Discuss unhappiness
ผู้ศรัทธา คือผู้ที่เชื่อในพระผู้เป็นเจ้า และดำเนินชีวิตบนเส้นทางที่พระองค์กำหนดไว้ นั่นคือเส้นทางแห่งอิสลาม ซึ่งประกอบด้วยความดีงามต่างๆ มากมาย รวมทั้งมีประโยชน์ที่จะส่งผลดีต่อตัวผู้ศรัทธาเอง
เมื่อใดที่มนุษย์ยอมรับคำสอนของอัลลอฮฺและนำมาปฏิบัติใช้จริงในชีวิต จะทำให้เขารู้สึกมีความสุขสงบจากการได้ปฏิบัติในสิ่งที่อัลลอฮฺสั่งให้ทำ เพราะเขารู้ว่าทุกสิ่งที่อัลลอฮฺสั่งใช้นั้นล้วนมีประโยชน์ต่อตัวเขาเองทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ตัวอย่างเช่น การละหมาดและการกล่าวรำลึกถึงอัลลอฮฺจะทำให้ใจของเขาสงบ การอ่านอัลกุรอานจะทำให้เขามีจิตใจที่แช่มชื่น การถือศีลอดจะทำให้เขาฝึกความอดทน เป็นต้น
จึงถือว่าการทำดีตามที่อัลลอฮฺสั่งนั้น คือต้นเหตุแห่งความสุขของมนุษย์ เช่นที่อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ว่า
مَنْ عَمِلَ صَالِحاً مِّن ذَكَرٍ أَوْ أُنثَى وَهُوَ مُؤْمِنٌ فَلَنُحْيِيَنَّهُ حَيَاةً طَيِّبَةً وَلَنَجْزِيَنَّهُمْ أَجْرَهُم بِأَحْسَنِ مَا كَانُواْ يَعْمَلُونَ (سورة النحل : 97)
“ผู้ใดที่ปฏิบัติความดีทั้งผู้ชายหรือผู้หญิงโดยที่เขาเป็นผู้ศรัทธาแล้วไซร้ แน่แท้เราจะให้เขามีชีวิตที่ดี และเราจะตอบแทนพวกเขาด้วยสิ่งที่ดีที่สุดตามการปฏิบัติความดีของพวกเขา” (อัลกุรอาน สูเราะฮฺ อัน-นะหฺลิ: 97)
ในขณะที่ผู้กระทำความผิดบาปซึ่งบางครั้งเราอาจจะมองเห็นว่าเขามีความสุข แต่อันที่จริงแล้ว ในใจลึกๆ ของเขาจะเต็มไปด้วยความทุกข์ เพราะการทำบาปหมายถึงการฝ่าฝืนคำสั่งห้ามของอัลลอฮฺหรือการทรยศอัลลอฮฺนั่นเอง
มนุษย์จะไม่มีความสุขได้ถ้าหากตัวเองรู้ว่ากำลังทำผิดในขณะที่อัลลอฮฺกำลังดูเขาอยู่และเตรียมบทลงโทษสำหรับบาปของเขาไว้เรียบร้อยแล้ว
ใครก็ตามที่ศรัทธามั่นต่ออัลลอฮฺ จะรู้สึกว่าความผิดบาปนั้นทำให้เขาอึดอัดและอยู่ไม่เป็นสุข เพราะบาปนั้นคือสาเหตุที่อัลลอฮฺอาจจะส่งการลงโทษของพระองค์มายังเขาได้ เช่นที่อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ว่า
أَفَلَمْ يَرَوْا إِلَى مَا بَيْنَ أَيْدِيهِمْ وَمَا خَلْفَهُم مِّنَ السَّمَاءِ وَالْأَرْضِ إِن نَّشَأْ نَخْسِفْ بِهِمُ الْأَرْضَ أَوْ نُسْقِطْ عَلَيْهِمْ كِسَفاً مِّنَ السَّمَاءِ إِنَّ فِي ذَلِكَ لَآيَةً لِّكُلِّ عَبْدٍ مُّنِيبٍ (سورة سبأ : 9)
