัสว่า

«وَمَنْ يَدْعُ مَعَ اللَّهِ إِلَهًا آخَرَ لا بُرْهَانَ لَهُ بِهِ فَإِنَّمَا حِسَابُهُ عِنْدَ رَبِّهِ إِنَّهُ لا يُفْلِحُ الْكَافِرُونَ»

ความว่า และแม้นผู้ใดที่ร้องขอจากสิ่งเคารพอื่นพร้อมกับอัลลอฮฺโดยหาได้มีหลักฐานใดๆ แก่เขาเลยไม่ ดังนั้น แท้จริงการคิดบัญชีเขาย่อมจะเป็นสิทธิของพระผู้อภิบาลเขา แท้จริงแล้วผู้ปฏิเสธศรัทธานั้นจะไม่ประสบความสำเร็จ (อัล-มุอ์มินูน : 117)

«وَأَصْبَحَ الَّذِينَ تَمَنَّوْا مَكَانَهُ بِالأمْسِ يَقُولُونَ وَيْكَأَنَّ اللَّهَ يَبْسُطُ الرِّزْقَ لِمَنْ يَشَاءُ مِنْ عِبَادِهِ وَيَقْدِرُ لَوْلا أَنْ مَنَّ اللَّهُ عَلَيْنَا لَخَسَفَ بِنَا وَيْكَأَنَّهُ لا يُفْلِحُ الْكَافِرُونَ»

ความว่า และแล้วบรรดาผู้ที่หวังจะเป็นเหมือนเขา(หมายถึงปรารถนาจะร่ำรวยเหมือนกับกอรูน)เมื่อวันวานนั้นได้กล่าวว่า โอ้ เจ้าไม่ได้ดูดอกหรือว่าอัลลอฮฺได้ประทานริสกีอย่างกว้างขวางแก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์จากหมู่บ่าวของพระองค์ และทรงกำหนดริสกี(เพียงเล็กน้อยแก่บ่าวคนอื่นๆ ตามความประสงค์ของพระองค์) และหากแม้นไม่ใช่เพราะพระองค์ได้เมตตาเราแล้วไซร้ แน่แท้ พระองค์ก็คงทำให้เราต้องถูกธรณีสูบ(เหมือนกอรูน) เจ้าไม่ได้ดูดอกหรือว่าบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธานั้นไม่ประสบความสำเร็จ’” (อัล-เกาะศ็อศ : 82)

 

ในจำนวนลักษณะของผู้ที่ไม่ประสบความสำเร็จคือ ผู้ที่กล่าวอ้างในสิ่งที่อัลลอฮฺไม่ได้บัญญัติ โดยที่พระองค์ได้ตราการกระทำเช่นนี้ว่าเป็นความอธรรมและการก่ออาชญากรรม ซึ่งทั้งสองประการนี้เข้าข่ายคุณลักษณะของผู้ที่ไม่ประสบความสำเร็จทั้งสิ้น พระองค์ได้ตรัสว่า

«وَمَنْ أَظْلَمُ مِمَّنِ افْتَرَى عَلَى اللَّهِ كَذِبًا أَوْ كَذَّبَ بِآيَاتِهِ إِنَّهُ لا يُفْلِحُ الظَّالِمُونَ»

ความว่า และผู้ใดเล่าที่จะอธรรมมากไปกว่าผู้ที่กล่าวอ้างต่ออัลลอฮฺด้วยความเท็จหรือได้กล่าวโกหก(ไม่ยอมรับ)ต่อโองการของพระองค์ แท้จริงแล้วผู้อธรรมทั้งหลายนั้นไม่ประสบความสำเร็จ (อัล-อันอาม : 21)

« قُلْ إِنَّ الَّذِينَ يَفْتَرُونَ عَلَى اللَّهِ الْكَذِبَ لا يُفْلِحُونَ»

ความว่า จงกล่าวเถิด แท้จริงผู้ที่กล่าวอ้างความเท็จต่ออัลลอฮฺนั้นไม่ประสบความสำเร็จ(ยูนุส : 69)

«وَلا تَقُولُوا لِمَا تَصِفُ أَلْسِنَتُكُمُ الْكَذِبَ هَذَا حَلالٌ وَهَذَا حَرَامٌ لِتَفْتَرُوا عَلَى اللَّهِ الْكَذِبَ إِنَّ الَّذِينَ يَفْتَرُونَ عَلَى اللَّهِ الْكَذِبَ لا يُفْلِحُونَ»

ความว่า และอย่าได้กล่าวในสิ่งที่ลิ้นของพวกเจ้าได้ให้คุณลักษณะอย่างโป้ปดมดเท็จว่าสิ่งนี้อนุมัติและสิ่งนี้ไม่อนุมัติ เพื่อพวกเจ้าจะกล่าวอ้างต่ออัลลอฮฺด้วยความเท็จ แท้จริงบรรดาผู้ที่กล่าวอ้างต่ออัลลอฮฺด้วยความเท็จนั้นไม่ประสบความสำเร็จ (อัน-นะห์ลุ : 166)

«فَمَنْ أَظْلَمُ مِمَّنِ افْتَرَى عَلَى اللَّهِ كَذِبًا أَوْ كَذَّبَ بِآيَاتِهِ إِنَّهُ لا يُفْلِحُ الْمُجْرِمُونَ»

ความว่า ดังนั้นผู้ใดเล่าที่จะอธรรมมากไปกว่าผู้ที่กล่าวอ้างต่ออัลลอฮฺด้วยความเท็จหรือกล่าวโกหก(ไม่ยอมรับ)ต่อโองการของพระองค์ แท้จริงแล้วผู้ก่ออาชญากรรมนั้นจะไม่ประสบความสำเร็จ (ยูนุส : 17)

 

ในขณะเดียวกัน ความอธรรมโดยทั่วไปซึ่งอยู่ในรูปของความผิดบาปก็เป็นคุณลักษณะแห่งความเสียหายอยู่แล้ว อัลลอฮฺได้ตรัสถึงผู้ที่อธรรมว่า

«إِنَّهُ لا يُفْلِحُ الظَّالِمُونَ»

ความว่า แท้จริง ผู้อธรรมทั้งหลายนั้นจะไม่ประสบความสำเร็จ (อัล-อันอาม : 135, ยูสุฟ : 23, อัล-เกาะศ็อศ : 37)

 

ประการที่น่าสนใจอย่างยิ่งที่อัลลอฮฺได้เตือนให้เรารู้ว่าเป็นคุณลักษณะของผู้ที่ไม่ประสบความสำเร็จคือ การเล่นไสยศาสตร์ อันเป็นสิ่งที่แพร่ระบาดในสังคมมนุษย์แม้กระทั่งในยุคปัจจุบันที่เป็นยุคแห่งเทคโนโลยี เราก็ยังพบว่ามนุษย์ยังยึดถือและพึ่งพาสิ่งเหล่านี้ หนำซ้ำเครื่องมือต่างๆ อันทันสมัยในปัจจุบันได้ถูกนำมาใช้เป็นสื่อเผยแพร่ความงมงายและพฤติกรรมที่เลวร้ายเหล่านี้ให้ยิ่งระบาดหนักเข้าไปใหญ่ จนกระทั่งมีการโฆษณาผ่านทีวี อินเตอร์เน็ต ให้บริการผ่านมือถือ ฯลฯ กลายเป็นธุรกิจใหญ่โต (ขออัลลอฮฺทรงปกป้องเราจากความชั่วร้ายเหล่านี้ด้วยเถิด)

อัลลอฮฺได้เล่าถึงเรื่องราวของนบีมูซา อะลัยฮิสสลาม กับนักไสยศาสตร์ในยุคของท่านว่า

«قَالَ مُوسَى أَتَقُولُونَ لِلْحَقِّ لَمَّا جَاءَكُمْ أَسِحْرٌ هَذَا وَلا يُفْلِحُ السَّاحِرُونَ»

ความว่า มูซาได้กล่าวว่า พวกเจ้ากล่าวต่อความสัจจริงที่ได้มายังพวกเจ้าว่าเป็นไสยศาสตร์กระนั้นหรือ? นี่หรือไสยศาสตร์? ทั้งๆ ที่แท้จริงแล้วบรรดานักไสยศาสตร์ทั้งหลายนั้นไม่ประสบความสำเร็จ’” (ยูนุส : 77)

«وَأَلْقِ مَا فِي يَمِينِكَ تَلْقَفْ مَا صَنَعُوا إِنَّمَا صَنَعُوا كَيْدُ سَاحِرٍ وَلا يُفْلِحُ السَّاحِرُ حَيْثُ أَتَى»