“หรือพวกเขาไม่เห็นสิ่งที่อยู่ต่อหน้าและข้างหลังพวกเขา ซึ่งมีทั้งฟากฟ้าและแผ่นดิน มาตรแม้นว่าเราประสงค์แล้วไซร้ เราก็จะให้แผ่นดินกลืนพวกเขา หรือเราจะส่งลูกไฟลงมาจากฟ้า แท้จริงสิ่งเหล่านั้นเป็นเครื่องหมายแก่บ่าวทุกคนที่นอบน้อม” (อัลกุรอาน สูเราะฮฺ สะบะอฺ : 9)
ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม จึงได้กล่าวไว้ครั้งหนึ่ง มีความว่า “บาปนั้นคือสิ่งที่ทำให้ขุ่นหมองใจอยู่ในอกท่าน และท่านกลัวว่าคนอื่นจะมาเห็น” (รายงานโดยมุสลิม) จะเห็นได้ว่าบาปคือเหตุและต้นตอของความกังวลใจ ซึ่งมีผลต่อความสงบสุขของจิตใจมนุษย์
การทำบาปและการฝ่าฝืนคำสั่งของอัลลอฮฺนั้นจะส่งผลเสียต่อตัวมนุษย์เอง และสามารถเห็นได้อย่างชัดเจน เช่น การดื่มเหล้าและของมึนเมาจะทำให้มนุษย์เสียสติมีผลเสียต่อระบบสมอง การพนันทำให้มนุษย์สูญเสียทรัพย์สมบัติและส่งผลให้ขี้เกียจทำงานหาเลี้ยงชีพโดยสุจริต การผิดประเวณีทำให้เสี่ยงต่อการติดโรคร้ายและกลายเป็นปัญหาสังคมตามมา เป็นต้น
ดังนั้น เพื่อความสงบสุขของชีวิต มนุษย์จึงต้องดำรงอยู่บนเส้นทางของอัลลอฮฺ ด้วยการหมั่นทำความดีและหลีกเลี่ยงการทำบาปให้มากที่สุด
- ข้อคิดที่ได้รับจากบทเรียน
1. ผู้ศรัทธาที่ปฏิบัติความดีงาม คือผู้ที่สามารถรับรู้ถึงความสงบสุขของจิตใจและมีพลังใจในการดำเนินชีวิตในโลกนี้
2.ความสุขที่แท้จริง คือความสุขที่เกิดขึ้นในจิตใจ จากการที่มนุษย์น้อมรับคำสอนของอัลลอฮฺด้วยความเชื่อมั่นในพระองค์ ไม่ใช่ความสุขทางกายชั่ววูบที่ได้มาจากการทำบาป
3.บาปคือต้นเหตุที่อัลลอฮฺจะส่งบทลงโทษของพระองค์ลงมายังมวลมนุษย์ บทลงโทษของอัลลอฮฺอาจจะอยู่ในรูปแบบต่างๆ เช่นภัยธรรมชาติ ภัยสังคม เป็นต้น
4.เครื่องหมายของความผิดบาปที่อาจจะรู้สึกได้ คือความกังวลใจ ความสับสน และจิตใจที่ไม่สงบนิ่ง
5. เพื่อสร้างความสุขให้กับจิตใจ มนุษย์จึงต้องหันกลับไปพึ่ง อัลลอฮฺ ด้วยการศรัทธา ปฏิบัติความดี ละทิ้งความชั่ว และขออภัยโทษเพื่อชำระล้างบาปทั้งหลายที่ตนได้กระทำ
- คำถามหลังบทเรียน
1. ท่านคิดว่าการทำบาปมีผลเสียต่อมนุษย์อย่างไรบ้าง? กรุณายกตัวอย่าง
2. ท่านคิดว่าอะไรคือความสุขที่แท้จริง? และท่านสามารถมีความสุขที่แท้จริงได้อย่างไร? กรุณาแสดงความคิดเห็น
3. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ว่า การทำบาปจะทำให้มนุษย์รู้สึกไม่สงบในจิตใจ? และควรทำอย่างไรเมื่อรู้สึกเช่นนั้น?