ความว่า (โอ้ มูซา)จงขว้างสิ่งที่อยู่ในมือขวาของเจ้า มันจะกลืนกินสิ่งที่พวกเขาสร้างขึ้น แท้จริงสิ่งที่พวกเขาสร้างนั้นเป็นกลแห่งไสยศาสตร์ และนักไสยศาสตร์จะไม่ประสบความสำเร็จในสิ่งที่เขาทำ (ฏอฮา : 69)

 

สรุป

ความสำเร็จในนิยามของพระผู้อภิบาลแห่งสากลจักรวาลผู้ทรงสร้างมนุษย์นั้นมีความหมายที่กว้างขวางและครอบคลุมชีวิตทั้งในโลกนี้และโลกหน้า พระองค์ได้เน้นถึงความสำเร็จอันแท้จริงที่ยิ่งใหญ่นั่นคือความสำเร็จในอาคิเราะฮฺ ในขณะที่ไม่ได้ทรงละเลยสิ่งที่มนุษย์ปรารถนาในรูปของความสำเร็จในโลกนี้เลย ทางนำของพระองค์เป็นสิ่งที่มนุษย์สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการขวนขวายความสำเร็จที่มั่นคงได้ไม่ว่าจะเป็นในระยะสั้นช่วงที่มีชีวิตในโลกหรือในระยะยาวหลังจากที่สิ้นลมหายใจ

โดยภาพรวม คุณลักษณะแห่งความสำเร็จที่อัลลอฮฺได้อธิบายไว้คือการประพฤติตนบนพื้นฐานแห่งตักวาและหมั่นปฏิบัติคุณงามความดี โดยการปฏิบัติตามแนวทางของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม สองประการนี้ครอบคลุมทุกอิริยาบทและกิจกรรมในการดำรงชีวิตของผู้ศรัทธาทุกคน

ส่วนในระดับของรายละเอียดปลีกย่อยนั้น มีบางพฤติกรรมที่อัลลอฮฺได้เน้นว่าเป็นคุณลักษณะพิเศษของผู้ที่จะประสบความสำเร็จ คือ การซิกรุลลอฮฺอย่างสม่ำเสมอในทุกช่วงเวลา การเตาบัตขออภัยโทษจากอัลลอฮฺ การขัดเกลาจิตใจให้ผุดผ่อง และการไม่เป็นคนที่มีความตระหนี่ถี่เหนียว สิ่งเหล่านี้ ถ้าสังเกตดูแล้วจะพบว่ามีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน แยกจากกันแทบจะไม่ได้

นอกจากนี้ ในระดับของความรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวม คุณลักษณะแห่งความสำเร็จที่ขาดเสียไม่ได้คือการทำหน้าที่สั่งเสียและช่วยกันสนับสนุนในความดี พร้อมทั้งยับยั้งและหักห้ามจากความชั่วทั้งหลาย อันเป็นปัจจัยที่จะสร้างให้สังคมอุดมสันติสุขและเป็นฐานแห่งความสำเร็จของมนุษย์ในโลกนี้ก่อนที่จะพบกับความสำเร็จในโลกหน้าด้วยซ้ำไป

อีกด้านหนึ่ง อัลกุรอานได้เตือนให้เรารู้ถึงคุณลักษณะบางประการแห่งความเสียหายใหญ่หลวง เป็นอุปสรรคไม่ให้มนุษย์ประสบความสำเร็จ นั่นก็คือ การปฏิเสธอัลลอฮฺ การกล่าวอ้างความเท็จต่อพระองค์ ซึ่งพระองค์ถือว่าเป็นความอธรรมและถึงระดับการก่ออาชญากรรมเลยทีเดียว และประการสุดท้ายคือการหมกมุ่นและเชื่อในไสยศาสตร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อศรัทธาของมนุษย์และเป็นปฏิปักษ์อย่างชัดแจ้งกับองค์ผู้อภิบาล วัลลอฮุ อะอฺลัม

ถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนควรพิจารณาและใคร่ครวญประการต่างๆ เหล่านี้ เพื่อนำมาใช้ในการดำเนินชีวิตอย่างจริงจัง หากปรารถนาที่จะประสบความสำเร็จตามที่อัลลอฮฺได้สัญญาไว้ และขอให้เชื่อว่าทุกสิ่งที่เป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จเหล่านี้ไม่ได้อยู่นอกเหนือความสามารถของเราเลยแม้แต่น้อย

ขออัลลอฮฺทรงประทานความช่วยเหลือ อามีน

 

Go to the Top